ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลบ ไม่เลือน 20 ปี ตากใบ

ภูมิภาค
13 ต.ค. 67
17:39
1,025
Logo Thai PBS
ลบ ไม่เลือน 20 ปี ตากใบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นิทรรศการ “ ลบ ไม่เลือน 20 ปี ตากใบ”เพื่อระลึกถึงคนรักที่จากไป หลังการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่อุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ค อ.เมืองนราธิวาส

อ่านข่าว : จับกระแสการเมือง: วันที่ 11 ต.ค.2567 ไล่บี้รัฐบาลตาม 9 ผู้ต้องหารับโทษ ทสท. หวั่นคดีตากใบ น้ำผึ้งหยดเดียว 

วานนี้ (12 ต.ค.67) ครอบครัวผู้สูญเสียมาร้อยปักภาพจำ ร่วมกันอีกครั้งลงบนผืนผ้า และแลกเปลี่ยนความทรงจำที่เปราะบาง เพราะนับถอยหลังเหลือเวลาอีก 13 วันคดีตากใบก็จะหมดอายุความ ท่ามกลางความคาดหวังของครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อยากให้ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เข้ามามอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นางสีตีรอยะ สาและ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นยังคงจดจำฝันร้ายได้อย่างแจ่มชัด เพราะเป็นวันที่เธอต้องสูญเสียเสียสามี คือ นายมาหะมะ เล๊าะบากอ อย่างไม่มีวันกลับ หลังการสลายการชุมนุม ผ่านมาเกือบ 20 ปี ภาระในการดูแลลูก ให้ได้เรียนหนังสือ และลูกที่ป่วยติดเตียง จึงเป็นสิ่งที่เธอต้องแบกรับเพียงลำพัง

"ตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้ ถ้าพวกเขาไม่มามามอบตัว เราได้แต่เพียงดูอาร์ให้อัลเลาะห์ช่วย เพราะเราไม่อยากให้ลูกหลานของเราที่กำลังโตขึ้นมา ต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้” นางสีตีรอยะ สาและ สะท้อนความรู้สึก

การถ่ายทอดความทรงจำของผู้คนที่มีต่อคนที่รักจากเหตุการณ์ตากใบ โดยเล่าผ่านวัตถุความทรงจำง่าย ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “ลบ ไม่เลือน 20 ปี ตากใบ

อย่างแก้วน้ำของพ่อ ซึ่งลูกสาวจำได้ว่า ทุกเช้าแม่จะตื่นมาต้มน้ำร้อนแล้วชงน้ำชาให้พ่อกิน ก่อนไปทำงานที่สวน หลังพ่อจากไปก็ถูกเก็บไว้ในตู้ ไม่ได้นำมาใช้อีกเลย 20 ปีซึ่งเป็นการเก็บความทรงจำชีวิตที่เหลือของพ่อ

หรือ เรื่องเล่าของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด คือ อิมรอน อายุ 16 ปี ซึ่งยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา โดยได้ออกไปซื้อเสื้อมาใส่ในฮารีรายอตัวใหม่ แต่ก็จากไปจากการสลายการชุมนุม โดยไม่ได้ใส่ชุดที่ซื้อมา และในกระเป๋าขณะพบศพ ก็ยังมีธนบัตร 100 บาท ที่มีรอยเปื้อนเลือดอยู่

การจัดนิทรรศการนี้ เราไม่ได้ต้องการส่งต่อความรุนแรง ไม่ได้ต้องการส่งต่อความรู้สึกในเชิงลบ แต่กำลังจะสื่อสารว่า ผู้คนเขาดำรงชีวิตอยู่ผ่านการต่อสู้ หยัดยืน ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่กำลังถูกตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้ และจะยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอย่างไร” น.ส.วลัย บุปผา ภัณฑารักษ์ คณะทำงานพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ The Deep South Museum and Archives กล่าว

ขณะที่การติดตามผู้ที่ถูกออกหมายจับ แม้ก่อนหน้านี้ จะมีรายงานว่า มีการประสานเพื่อขอให้องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล ออกหมายแดงกับ พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ได้ออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษ โดยให้เหตุผลในการลาสภาผู้แทนราษฎร์ว่า ไปรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน และในเว็บไซต์ของอินเตอร์โพล ก็ยังไม่ปรากฏ

ส่วนนายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเลยที่ 8 พบว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโดยปกติแล้วญี่ปุ่น ไม่ต้องขอวีซ่า แต่สามารถใช้วีซ่านักท่องเที่ยวได้ 15 วัน ซึ่งขณะนี้เลยกำหนดมาแล้ว แต่ยังไม่มีหลักฐานการเดินทางกลับไทย จึงยังไม่ชัดเจนว่า ยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นแบบเกินระยะวีซ่า หรือ เดินทางไปอีกประเทศแล้ว

ขณะที่การติดตามบุคคลอื่น ๆ ในประเทศ ทั้งการนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสที่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ พ.ท.ประเสริฐ มัทมิด ที่ จ.ชุมพร ผู้ควบคุมขบวนรถ ก็ล้วนไม่พบตัว

"อยากให้รัฐ จริงใจในการติดตามตามตัวและเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระหว่างประเทศ และในประเทศ หรือ ผู้ที่ให้ที่พักพิง รัฐไม่ควรเลือกปฎิบัติ เพราะประชาชนในสามจังหวัด แค่เป็นแค่ผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ ก็เร่งรีบ ควบคุมตัว แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดนี้ เป็นบุคลากรของรัฐ บางคนยังรับราชการอยู่ ก็ขอให้ดำเนินการ” น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดอีกครั้ง หลังได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 คนไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าว ThaiPBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ : เรียบเรียง

อ่านข่าว : ส่องเบื้องลึก “คดีตากใบ” ปริศนา “ดองสำนวน” 19 ปี  

เส้นทางชีวิต "พล.อ.พิศาล" บนความยุติธรรม คดีสลายชุมนุมตากใบ 

“ค่าของคน” ต่างกัน 20 ปี “ตากใบ” จ่อหมดอายุความ 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง