"บรรทมสินธุ์-พิษณุโลก" บ้านพระราชทาน ตึกบัญชาการ รบ.ทุกสมัย

ไลฟ์สไตล์
27 ก.ย. 67
15:17
265
Logo Thai PBS
"บรรทมสินธุ์-พิษณุโลก" บ้านพระราชทาน ตึกบัญชาการ รบ.ทุกสมัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"บ้านพิษณุโลก" บ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทย สร้างขึ้นในสมัย ร.6 แม้จะเป็นที่พักของนายกฯ แต่บ้านพิษณุโลกมักถูกใช้สำหรับการประชุมหรือรับรองแขกสำคัญ ล่าสุดคือสถานที่ประชุมของ "5 ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ" ของนายกฯ แพทองธาร

การผูกใจข้าราชสำนักที่เห็นเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบัน คนยุคใหม่เห็นได้จาก "บ้านพระราชทาน" ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ สร้างให้กับขุนนางใกล้พระองค์ทั้ง 4 คน ได้แก่ บ้านนรสิงห์ หรือ ทำเนียบรัฐบาลในปัจจุบัน, บ้านบรรทมสินธุ์ หรือ บ้านพิษณุโลก, บ้านมนังคศิลา และ บ้านพิบูลธรรม หรือ บ้านนนทิ 

ที่คนไทยสมัยใหม่ได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ ก็คือ บ้านนรสิงห์หรือทำเนียบรัฐบาล และ บ้านพิษณุโลกหรือบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไทยมาแทบทุกยุคทุกรัฐบาล และยังเป็นที่รองรับบุคคลสำคัญ แขกของรัฐบาลอีกด้วย 

บ้านบรรทมสินธุ์

บ้านพิษณุโลก หรือ ชื่อเดิม "บ้านบรรทมสินธุ์" ร.6 ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ออกแบบโดยนายช่างชาวอิตาลีที่เคยสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) เริ่มปรับที่ปลูกบ้านประมาณปี 2465 แล้วเสร็จในปี 2486 

พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

"บ้านบรรทมสินธุ์" เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Italian Baroque ประกอบด้วย ตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นตึกประธานสูง 3 ชั้น ด้านหน้าตึกประธานมีรูปปั้น "นารายณ์บรรทมสินธุ์" สัญลักษณ์พระราชทานเป็นเครื่องหมายประจำตระกูล ประดิษฐานอยู่บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุ

และยังมีตึกบริวารต่าง ๆ ได้แก่ ตึกเย้าใจ เรือนคู่ใจ เรือนณรงค์ เรือนกลัมพากร และโรงรถ เดิมเรียงรายกันไปทางด้านหลังของที่ดิน โดยทุกตัวอาคารหันหน้าออกสู่ถนนและขนานกับถนนในเนื้อที่มีการจัดผังบริเวณ จัดสวนและสระน้ำขนาดใหญ่แบบธรรมชาติ มีภูเขาจำลองและสะพานข้ามคูไปเชื่อมกับสระใหญ่ด้วย

จาก บ้านพระราชทาน สู่ เรือนรับรองใช้ในราชการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก พระยาอนิรุทธเทวา ได้นำบ้านบรรทมสินธุ์ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้เป็นราชสมบัติ เนื่องจากเหลือกำลังจะบำรุงรักษาได้ แต่ได้รับการปฏิเสธจาก ร.7 พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวได้ย้ายออกไปอยู่ จ.นนทบุรี และไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์แต่อย่างใดนับจากนั้นมา 

ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บ้านบ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกฯ ญี่ปุ่น ในการร่วมรบกับญี่ปุ่น และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวาเพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 500,000 บาท ในส่วนที่เป็นตึกใหญ่และตึกบริวาร ไปจนถึงตึกธารกำนัล

ทางการจึงใช้เป็นที่ทำการกรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น และเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์เป็น "บ้านไทย-สัมพันธมิตร"

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม จอมพล ป. มีมติให้เปลี่ยนชื่อจาก "บ้านไทย-พันธมิตร" เป็น "บ้านสันติภาพ" เพื่อลบภาพพจน์ในการเข้าร่วมสงคราม และในปี พ.ศ.2496 รัฐบาลมีมติให้เปลี่ยนชื่อบ้านพระราชทานอีกครั้งเป็น "บ้านพิษณุโลก" เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่บน "ถ.พิษณุโลก"

บ้านพักนายกฯ ที่ไม่มี นายกฯ พัก

เรื่อยยาวจนปี พ.ศ.2522 ในรัฐบาลนายกฯ คนที่ 15 "เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์" บ้านพิษณุโลกถูกปรับปรุงปัดฝุ่นครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังถูกทิ้งร้างไม่มีผู้ใช้งาน ใช้งบประมาณผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หวังให้เป็นที่พำนัก-บ้านพักประจำตำแหน่ง แต่ยังไม่ทันซ่อมแซมบ้านเสร็จ นายเกรียงศักดิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งไปเสียก่อน

ต่อมาในรัฐบาล "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ได้ดำเนินซ่อมแซมและย้ายเข้าอยู่ เพื่อหวังจะให้เป็นประเพณีปฏิบัติว่า "บ้านพิษณุโลก คือ บ้านพักนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย" แต่หลังจากที่ พล.อ.เปรม ย้ายเข้าไปพักไม่กี่คืน ก็ย้ายกลับไปพักบ้านสี่เสาเทเวศน์เหมือนเดิมโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ

เสียงลือเสียงเล่าอ้างของ "อาถรรพ์ สิ่งลี้ลับ" ในบ้านพิษณุโลกที่เคยมีมา ก็ยิ่งกระพือดังไปกว่าเดิม  

รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เข้าบูรณะตกแต่งบ้านพิษณุโลกเพื่อใช้เป็นที่ทำงานของ "ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" แต่กลับถูก คณะ รสช.กล่าวหาว่า รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นแหล่งซ่องสุมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง 

สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน ท่านได้แสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าพำนักที่บ้านพิษณุโลก แต่ได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและรับรองแขกต่างบ้านต่างเมืองเท่านั้น

ต่อมาสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ก็ไม่ได้ย้ายมาพำนักที่บ้านพิษณุโลกแต่อย่างใด

สมัย นายชวน หลีกภัย มีการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมบ้านพิษณุโลกใหม่ ในารดำรงตำแหน่งนายกฯ วาระแรก นายชวนยังใช้บ้านพิษณุโลกเป็นเพียงสถานที่ประชุมเท่านั้น แต่ในสมัยที่ 2 ได้เข้าพักอาศัยในบ้านพิษณุโลกราว 6 เดือน และหลังจากนั้นก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดเข้าพักอาศัย ณ บ้านพิษณุโลกอีกเลย ใช้เป็นเพียงเรือนรับรองแขกหรือที่รับรองการประชุมเท่านั้น

จนมาถึงรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มีความคิดจะใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่ทำงานของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานของนายกฯ ในขณะที่ตัวอดีตผู้นำคนนี้จะย้ายมานอนพักที่ทำเนียบรัฐบาล หรือ บ้านนรสิงห์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา "แพทองธาร ชินวัตร" นายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย ได้เปิดบ้านพิษณุโลกอีกครั้ง ถกนัดแรก 5 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรแทบทั้งสิ้น "พันศักดิ์-สุรพงษ์-พงศ์เทพ-ธงทอง-ศุภวุฒิ" ในนาม "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" หรือเรียกสั้น ๆ "ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ" ซึ่งมาจาก "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" ที่เป็นชื่อคณะที่ปรึกษานายกฯ สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

แม้จะมีกระแสเรื่องของสิ่งลี้ลับในบ้านพิษณุโลก แต่เรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม เคยออกมาแก้ต่างให้ว่า น่าจะเป็นเพียงความเข้าใจผิดกันเสียมากกว่า เพราะตนเคยเป็นผู้ช่วยนายชวน หลีกภัย ขนของเข้าพักที่บ้านประจำตำแหน่งนายกฯ หลังนี้ 

ข้อเท็จจริงคือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพื้น เสียง และความอึกทึกจากข้างนอกที่เข้าไปภายในบ้าน เมื่ออยู่ในนั้นจะได้ยินเสียงทุกอย่างทั้งหมด หากขวัญอ่อนก็นึกว่าผี แต่ความจริงคือคนพูดกันว่าหากอยู่ที่ชั้น 3 เวลาพูดกันคนชั้นล่างก็ได้ยิน ยังเคยเล่นกันเมื่อครั้งทีมงานบ้านพิษณุโลกในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีคนนอนอยู่ข้างบน แล้วข้างล่างเขานั่งประชุมกัน คนที่นอนข้างล่างได้ยินที่เขาประชุมกันหมด จึงรู้สึกว่าการออกแบบบ้านนั้นไม่เก็บเสียง แต่ที่จริงไม่มีอะไร

รู้หรือไม่ : แม้จะไร้ซึ่งผู้คนอาศัย แต่สำนักนายกรัฐมนตรีมีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการปรับปรุง ซ่อมแซม ดูแลบ้านพิษณุโลกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ทรุดโทรมตามกาลเวลา ปีใน พ.ศ. 2562 ใช้วงเงินงบประมาณมากถึง 38,006,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่ม :

"แพทองธาร" เปิดบ้านพิษณุโลกถกนัดแรก 5 ที่ปรึกษา

ส่องตำนาน "บ้านนรสิงห์" ถึง "ทำเนียบรัฐบาล"

ย้าย "องค์นรสิงห์ฯ" รอรับ "เศรษฐา" ค้างคืนทำเนียบฯ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง