วันนี้ (4 ต.ค.2567) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีสิงโต 3 ตัว เสือดำ 1 ตัวพร้อมด้วยเสือโคร่ง 47 ตัวตายจากโรคไข้หวัดนกนับตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
การระบาดของไวรัส H5N1 พาหะก่อโรคไข้หวัดนก เกิดขึ้นในสวนสัตว์ Vuon Xoai ใกล้กับนครโฮจิมินห์ และสวนสัตว์ซาฟารี My Quynh ใน จ.Long An ที่อยู่ติดกัน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สัตว์เหล่านี้น่าจะล้มป่วยหลังจากที่กินเนื้อไก่ที่ติดเชื้อเป็นอาหาร
กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามกล่าวว่า 2 ตัวอย่างที่เก็บจากเสือที่ตายแล้วมีผลตรวจเชื้อไข้หวัดนกเป็นบวก และเจ้าหน้าที่กำลังตามหาแหล่งที่มาของไก่ตัวดังกล่าวเพื่อหาสาเหตุ
คำแนะนำบนเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนไม่ให้บริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ดิบหรือปรุงไม่สุก ในภูมิภาคที่ประสบปัญหาไข้หวัดนก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ไวรัสสายพันธุ์ H5N1 จะติดเชื้อในสัตว์เป็นหลัก และ WHO กล่าวว่าการติดเชื้อใน "มนุษย์" เกือบทุกกรณีเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับนกที่มีเชื้อทั้งที่ยังมีชีวิตและตาย
ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา มีรายงานการระบาดร้ายแรงของไวรัสไข้หวัดใหญ่ รวมถึง H5N1 มากขึ้นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนับตั้งแต่ปี 2546 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการติดเชื้อของมนุษย์เกือบ 900 ราย โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิต
ฟาร์มต้องดูแลสัตว์อย่างไรให้ปลอดภัยจาก H5N1
การป้องกันสัตว์ในฟาร์มจากการติดเชื้อไวรัส H5N1 (ไข้หวัดนก) จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมโรคและการจัดการสุขอนามัยในฟาร์ม
1.ควบคุมการเข้าออกฟาร์มอย่างเคร่งครัด ผู้ที่เข้ามาในฟาร์มควรสวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกัน ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์มด้วยการฆ่าเชื้อก่อนและหลังใช้งาน
2.หากพบว่าสัตว์มีอาการป่วย ควรแยกออกจากฝูงทันที ให้สัตวแพทย์ตรวจสอบ สัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกต้องทำลายทิ้ง และจัดการซากสัตว์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสถานที่เลี้ยงสัตว์ โรงเรือน และอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์เป็นประจำ
4.ตรวจสอบสุขภาพสัตว์เป็นประจำ หมั่นสังเกตอาการที่อาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร หรือการหายใจลำบาก หากพบสัตว์ต้องสงสัย รีบแจ้งหน่วยงานหรือสัตวแพทย์ทันที
แนวทางป้องกันตนเองจาก H5N1
การป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดของโรค
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ร้อยละ 60 ขึ้นไป) หลังจากสัมผัสสัตว์ปีก
- ไม่ควรสัมผัสใบหน้า ตา จมูก หรือปาก ด้วยมือที่ไม่สะอาด
- ปรุงอาหารจากสัตว์ปีกให้สุกเต็มที่ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจปนเปื้อน
- หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้สวมหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกัน
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แม้จะไม่มีวัคซีนสำหรับ H5N1 โดยเฉพาะ แต่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจช่วยลดความเสี่ยงได้
หากติดเชื้อ H5N1 ต้องทำอย่างไร ?
- หากสงสัยว่าติดเชื้อ H5N1 หรือมีอาการที่คล้ายไข้หวัดนก (ไข้สูง ไอ หายใจลำบาก)ให้รีบพบแพทย์ทันที
- แพทย์ตรวจวินิจฉัยและอาจจ่ายยาต้านไวรัส เช่น Oseltamivir (Tamiflu) เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส ผู้ป่วยควรกินยาตามแพทย์สั่ง และติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด
- ผู้ป่วยควรกักตัวในที่พักอาศัย ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
- สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นประจำ หากต้องติดต่อกับผู้อื่น
- หากมีอาการหนัก เช่น หายใจลำบาก ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ที่มา :
-องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties; OIE)
-องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization - FAO)
-ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention - CDC)
-กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-BBC