ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บาดแผล “ตากใบ” สิ้นอายุความตามกฎหมาย ไม่หมดอายุทางสังคม

การเมือง
24 ต.ค. 67
15:24
1,172
Logo Thai PBS
บาดแผล “ตากใบ” สิ้นอายุความตามกฎหมาย ไม่หมดอายุทางสังคม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ในที่สุด "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงขอโทษคดีสลายการชุมนุมตากใบ จ.นราธิวาส ครบ 20 ปี และจะหมดอายุความวันพรุ่งนี้ ( 25 ต.ค.2567) และชี้แจงว่า เพิ่งได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางดำเนินการทางกฎหมายเพิ่มเติม โดยเฉพาะการขยายอายุความว่า ไม่สามารถออกพระราชกำหนดเพื่อขยายอายุความได้ เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์และอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ

บนเส้นทางทอดยาวผ่านมา คดีนี้แม้ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่การออกมาให้คำตอบในวันสุดท้าย หลังถูกทุกฝ่ายทวงถามถึงความยุติธรรม ตอกย้ำให้เห็นชัดว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีแนวทาง หรือนโยบายชัดเจนในการดับไฟใต้แม้แต่น้อย

การตัดไฟ โดยการยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยและสส.บัญชีรายชื่อของ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี” เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา จะสามารถดับควันที่ฟุ้งกระจาย เหนือท้องฟ้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือ

แม้ก่อนหน้านี้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.กลาโหม จะอ้างว่า ภาพการไปบุกค้นบ้าน พล.อ.พิศาล ที่ จ.สงขลาและผู้เกี่ยวข้อง เป็นไปตามกระบวนการ และหน้าที่ของเรา คือ การหาตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรรม ในขณะที่หนังสือลาออกของพล.อ.พิศาล ระบุเพียง จะกลับมาเมื่อ อาการทุเลา โดยไม่ได้บอกเวลา และไม่ทราบว่า จะกลับมาเมื่อไหร่

ยิ่งสะท้อนให้เห็น ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เอาตัวผู้กระทำผิดจำนวน 14 คนมารับโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถทำได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 20 ปีแล้วก็ตาม

ผศ.ดร.อันวาร์ กอมะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิเคราะห์ว่า แม้คดีตากใบจะหมดอายุความ วันพรุ่งนี้ (25 ต.ค.2567) ถือเป็นการสิ้นสุดอายุความตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า อายุความทางสังคมจะจบตามไปด้วย อดีตเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 14 คน ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเหยื่อ 84 คน จะยังตกเป็นจำเลยของสังคมต่อไป ตราบเท่าที่คดีตากใบยังถูกกล่าวถึงและยังดำรงอยู่ ดังนั้น สิ่งรัฐบาลควรจะทำมากกว่านี้ คือ การออก พ.ร.ก.ขยายอายุความคดีตากใบ เพื่อรอการจับกุมจำเลยให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“นอกจากนี้ อยากให้จำเลยทั้ง 14 คนออกมาขอโทษอย่างจริงใจ กับเหตุการณ์ในอดีต เพราะเอาเข้าจริง ๆ การฟ้องของชาวบ้านและครอบครัวผู้สูญเสียในคดีตากใบ อาจไม่ได้ต้องการเอาเป็นเอาตาย แต่แค่ต้องการคำขอโทษจากผู้กระทำการ ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา คนมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกให้ภาพเสมือนเป็นผู้ก่อความรุนแรง ตรงนี้จะเป็นโอกาสที่พยายามจะชี้ให้เห็นว่า เขาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากหน่วยงานรัฐ”อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าว

ในฐานะนักวิชาการ ในพื้นที่ ผศ.ดร.อันวาร์ บอกว่า ในการดำเนินคดีดังกล่าว ชาวบ้านก็ไม่ต้องการเอาเป็นเอาตาย แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบจากเหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ เมื่อปี 2547 โดยการออกมาขอโทษจากผู้ใหญ่ของรัฐที่ได้คร่าชีวิตคนในครอบครัวของเขา แม้การขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว จะเคยเกิดขึ้นในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 มาแล้วก็จริง และต่อมาได้มีการเยียวยาให้ครอบครัวผู้สูญเสียในรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เชื่อว่า เรื่องเยียวยาไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะจบลงไปแล้ว

“อยากพูดถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง เมื่อปี 2547 เพราะการขอโทษของ พล.อ.สุรยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ขณะนั้น ทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เป็นคนละความรู้สึกกับสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ คือ คำขอโทษของผู้สั่งการและรัฐบาลในขณะนั้น โดยเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ หรือหมายถึง บุคคลที่อยู่ในคดีความ ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในวันพรุ่งนี้มากกว่า”

สำหรับในความรู้สึกของชาวบ้าน คือ คำขอโทษจากหัวหน้ารัฐบาลยุคหนึ่ง ต่างจากคำขอโทษของรัฐบาลที่เป็นผู้กระทำการณ์ในขณะนั้น ซึ่งแตกต่างกัน ดังนั้นครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงอยากจะจี้ลงไปที่ผู้กระทำการมากกว่าเป็นรายบุคคล

เรื่องนี้ แม้อายุความจะหมดลง แต่ทั้ง 14 คน ก็ควรออกมาขอโทษ และเชื่อว่า พี่น้องชาวมลายูอยากจะให้อภัย เพราะประเด็นนี้จะเป็นมาตรการทางสังคมที่เราสามารถจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ ครั้งหนึ่งอาจจะทำผิดไปแล้ว ก็ต้องออกมาขอโทษ เชื่อว่าคนมลายูสามารถที่จะให้อภัยเพื่อเดินหน้าต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.อันวาร์ มองว่า แต่กลุ่มคนทั้ง 14 ที่เป็นจำเลย หนีหายไปเลย โดยไม่มีคำขอโทษใด ๆ ออกมา จะเป็นการตอกย้ำว่า วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลจะยังดำเนินต่อไปในอนาคต และไม่สามารถรับประกันว่า การใช้ความรุนแรงจะหมดลง กล่าวคือ ภาครัฐจะไม่ใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้กับผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

และหากยังปล่อยให้วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเกิดขึ้น เชื่อว่า เรื่องนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ความขัดแย้ง และความรุนแรงดำ เนินต่อไป โดยภาครัฐอาจไม่สามารถบรรลุถึงยุทธศาสตร์ชาติ การ พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2570 ได้ หากยังปล่อยผ่านให้คดีตากใบ ต้องจบลงเช่นนี้

สำหรับทางออกของรัฐบาลแพทองธาร เคยมีการข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นต่ออายุ พ.ร.ก.เพื่อมิให้คดีตากใบหมดอายุความ หรือการหากลไกอื่น ๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมผ่านระบบยุติธรรมภายในประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี ควรหามาตรการเพื่อให้ความเป็นธรรมและให้จบลงภายระบบยุติธรรม ภายในประเทศ ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้นานาชาติ มองว่า ระบบยุติธรรมไทย ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อที่ได้รับความรุนแรงโดยรัฐได้เลย

อ่านข่าว

เส้นทางชีวิต "พล.อ.พิศาล" บนความยุติธรรม คดีสลายชุมนุมตากใบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง