กทม.แจ้งปิดสะพานเกษะโกมล ตั้งแต่ 6-11 ต.ค.2567 หรือจนกว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ ผลจากถนนทรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่
อาจจะเป็นข่าวเล็ก ๆ หรือเพียงแค่แจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯได้ทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจร
แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป จะพบเห็นประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นที่น่าศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องราวความสำคัญและความเป็นมาของสะพานเกษะโกมล และ ถ.อำนวยสงคราม ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต จากเหตุการณ์สำคัญ
สะพานเกษะโกมล คือปลายสุดของถนนอำนวยสงครามตัดกับถนนพระราม 5 เชื่อมต่อกับถนนเศรษฐสิริ ในเขตดุสิต กรุงเทพฯ
ถนนอำนวยสงครามตัดตรงมาจากบางกระบือ ตั้งขึ้นตามชื่อของหลวงอำนวยสงคราม ซึ่งเคยมีบ้านพักอยู่ริมถนนสายนี้ เมื่อปี 2476 หลังเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 “สะพานเกษะโกมล” ที่อยู่ปลายทางสุดของถนน ก็มาจากนามสกุลของ “หลวงอำนวยสงคราม”
จากข้อเขียนของ ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า หลวงอำนวยสงคราม เป็นนายทหารคนหนึ่งของฝ่ายรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ปราบปรามกบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2476
ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หลวงอำนวยสงครามได้ร่วมเป็นผู้ก่อการฯ ด้วย ในสายทหารบกที่มี พ.อ.พระยาพหลฯ เป็นผู้นำ เนื่องจากเป็นเพื่อนสนิทของนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เริ่มคิดการเปลี่ยนแปลงกลุ่มแรก
ภายหลัง เมื่อรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในเดือนเมษายน ปี 2476 ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง หลวงอำนวยสงคราม ได้ร่วมกับคณะทหารที่นำโดยพระยาพหลฯ มีหลวงพิบูลฯกับ หลวงศุภชลาศัยเป็นผู้ช่วย ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 มิ.ย.ล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์และเปิดสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นแตกหัก พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ได้เป็นหัวหน้านำกำลังทหารหัวเมืองบุกเข้าพระนคร และยื่นคำขาดให้รัฐบาลของพระยาหพลฯ ลาออก แต่รัฐบาลประกาศสู้ ตั้งนายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับกองกำลังผสมนำทหารฝ่ายรัฐบาลปราบกบฎ จึงกลายเป็นสงครามกลางเมืองของไทยครั้งแรก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ
พันโทหลวงอำนวยสงคราม เสียชีวิตจากการปะทะกันในวันที่ 14 ตุลาคม 2476 ที่ทุ่งบางเขน พร้อมทหารฝ่ายรัฐบาลอีก 16 นาย รัฐบาลจึงสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ทุ่งบางเขน กลางวงเวียนหลักสี่ ตั้งชื่อว่าอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา เรียกว่าอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และ ถ.อำนวยสงคราม รวมทั้ง สะพานเกษะโกมล จึงมีนัยสะท้อนและสอดแทรกเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อยู่ในที
วันนี้ สะพานเกษะโกมล ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 90 ปี จึงถึงเวลาต้องปิดซ่อมอีกครั้งตามกาลเวลา
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงษ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : รพ.สุโขทัย เร่งป้องกันน้ำท่วม หลังคลองแม่ลำพันน้ำล้นตลิ่ง
พังตั้งแต่ 26 ก.ย "ฝายบ้านดอยน้อย" พบขยะ-ประตูสลิงขาด
สทนช.เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-นนทบุรี รับมือน้ำเพิ่ม-ไม่กระทบ กทม.