คนกู้บ้าน ยิ้มรับกนง.ช่วยลดดอกเบี้ย ยังต้องเฝ้าระวัง "หนี้ครัวเรือน"

เศรษฐกิจ
17 ต.ค. 67
17:37
191
Logo Thai PBS
คนกู้บ้าน ยิ้มรับกนง.ช่วยลดดอกเบี้ย  ยังต้องเฝ้าระวัง "หนี้ครัวเรือน"

คนกู้บ้านยิ้ม กนง. ลดดอกเบี้ยรอบ 4 ปี 0.25% หลังแบกหนี้หลังแอ่นมานาน ศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้ โอกาสสูงดอกเบี้ยดั้มลงอีก ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า เหตุหนี้ครัวเรือนยังสูง

นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับ คนกู้บ้านยิ้ม หลังแบกหนี้หลังแอ่นมานานกับสินเชื่อดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยที่สูงลิ่วมาหลายปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัว MRR ซึ่งเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยอยู่ที่ 8.05% ต่อปี โดยมีอัตราต่ำสุดที่ 7.3% ต่อปี และอัตราสูงสุดที่ 10.15% ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาหลายธนาคารมีการลอยตัวอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหมายความว่า ถ้าMRR ขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะขึ้นตาม ยอดในการผ่อนชำระแม้จะไม่เพิ่มขึ้นแต่ยอดหักเงินต้นจะลดลงและจะไปเพิ่มในส่วนของดอกเบี้ยแทน

ต่างกับดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราต่ำพิเศษ ประมาณ 3 ปีแรกแล้ว ซึ่งแม้ว่าMRR จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ทำไว้จะไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนหากดอกเบี้ย MRR ลด 0.25% จะได้ลดดอกเบี้ยเท่าไรนั้น ยกตัวอย่างหากกู้เงินมา 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยลดลง 0.25% ต่อปี คิดแบบคร่าวๆจะได้ลดดอกเบี้ยลง 2,500 บาทต่อปี

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมครั้งที่ 5/2567 ซึ่ง กนง. ประเมินว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้

โดยกนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ในปี 2567 และ 2.9% ในปี 2568 โตต่อเนื่องจาก 1.9% เมื่อปี 2566 จากแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึง SMEs ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.5% และ 1.2% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากภาวะอากาศแปรปรวน ขณะที่ผลของฐานต่ำในปีก่อนจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% และ 0.9% ตามลำดับ

ลุ้น กนง.จ่อลดดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอนาคต ซึ่ง สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ที่คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 1.0% (เทียบกับ 1.2% ใน 1/67) ตามด้วยแรงส่งที่แผ่วลงต่อเนื่องสู่ 0.6% ในปี 2568 ปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกในปีหน้า ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีรวมถึงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2568 ที่ 1.2% ยังต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความไม่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงิน (Financial conditions) จาก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะเฟดซึ่ง อยู่ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะค่าเงินบาท ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และ เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง. คาด มองไปข้างหน้า ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการวิเคราะห์ครัวเรือนไทยชะลอลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ในขณะที่ไตรมาส 2/2567 เติบโตเพียง 1.3% นับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ย้อนหลังได้ถึงปี 2546 ซึ่งสะท้อนจาก 4 ได้แก่ หนี้รถทยอยหดตัว สินเชื่อบ้านโตช้า แต่หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโต และหนี้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่แบงก์และ SFIs ทยอยเพิ่มสูงขึ้น

เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น"หนี้ครัวเรือน"ขยายตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หนี้ครัวเรือนไทยอาจเติบโตต่ำกว่า 1.0% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้าซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2567 ลงมาที่กรอบ 88.5-89.5%

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ครัวเรือนในแต่ละกลุ่มระดับรายได้มีความสามารถในการรับมือกับภาระหนี้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในภาพใหญ่ของทั้งประเทศ จึงไม่อาจสะท้อนว่า ภาระหนี้สินและปัญหาการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามในทันที

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามความคิดเห็นประชาชนถึงการประกาศลดดอกเบี้ย ลง0.25% ถึงประโยชน์ที่ได้รับ ว่า เป็นข่าวดีสำหรับคนที่กำลังมีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย และ ผู้ที่มีกู้ซื้อบ้านไปแล้ว รวมถึงคนที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถานบันการเงิน ที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลงแม้ว่าจะไม่มากแต่ก็ยังดีที่ช่วยแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระต่อเดือนลงได้บ้าง

 อ่านข่าว:

ส่องค่าใช้จ่าย “คนไทย” เปย์ อะไร ? มากที่สุดในแต่ละเดือน

"ขุนคลัง" ชี้ลดดอกเบี้ย 0.25% ลดภาระประชาชน

กนง. มติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง