ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สูงวัยกินเจ" เน้นอาหารหลากหลาย ปรุงสุก เลี่ยงแปรรูป

สังคม
7 ต.ค. 67
14:43
342
Logo Thai PBS
"สูงวัยกินเจ" เน้นอาหารหลากหลาย ปรุงสุก เลี่ยงแปรรูป
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.ชี้ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารครบถ้วน เน้นปรุงสุกจากการต้ม นึ่ง ยำ อบ ตุ๋น หรือลวก หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เลือกอาหารที่หลากหลาย ป้องกันการขาด โปรตีน วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก แคลเซียม และแร่ธาตุสังกะสี

วันนี้ (7 ต.ค.2567) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรับประทานเจ คือ การงดรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสัตว์ เป็นการสร้างบุญสร้างกุศล

อย่างไรก็ตาม การรับประทานเจอาจทำให้ขาดสารอาหารโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ส่วนมากรับประทานน้อย และมักมีน้ำหนักตัวน้อยอยู่เดิม ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหาร รวมไปถึงมวลกล้ามเนื้อพร่อง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ และความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม

การที่ผู้สูงอายุไม่กินเนื้อสัตว์ อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุขาดโปรตีน วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก แคลเซียม และ แร่ธาตุสังกะสี ทว่ากรณีที่รับประทานเจในระยะสั้นอย่างเทศกาลเจ ยังไม่ส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารครบถ้วน รับประทานอาหารหลากหลาย และมีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่พอเหมาะถูกหลักโภชนาการเพื่อให้ได้บุญและสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน

ด้าน พญ.บุษกร โลหารชุน ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุสามารถการรับประทานอาหารในเทศกาลเจเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีควบคู่ไปด้วยได้ ดังนี้

  1. เน้นรับประทานอาหารเจปรุงสุกจากการต้ม นึ่ง ยำ อบ ตุ๋น หรือลวก หลีกเลี่ยงอาหารทอด ย่าง หรือผัด
  2. หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ผักดอง กานาฉ่าย โปรตีนเกษตร เนื่องจากมีโซเดียมสูง อันเป็นเหตุให้ไตทำงานหนัก และทำให้ความดันโลหิตสูงได้
  3. รับประทานอาหารหลากหลาย และมีสารอาหารทดแทนสารอาหารจากเนื้อสัตว์ เช่น โปรตีนได้จากเต้าหู้ ถั่ว และธัญพืช แคลเซียมได้จากผักคะน้า ผักโขม บรอกโคลี งา และนมถั่วเหลือง แร่ธาตุสังกะสีได้จากถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด ธาตุเหล็กได้จากผักใบเขียว ธัญพืช และข้าวโอ๊ต
  4. แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วยเพื่อเพิ่มการดูซึมธาตุเหล็ก และสุดท้ายวิตามินบี 12 ที่มักพบในเนื้อสัตว์เป็นหลักสามารถแทนได้จากนมถั่วเหลือง หรือธัญญาหาร (Cereal) ที่เสริมวิตามินบี 12

กรมอนามัยแนะนำหลัก 4 ล. สุขภาพที่ดีช่วงกินเจ

1. ล เลือก ได้แก่ การเลือกวัตถุดิบ ในการปรุงประกอบอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และเลือกกินอาหารจากร้านอาหารที่สะอาด ผ่านมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ แซน (SAN) และ แซนพลัส (SAN Plus) หรือที่มีสัญลักษณ์เมนูชูสุขภาพ เช่น ผักสด ผลไม้ โปรตีนเกษตร มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้

2. ล ล้าง ได้แก่ การล้างวัตถุดิบ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ก่อนกินหรือก่อนนำผักและผลไม้มาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งด้วย 3 วิธี ดังนี้

  1. การล้างด้วยน้ำไหล สามารถลดสารพิษได้ ร้อยละ 25-65
  2. การล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาช่วยลดสารพิษได้ถึง ร้อยละ 90-95
  3. การล้างด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 60-84 และยังสามารถล้างไข่พยาธิได้

3. ล เลี่ยง อาหารที่มีแป้งและไขมันมาก อาหารเจส่วนใหญ่ ประกอบด้วย แป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ขาดโปรตีนและธาตุเหล็กได้ จึงควรเลือกพืชที่ทดแทนโปรตีน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนเกษตร และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ ควรเลือกผักผลไม้ให้หลากสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบตามที่ร่างกายต้องการ

4. ล ลด หวาน มัน เค็ม การปรุงอาหารเจที่ดี ไม่ควรหวานจัด เค็มจัด มันจัด ควรปรุงอาหารเจด้วยการต้ม นึ่ง เน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ ผัก ผลไม้ให้หลากหลาย ให้ได้บุญได้กุศลจากการละเว้นเนื้อสัตว์ รวมทั้งสร้างสุขภาพที่ดี ลดหวาน มัน เค็ม เสริมโปรตีน จากถั่ว

การกินอาหารเจที่ดียังคงต้องเน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ นอกจากการกินผักให้หลากหลายแล้ว สามารถกินโปรตีนเกษตรทดแทนได้ ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่มัน มากเกินไป ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

5 เมนูทำง่าย เอาใจสูงวัยกินเจ

เมนูอาหารเจสำหรับผู้สูงวัยควรเน้นอาหารที่ย่อยง่ายและมีสารอาหารครบถ้วน เพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพที่เปลี่ยนไปตามวัย นอกจากนี้ ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่ช่วยเสริมสร้างระบบย่อยอาหาร กระดูก และป้องกันโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 

  • ต้มจืดฟักทองกับเต้าหู้ ฟักทองให้วิตามินเอสูง และเต้าหู้มีโปรตีนที่ย่อยง่าย สามารถเติมเห็ดและสาหร่ายเพื่อเพิ่มแร่ธาตุและรสชาติได้
  • ข้าวกล้องผัดเต้าหู้และผักรวม ข้าวกล้องมีใยอาหารสูง ช่วยในการย่อยอาหารและควบคุมน้ำตาลในเลือด ผัก เช่น บรอกโคลี พริกหวาน เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามิน
  • ยำเห็ดรวม เห็ดมีไขมันน้อย และโซเดียมต่ำ เป็นวัตถุดิบที่เหมาะในช่วงกินเจ ใช้น้ำมะนาวและซอสถั่วเหลืองปรุงรส เพื่อเพิ่มความสดชื่นและช่วยในระบบย่อยอาหาร
  • แกงเลียงผักรวม เช่น ฟักทอง ใบตำลึง และ ข้าวโพดอ่อน ที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหารและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • สลัดเต้าหู้ย่างกับผักสด เต้าหู้ย่างให้โปรตีนจากพืช และผักสดหลากสี มีวิตามินและแร่ธาตุช่วยป้องกันการเกิดโรค

อ่านข่าวอื่น :

"เทศกาลกินเจ 2567" ได้บุญ อิ่มใจ ปลอดภัย ลดเค็ม

ต้อนรับเทศกาลกินเจ 2567 เปิด 9 เมนูอร่อยไม่ซ้ำ หาทานง่าย

ขั้นตอน "ล้างท้อง" เตรียมร่างกาย-จิตใจก่อนเทศกาลกินเจ 2567

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง