ยังไปไกลถึงขั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย รองอัยการ ตำรวจ และทหารยศนายพันเข้ามาเกี่ยวข้อง เกิดประเด็นคำถามเรื่องคุณธรรมของข้าราชการ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีทนายความ นักร้องเรียน และนักการเมืองเพิ่มเข้ามาด้วย
แต่ไม่ใช่ในฐานะลูกข่ายหรือผู้เสียหาย กลับในฐานะนักตบทรัพย์ เรียกรับเงินจากดิไอคอนกรุ๊ป เพื่อคอยปัดเป่าหรือเคลียร์คดีให้ ดังที่ “บอสพอล” นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป เปิดเผยผ่านรายการคุยข่าวชื่อดัง
ระบุชัด สูบเงินเป็นรายเดือน ดังที่ปรากฏในคลิปเสียงที่ถูกนำไปเปิดในรายการ ตกเดือนละ 1 แสน แต่ยังไม่พอสำหรับ “นักตบทรัพย์” ที่บอกว่า ต้องจ่ายให้เขามากกว่านี้แลกกับการดูแล ตั้งแต่ปี 2565 จากนั้นยอมจ่ายเรื่อยมา โดยให้เหตุผล ไม่อยากให้การทำธุรกิจของเขาสะดุดหรือมีปัญหา
แม้จะไม่ยอมเปิดปากในรายการว่าเป็นใคร แต่ยอมรับว่า ตนเป็นหนึ่งในคลิปเสียงดังกล่าว หักล้างกับฝ่ายการเมือง ที่มักจะอ้างใช้เอไอทำเสียงให้เหมือน เท่ากับเป็นการสนทนาของคนจริง
โดยเทคนิคแล้ว การบันทึกเสียงสนทนาแบบได้ยินทั้ง 2 ฝ่าย หากไม่ใช้เครื่องมือดักฟังโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากทำก็อาจจะโดนข้อหาดักฟังเสียงโทรศัพท์ผิดประกาศ คปค.ฉบับที่ 21 ดังที่นายไพบูลน์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เคยอ้างมาแล้ว ก็ต้องเป็นการกดบันทึกเสียงของคนใดคนหนึ่งที่เป็นคู่สนทนาเท่านั้น หากเป็นบุคคลที่ 3 แอบบันทึก จะได้ยินเสียงของคนคนเดียวเท่านั้น
กรณีเช่นนี้ นักตบทรัพย์ไม่น่าจะบันทึกเสียงที่จะเป็นหลักฐานมัดตนเองได้ แต่อาจเป็นไปได้ ฝ่ายที่ถูกเรียกตบทรัพย์จะแอบบันทึกไว้ อย่างที่นายเดชา กิตติวิทยนันทน์ ทนายความชื่อดังให้ความเห็นไว้ อาจจะเพื่อรับมือกับฝ่ายแบล็คเมล์เรียกตบทรัพย์หาก “เรื่องแดง” ขึ้นมา หรือถูกเรียกตบทรัพย์ไม่จบไม่สิ้น ทำนอง “รู้เท่ากัน” หรือ “กันดีกว่าแก้”
แต่สำหรับคนวงใน หรือคอการเมืองพันธุ์แท้ ติดตามข่าวสารการเมืองบ่อย ๆ พอได้ยินเสียงคลิปสนทนาดังกล่าว ต้องร้องอ๋อ และมีภาพหน้าของนักการเมืองบางคนมาลอยเด่นอยู่ตรงหน้าก็มี
นำไปสู่ข้อเสนอให้พิสูจน์หาความจริง โดยนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในซีกสนับสนุนรัฐบาล พร้อมเสนอให้กรรมาธิการกิจการสภาฯ รับเรื่องนี้ไปตรวจสอบ เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของรัฐสภา และการทำหน้าที่กรรมาธิการโดยตรง เพื่อให้เกิดความสบายใจกับผู้เสียหายทุกคน
ไม่ต่างจากนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนฯ ได้สั่งให้สภาฯ สอบคลิปเสียง กมธ.เรียกรับทรัพย์ผู้บริหาร “ดิไอคอนกรุ๊ป” โดยเร่งด่วน ระบุมีความผิดโทษทางอาญา เรื่องแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์
จึงเป็นประเด็นที่ผู้คนโดยทั่วไป สนับสนุนให้พิสูจน์หาความจริงให้ปรากฏ เพราะอย่างที่นายวันนอร์ แจงไว้ว่า เกิดขึ้นบ่อย กระทบต่อภาพพจน์สภาฯ ขณะที่กรรมาธิการชุดต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งของคนที่ได้รับแต่งตั้งเป็น กมธ. มักจะใช้ตำแหน่งไปเรียกรับผลประโยชน์ หรือตบทรัพย์ข่มขู่ บุคคลหรือธุรกิจที่ถูกร้องเรียน หรือปรากฏในข่าว เช่น กรณีของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกคนในกรรมาธิการงบปี 2564 และเป็น สส.จากพรรคการเมืองใหญ่ เรียกรับเงิน 5 ล้านบาท แลกกับการไม่ถูกตัดโครงการ ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อปลายเดือนเมษายน ปี 2566
แต่แปลกที่นักการเมือง ก็ยังไม่เข็ดขยาด ไม่ต่างจากนักร้องเรียนชื่อดังระดับแถวหน้าเรียกรับเงิน 1.5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมการข้าว แลกกับการไม่ร้องเรียนเรื่องให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล หรือกลั่นแกล้งให้ถูกตรวจสอบ จนถูกเจ้าหน้าที่บุกรวบตัวพร้อมเงินของกลางคาบ้านพัก
แต่ยังคงมีชื่อนักร้องเรียนคนอื่น และบางคน ถูกกล่าวหาเรียกตบทรัพย์แลกกับการงดร้องเรียนเรื่อง กระทั่งถึงกรณีดิไอคอนกรุ๊ป
ความจริง กรณีดิไอคอนกรุ๊ปก็มีเรื่องชวนสงสัยในความโปร่งใสตรงไปตรงมา ตั้งแต่มีการร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการผู้บริโภค หรือ สคบ.ตั้งแต่ปี 2561 ให้ตรวจสอบการทำธุรกิจว่าเข้าข่ายทำธุรกิจขายตรง หรือเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หลังได้ข้อสรุป เลขาธิการ สคบ.ทำหนังสือ 3 ฉบับ ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผบ.ตร. และคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แต่เรื่องก็เงียบ
กระทั่งปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อ มีดาราเซเลบได้รับแต่งตั้งเป็นบอสมากมาย มีแคมเปญ “ยั่วให้รวย” ออกมาต่อเนื่อง โดยดาราและคนดังช่วยโปรโมท กระทั่งฝีแตก ผู้คนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า จึงค่อยตื่นตัวกันอีกครั้ง
พร้อมกับเรื่องซ้ำซาก คือนักการเมืองและคนใน กมธ. เข้าไปร่วมวงตบทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน แทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องประชาชนอย่างที่ชอบอ้าง
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : "แพทองธาร-อังคณา" จี้สอบนักการเมืองรับเงิน "ดิไอคอน"