ย้อนคดีดังเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่" หรือ "ชวนลงทุน"

อาชญากรรม
11 ต.ค. 67
19:52
994
Logo Thai PBS
ย้อนคดีดังเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่" หรือ "ชวนลงทุน"
ธุรกิจที่เข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” และกลายเป็นคดีดังในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” มีให้เห็นมาตั้งแต่ 40 ปี ที่แล้ว อย่างคดีแชร์แม่ชม้อย ที่พบมูลค่าความเสียหายกว่า 4 พัน ล้านบาท / และพัฒนารูปแบบ เพื่ออุดช่องหว่างกฎหมาย ผ่านรูปแบบธุรกิจให้มีความก้ำกึ่งกับการ “ขายตรง”

คดีแชร์แม่ชม้อย เมื่อปี 2538 เป็นคดีที่ทำให้คนทั่วไป รู้จักกลลวงและการฉ้อโกงประชาชน ที่ต่อมาถูกระบุว่าเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่" มีผู้เสียหายมากกว่า 16,000 คน ความเสียหายสูงกว่า 4,000 ล้านบาท โดยมีนางชม้อย ทิพย์โส ในปี 2528 เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ 

"แชร์แม่ชม้อย" สร้างความเสียหายกว่า 4 พันล้าน

โมเดลธุรกิจกลลวงของนางชม้อย คือ จัดตั้งบริษัทค้าน้ำมัน และชักชวนแบบปากต่อปาก ให้คนที่สนใจ มาลงขันแบบกู้ยืม โดยอ้างให้ผลตอบแทนสูงเป็นรายเดือน มีนายทหารระดับสูง ถูกอ้างเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ แต่พฤติการณ์จริง

กลับพบว่า ไม่ได้ประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ใช้วิธีนำเงินต้นและดอกเบี้ย ทยอยหมุนเวียน จ่ายเป็นผลตอบแทน ในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อเดือน จนกระทั่งไปต่อไม่ไหว คดีนี้ทำให้เกิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มีผลใช้บังคับในปี 2527

"ยูฟัน"ใช้ "ยูโทเคน" หลอกคนกว่า 2.4 พันคน

ปี 2558 ตำรวจเข้าตรวจค้นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ถูกบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด อ้างว่า ได้ทำสัญญาผลิต และซื้อขายสินค้า แต่ผลการตรวจค้น กลับพบว่า ไม่ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง ยิ่งชัดเจนว่า การยื่นขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงของ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด กับ สคบ. เมื่อปี 2556 เพื่อการจำหน่าย เครื่องดื่ม 2 รายการ และเครื่องสำอาง 1 รายการ ไม่ได้มีสินค้าจริง นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของไลน์ธุรกิจ ทั้งหมด

ผลการสืบสวนในคดีนี้ตำรวจ พบรูปแบบธุรกิจของ "ยูฟัน" ไม่ได้มุ่งทำกำไรจากสินค้า เหมือนธุรกิจขายตรงทั่วไป แต่กลับใช้ระบบการซื้อขายออนไลน์ ที่บริษัทอ้างว่า เป็นธุรกิจแบบ อี คอมเมิร์ซ และสร้างคูปองดิจิทัลเข้ามา เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดคนลงทุน

พัฒนาการกลลวงจากคดีนี้ ยังเห็นการลงทุนสร้างแพลตฟอร์ม เว็บไซต์หน้าร้าน และใช้สิ่งที่เรียกว่า “ยูโทเคน” แบ่งระดับ เพื่อแลกกับการได้คะแนนส่วนลด ผู้เสียหายจำนวนหนึ่งบอกว่า การสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านเอกสารการจดทะเบียน ระบบเว็บไซต์ สกุลเงินดิจิทัล ทำให้คดีนี้มีผู้หลงเชื่อกว่า 2,400 คน

จุดสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมในคดียูฟัน ศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกแม่ข่ายกับพวกรวม 5 คน คนละ 20 ปี ยกฟ้อง 11 คน ส่วนจำเลยที่เหลือ สั่งชดใช้เงิน 356 ล้านบาท ให้กับผู้เสียหาย ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และ ปปง.ตามยึดทรัพย์ เพื่อทยอยคืนให้ผู้เสียหาย

"Forex3D" ใช้โมเดล เทรดเดอร์ หลอกคน

อีกคดีที่ฮือฮา เพราะมีดารา นักแสดง บุคคลมีชื่อเสียง เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ โฟร์เล็กซ์ ทรีดี, กรณีนี้ ใช้โมเดล “เทรดเดอร์” ซึ่งมีอยู่จริง มาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อซื้อขาย หรือ เทรดเงินตราต่างประเทศ และรับประกันเงินลงทุนตามสัญญา ซึ่งการเห็นอัตราการขึ้นลงของกำไร ผ่านหน้าจอแบบเรียลไทม์ ยิ่งสนับสนุนให้เกิดความน่าเชื่อถือ

นอกจากเงื่อนไขการเบิกถอนเงินลงทุน และกำไรจากการเทรนด์แล้ว ยังพบว่า ผู้ลงทุนจะได้รับค่าแนะนำ หากชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุน คดีนี้สร้างความเสียหาย มากกว่า 2 ,400 ล้านบาท ประเมินจากจำนวนผู้เสียหายกว่า 9,000 คน แม้รูปแบบ แต่ละคดี จะแตกต่างกันออกไป แต่ตำรวจบอกว่า มักจะมีจุดร่วมที่จับสังเกตได้ ทั้งนี้ กรณีคดี Forex3D ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้ได้

ทีมข่าวสืบสวน ไทยพีบีเอส รายงาน

 "Charles Ponzi" บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่ 

"บอสพอล" โพสต์ปมธุรกิจขายตรง-ลั่นไม่หนีพร้อม “มอบตัวตร.”  

โอกาส-รายได้-ความเสี่ยง ? เรื่องจริงที่ต้องรู้ก่อนเข้าทีม "ขายตรง" 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง