วันนี้ (2 ต.ค.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเรียกกรมการขนส่งทางบก มารายงานข้อเท็จจริง กรณีไฟไหม้รถโดยสารทัศนศึกษา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา
เบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ เนื่องจากต้องรอการตรวจสอบหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน เบื้องต้นสั่งการให้ยกเลิกรถคันที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ไม่ให้ประกอบการ ซึ่งเป็นรถโดยสารไม่ประจำทาง หรือรถ 30 ติดตั้งแก๊ส NGV เป็นเชื้อเพลิง
จากการประชุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก ได้สั่งการกรมการขนส่งทางบกเรียกรถทั้งหมดที่ใช้ NGV จำนวน 13,426 คัน แบ่งเป็น รถโดยสารประจำทาง 10,491 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทางประเภท 30 จำนวน 2,935 คัน ให้กลับเข้ามารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน หากพบว่ารถดังกล่าวไม่ผ่านการตรวจสภาพจะถูกยึดใบอนุญาตรถทันที
ขณะที่รถประเภท 30 จะเป็นรถไม่ประจำทาง ไม่เหมือนรถ บขส. จึงจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้น เนื่องจากรถประเภท 30 กระจายตัวอยู่ตามจังหวัด โดยจะให้เข้ามาตรวจสอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
อีกทั้งจะมีการพิจารณาระเบียบ โดยให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกพิจารณาเพิ่มกฎหมายให้รถ 30 จะต้องมีพนักงานท้ายรถ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีกฎหมายกำหนด โดยสั่งการให้ออกระเบียบและทำทันทีว่าต้องมี
อ่านข่าว : "รถบัสไฟไหม้" จดทะเบียนปี 2513 ดัดแปลงติดตั้งแก๊ส NGV
นอกจากนี้ระหว่างการตรวจสอบสภาพรถ 30 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ผู้โดยสารเป็นเด็กเล็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และไม่มีความรู้ จึงจะออกมาตรการขอความร่วมมือสถานศึกษา ให้ผู้ใช้บริการรถ 30 โดยเฉพาะหากเป็นนักเรียน ก่อนออกเดินทางต้องมีการตรวจร่วมกับขนส่งจังหวัด เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อเพิ่มการป้องกันระยะเร่งด่วนและหลังจากนี้จะให้ดูกฎหมายเรื่องอายุการใช้งานรถและอุปกรณ์ เพื่อให้ทันเหตุการณ์
รถที่ให้บริการสาธารณะ ขอความร่วมมือให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ถ้าต้องปรับก็ต้องปรับและการปรับก็ต้องลงทุน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า หลังจากวันนี้ รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมาตรวจ โดยเฉพาะรถ 30 ต้องเพิ่มพนักงานท้ายรถ มีใบรับรองเผชิญเหตุ และก่อนรถออกเดินทางต้องมีการสาธิตการเผชิญเหตุ ทั้งคนและรูปแบบวิดีโอเหมือนแอร์ไลน์ ซึ่งขณะนี้ไม่มีข้อบังคับ โดยขณะนี้รถโดยสารที่ให้บริการมีทั้งหมด 13,426 คัน แบ่งเป็นรถประจำทาง 10,491 คัน และรถไม่ประจำทาง หรือรถ 30 จำนวน 2,935 คัน
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นำรถที่มีอายุ 50 ปี มาให้บริการและผ่านการตรวจสอบของกรมการขนส่งได้อย่างไรนั้น นายสุรพงษ์ระบุว่า มีข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกอยู่ แต่ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบกับรูปคดี ส่วนการยกเลิก CNG นายสุรพงษ์ระบุว่า มีแนวโน้มที่จะให้ยกเลิก เนื่องจากขณะนี้มีสถานบริการเติม CNG ลดลง
อ่านข่าว : เจ้าของบริษัททัวร์ยันถังก๊าซ NGV รสบัสไฟไหม้ผ่านมาตรฐาน
ขณะที่ นายชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการวิศวกรรมยานยนต์กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า สำหรับการตรวจถัง CNG จะมีการตรวจว่าตัวถังมีอายุกี่ปี รวมถึงรอบการตรวจสอบที่จะมีการตรวจสอบปีละ 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบรอยรั่วของก๊าซข้อต่อว่ารั่วหรือไม่ รวมถึงอายุการใช้งานของถังจะต้องไม่เกิน 15 ปี นอกจากนี้จำนวนถังจะได้รับรองจากกรมฯ โดยมีวิศวกรเป็นคนตรวจก่อนได้รับใบอนุญาต
ส่วนจำนวนถังที่ติด ในระเบียบจะดูน้ำหนักรถ โดยจะเป็นการคำนวณว่าบรรทุกได้เท่าไหร่ เช่น รถบรรทุกน้ำหนักได้ 15 ตัน 40 ที่นั่ง จะได้คำนวณน้ำหนักติด CNG โดยทั่วไปติดตั้งได้ 5-6 ถัง
ส่วนสภาพรถ อายุการใช้งาน ยอมรับว่าไม่มีการกำหนด อยู่ที่การตรวจสภาพ เช่น ตรวจล้อ มลพิษ ไฟหน้า พร้อมยืนยันว่า รถจะต้องผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกทุกคัน
กรณีการดัดแปลงรถ วิศวกรจากกรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่า ในกรณีนี้รถจดทะเบียนเป็นเครื่องยนต์อีซูซุ แต่ติดเครื่องหมายเบนซ์ ซึ่งกรณีนี้ไม่มีระเบียบกำหนด แต่หลังจากนี้จะมีการตรวจเข้มข้น และการตรวจสภาพจะมีการตรวจทุกมิติ

จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การตรวจสอบสภาพรถ และการตรวจสอบถังแก๊ส CNG นั้น ตามปกติกรมฯ จะมีการตรวจสภาพรถ 2 ครั้งต่อปี โดยกำหนดให้ในรอบปีภาษี ผู้ประกอบการต้องผ่านการตรวจสภาพจากวิศวกรผู้ดูแล 1 ครั้ง
และเมื่อครบสิ้นปีการชำระภาษี รถต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากกรมฯ อีก 1 ครั้ง เช่น รอยรั่วของก๊าซ, อายุการใช้งาน ตลอดจนการตรวจเช็กการเสียดสีของถังแก๊ส
"ในทางปฎิบัติตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง 3/2568 ระบุว่า รถโดยสารไม่ประจำทาง 30 ไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานเลขโครง ตัวถังรถ (แชสซี) แต่รถโดยสารประจำทางที่มี ระยะทางไม่เกิน 300 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของแชสซีรถไม่เกิน 40 ปี, รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300-500 กม. จะกำหนดอายุแชสซี ไม่เกิน 35 ปี, รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางเกิน 500 กม. จะกำหนดอายุแชสซี ไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถหมวด 1 ที่วิ่งในเมืองอายุแชสซีไม่เกิน 50 ปี"
อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกจะประชุมในรายละเอียด เพื่อกำหนดกรอบและมาตรฐานรถโดยสารไม่จำทาง 30 ในเรื่องของข้อกำหนด อายุการใช้งานรถ รวมถึงคนรถเพิ่มเติม หากต้องมีการแก้กฎหมายก็จะเร่งดำเนินการ
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยสภาวิศกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการทบทวนมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ ทั้งรถตู้ รถทัวร์ รถบัสต่าง ๆ ซึ่งจะดูทั้งข้อกฎหมาย มาตรฐานรถ อายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะใหม่
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ รถบัสทัศนศึกษาเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้
กมธ.คมนาคม เชิญ "อธิบดีกรมการขนส่งฯ" แจงเหตุไฟไหม้รถทัศนศึกษา