ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขุดบ่อ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ปรับแผนแก้ปัญหาโคลนแม่สาย

ภัยพิบัติ
30 ก.ย. 67
21:58
461
Logo Thai PBS
ขุดบ่อ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ปรับแผนแก้ปัญหาโคลนแม่สาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายจุดในแม่สาย จ.เชียงราย การกำจัดโคลนออกจากพื้นที่ไม่สามารถทำได้ เพราะโคลนเข้าปิดร่องน้ำและทางระบายน้ำทั้งหมด แต่มีการปรับแผนฟื้นฟูด้วยวิธีการขุดบ่อ เพื่อให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดินและเป็นจุดรองรับโคลนก่อนตักออกไปทิ้ง รวมถึงรองรับฝนที่อาจตกเพิ่ม

วันนี้ (30 ก.ย.2567) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ชุมชนเหมืองแดง ซอย 8 ซึ่งมีน้ำท่วมขังนานกว่า 1 เดือน ภายในซอยมีน้ำและโคลนสูงระดับเอว โดยมูลนิธิกระจกเงาเข้าไปขุดบ่อทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อที่จะลดระดับน้ำภายในซอย

ขณะเดียวกันต้องนั่งรถแบคโฮเข้าไปเพื่อร่นระยะเวลา เพราะหากเดินเท้าจะต้องฝ่าโคลนที่สูงกว่า 50 เซนติเมตร ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้หลายคนยังไม่สามารถกลับเข้าบ้านได้

จากการสำรวจพื้นที่หน้าบ้านของนายกาน ซึ่งอยู่กลางซอย 8/2 ของชุมชนเหมืองแดง พบว่าเป็นจุดลุ่มต่ำที่เหมาะกับการขุดบ่อเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน เจ้าของจึงยอมสละพื้นที่หน้าบ้าน เพราะหวังว่าวิธีการนี้จะช่วยลดระดับโคลนให้คนภายในซอยได้ โดยเจ้าหน้าที่นำรถแบคโฮขุดลงไปให้มีความลึกประมาณ 5-6 เมตร และความกว้างของบ่ออยู่ที่ประมาณ 4x4 เมตร ซึ่งตามที่มีการคาดการณ์ไว้ น้ำที่ผสมกับโคลนในซอยจะไหลลงบ่อนี้และจะซึมลงสู่ชั้นใต้ดิน

ตามปกติแล้วถนนเส้นดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ช่วงฝนตกน้ำจะไหลมารวมและระบายผ่านร่องระบายน้ำ ทำให้หลังน้ำท่วมโคลนบริเวณนี้สูงกว่าจุดอื่นๆ ซึ่งตามแผน เจ้าหน้าที่จะดันโคลนจากผิวถนนลงไปในบ่อ ก่อนที่จะนำรถบรรทุกมาตักโคลนไปทิ้ง และระหว่างนี้หากมีฝนตกลงมาเพิ่ม บ่อจะถูกใช้เป็นจุดรองรับน้ำได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ถูกเรียกว่า “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า วิธีการนี้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพหน้างาน หลังพบว่าทางน้ำทั้งหมดถูกปิดกั้น ไม่สามารถระบายออกได้ การหาพื้นที่เพื่อสร้างบ่อให้เป็นจุดลุ่มต่ำชั่วคราวจึงเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ และด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบและความรุนแรงของภัยพิบัติที่ไปไกลกว่าในอดีต ทำให้แผนการฟื้นฟูแม่สายในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนป้องกันและรับมือภัยพิบัติในอนาคต

อ่านข่าว

เร่งฟื้นฟู "แม่สาย" ระบายน้ำท่วมขัง-เสริมแนวตลิ่งริมแม่น้ำสาย

หอการค้าชี้ เสียหาย 3 หมื่นล้าน “เชียงราย” กระทบหนักสุด

น้ำลด! เข้าสำรวจบ้านหลังโดนน้ำยมซัด ซ่อมพนังแตกห่วงฝน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง