วันนี้ ( 8 ต.ค.2567) นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นทางน้ำผ่านและภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี กรมฯได้ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและนายตรวจชั่งตวงวัด
โดยตรวจสอบผู้ประกอบการโรงสีและท่าข้าวในพื้นที่เพาะปลูกที่ เพื่อดูแลไม่ให้มีการกดราคารับซื้อข้าวเปลือก หรือหักลดน้ำหนักความชื้นและสิ่งเจือปนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และให้มีการแสดงราคารับซื้ออย่างชัดเจน เปิดเผย ไม่คิดค่าชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกที่รับซื้อ รวมทั้งใช้เครื่องชั่งและเครื่องวัดความชื้นที่ผ่านคำรับรองถูกต้องตามกฎหมาย
เพื่อป้องไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ ข้าวจากเกษตรกรเพราะปัจจุบันอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกที่กำลังออกสู่ตลาด จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
จากการตรวจสอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากผู้ประกอบการรับซื้อ พบว่า ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ราคา 9,300-9,800 บาท/ตัน ข้าวเกี่ยวสด ความชื้น 25% ราคา 8,300–8,800 บาท/ตัน บางพื้นที่ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ราคาปรับลดตามคุณภาพความชื้น เนื่องจากเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนกำหนด ประกอบกับมีผลตกชุกในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา พบผู้ประกอบการใช้เครื่องวัดความชื้นคำรับรองสิ้นอายุ จำนวน 1 ราย นายตรวจชั่งตวงวัดได้จับกุมส่งพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการตาม มาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542
เตือนให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือก ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการกดราคารับซื้อ ต้องระวางโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นานอุดมกล่าวอีกว่า กรณีไม่แสดงราคารับซื้อตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับซื้อ หรือมีการคิดค่าชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกที่รับซื้อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กรณีรับซื้อข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตามพ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2489
ส่วนกรณีใช้เครื่องชั่งตวงวัด ที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองหรือคำรับรองสิ้นอายุในการซื้อขายสินค้า ต้องระวางโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีโกงเครื่องชั่งหรือใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่มีการดัดแปลงแก้ไข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท ตามพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542
อ่านข่าว:
SME ชี้ไม่ได้รับอานิสงส์แจกเงินหมื่น - ชง "คนละครึ่งภาคแรงงาน"