ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วัดพลังบ้านใหญ่ ศึกชิงนายกอบจ.เชียงราย

ภูมิภาค
28 ก.ย. 67
17:17
5,409
Logo Thai PBS
วัดพลังบ้านใหญ่ ศึกชิงนายกอบจ.เชียงราย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนามเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงราย จะหมดวาระในเดือนธันวาคม พ.ศ.2567 เป็นอีกสนามหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะครอบคลุมถึง 18 อำเภอ งบประมาณปีละเกือบ 1,000 ล้านบาท กลุ่มใดสามารถช่วงชิงพื้นที่ได้ ก็ต่อยอดถึงระดับชาติ หรือกระทั่งสนามเลือกตั้ง เทศบาล หรือ อบต.ได้ง่าย

การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงสมัยปัจจุบัน จะเป็นการช่วงชิงของกลุ่มตระกูลดังในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลติยะไพรัช โดยการนำของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรี และคนสนิทของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ตระกูลวันไชยธนวงศ์ นำโดย นายสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต สส.เชียงรายหลายสมัย ,ตระกูลเตชะธีราวัฒน์ นำโดย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีและสส.เชียงรายหลายสมัย

รวมไปถึงตระกูลจงสุทธานามณี นำโดย นายวันชัย จงสุทธนามณี ผู้ถือครองเก้ากี้นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงรายหลายสมัยซึ่งมีเครือญาติเป็น สส.หลายคนหลายพรรค

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ห้วง 2-3 สมัยที่ผ่านมา การเมืองในสนามเลือกตั้งใหญ่ หรือการเลือก สส. ของ จ.เชียงราย มีสับเปลี่ยนหลายพรรค มีการย้ายพรรคและควบรวมพรรค ทำให้การส่งผู้ชิงชัยในตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย เปลี่ยนไปและหลังมีเหตุการณ์ทำรัฐประหาร มีการส่งผู้ลงสมัครน้อยลงเหลือไม่กี่คนและกลุ่มที่เคยต่อสู้กันหันมาจับมือส่งผู้สมัครคนเดียวกันแทน

อย่างการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย สมัยที่ผ่านมา ในปี 2563 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง หลังการทำรัฐประหารปี 2557 มีผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้นายกอบจ.เชียงราย เพียง 3 คน ประกอบด้วย นางอธิตาธร วันไชยธนวงศ์, น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ และนายมงคลชัย ดวงแสงทอง

มีเพียง น.ส.วิสาระดี ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ส่วนอีก 2 คน ส่งตัวเองลงชิงชัยในนามอิสระ ปรากฎว่า นางอธิตาธร ชนะการเลือกตั้งคว้าเก้าอี้นายก อบจ.คนล่าสุดไปครอง

ดังนั้นในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ที่ใกล้จะมาถึงนี้ ก็เช่นคาดการณ์ว่าจะมีผู้มาลงสมัครเพียงไม่กี่หรืออาจจำนวนเท่าเดิม โดยคนแรกคือเจ้าของเก้าอี้ปัจจุบัน นางอธิตาธร วันไชยธนวงศ์ ที่ยังหมายมั่นจะสานงานต่อตำแหน่ง นายก อบจ. ทำให้ต้องทำงานหนักลงพื้นที่แทบทุกวัน เพื่อหวังดึงคะแนนไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งทุ่มเททำงานด้านการประชาสัมพันธ์การทำงานผ่านสื่อทุกรูปแบบโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เพื่อหวังดึงคะแนนคนรุ่นใหม่

สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช

สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช

สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช

ล่าสุดอย่างไม่เป็นทางการจะไม่ลงในนามอิสระเหมื่อนครั้งที่ผ่านมา อาจจะย้ายปักหลักในขั้วของพรรคภูมิใจไทย แต่หากการพูดคุยเรื่องสังกัดพรรคไม่ลงตัว จะหันลงในนามอิสระเหมือนครั้งที่ผ่านมา

ส่วนพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ต้องสรรหาผู้สมัครใหม่ แทน น.ส.วิสารดี เตชะธีราวัฒน์ ผู้สมัครคนเดิมที่ผันตัวไปลงสมัครการเมืองระดับชาติ และได้รับเลือกตั้ง เป็น สส.เชียงรายไปแล้ว

คาดว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะผลักดัน นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเคยเป็นอดีต นายก อบจ.เชียงราย มาแล้วครั้งหนึ่ง มาลงสมัครนายก อบจ.เชียงรายแทน แค่หากติดขัดก็จะใช้บริการคนใกล้ชิดนายยงยุทธ หรือคนทำงานในพรรคเพื่อไทย แต่ความพร้อมไม่เท่านางสลักจฤฎดิ์ ที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างต่อเนื่อง

มงคลชัย ดวงแสงทอง

มงคลชัย ดวงแสงทอง

มงคลชัย ดวงแสงทอง

อีกคนที่เชื่อว่าจะลงอย่างแน่อนอนเนื่องจากแม้จะพ่ายแพ้ในการลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงราย มาหลายครั้ง แต่ไม่ย่อท้่องลงสมัครทุกครั้งคือนายมงคลชัย ดวงแสงทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย

ครั้งที่ผ่านมาแม้จะแพ้การเลือกตั้งแต่มีคะแนนมากถึงกว่า 80,000 คะแนน โดยช่วงวิกฤตหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย เจ้าตัวทุ่มสรรพกำลังช่วงแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในชื่อ "โครงการยักษ์ขาวสู้ฝุ่น" ทำให้ชื่อชั้นติดหูชาวเชียงรายเพิ่มจากเดิม

ทั้ง 3 คนนี้อาจเป็นตัวหลักและตัวเต็งในสนามเลือกตั้ง นายกอบจ.ครั้งต่อไป แต่ก็อาจมีผู้สมัครรายอื่นมาแข่งบ้างแต่ก็โอกาสชนะค่อนข้างน้อย

ส่วนนางรัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายกอบจ.เชียงราย หลายสมัย และเป็นภรรยาของนายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย คนปัจจุบัน มีกระแสว่า จะไม่กลับมาสมัครนายก อบจ. เพราะหลีกทางให้กับทางภรรยาของนายยงยุทธ ที่ระยะหลังทั้ง 2 ฝ่าย ได้หันมาจับมือกันในนามพรรคเพื่อไทย และการเลือกตั้ง สส.สมัยที่ผ่านมา ก็ส่งลูกชายของนายวันชัย ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่จะขอคุมพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายไว้ดีกว่า

ขณะที่พรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเก่า ที่เดิมทีหลายคนคาดว่าจะมีการส่งผู้สมัครลงชิงชัยในการเลือกตั้งนายกอบจ. ด้วย แต่ทางพรรคประชาชนเอง มุ่งเน้นการเลือกตั้งในสนามเล็กระดับเทศบาลทั่วประเทศ มากกว่าจะมีการส่งชิงเก้าอี้ อบจ. ซึ่งเชียงรายไม่อยู่ในกลุ่มที่พรรคจะจัดส่ง แต่ทั้งนี้ก็จะต้องดูในวันรับสมัครเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งว่าจะส่งตัวแทนลงหรือไม่

ส่วนพรรคอื่นๆ หรือบุคคลสำคัญคนในจังหวัดเชียงราย ขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวหรือประกาศตัวชิงเก้าอี้ตัวนี้

ถึงแม้จะมีจำนวนผู้สมัครน้อยแต่เชื่อว่าศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.เชียงราย ครั้งที่จะถึงนี้คงดุเดือดและเข้มข้นไม่แพ้พื้นที่อื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นป้องกันแชมป์ของนายกอบจ.คนเก่าแล้ว ยังเป็นศึกแห่งศักดิ์ของพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องล้างอาย ดึงเก้าอี้นายก อบจ.ตัวนี้กลับมาครอง เพื่อการกลับมาเป็นพื้นที่แลนสไลด์ของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ในการเลือกตั้ง สส.ครั้งต่อไป


รายงาน : ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง