ฝันค้างค่าแรงวันละ 400 บาท บทสะท้อน “การเมือง” บงการ

การเมือง
24 ก.ย. 67
15:16
222
Logo Thai PBS
ฝันค้างค่าแรงวันละ 400 บาท บทสะท้อน “การเมือง” บงการ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฝันค้างแน่นอนแล้ว สำหรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ต.ค.2567 ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทับซ้อนกันเข้ามา

ตั้งแต่องค์ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดค่าจ้างที่มาจาก 3 ฝ่าย รัฐบาล-นายจ้าง-ลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน ที่ต้องมีไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 หรือ 10 คน จึงจะครบองค์ประชุม ทั้งในการประชุม 16 ก.ย. ที่ฝ่ายนายจ้าง 5 คน พร้อมใจกันลาประชุม และ 20 ก.ย.ฝ่ายรัฐบาล 4 คน และตัวแทนลูกจ้าง 2 คนขาดประชุมอีก

ต้องเลื่อนเป็น 24 ก.ย. แต่สุดท้าย ตัวแทนแบงก์ชาติในฝ่ายรัฐบาล จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. ต้องรอให้มีการแต่งตั้งคนใหม่ก่อน ทำให้การประชุม 24 ก.ย. ต้องแท้งอีก

ทำให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ต้องออกโรงมาขอโทษ ที่ไม่สามารถทำให้เกิด “ฝันที่เป็นจริง” ได้

หากเป็นเหตุการณ์ปกติคงพอจะทำใจได้ แต่เผอิญเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมองจากมุมใด ล้วนแต่เป็นความผิดปกติทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายนายจ้าง 5 คนพร้อมใจกันลาประชุม อ้างติดภารกิจวันเดียวกัน หรือตัวแทนรัฐบาล 4 คน ลาประชุมพร้อมตัวแทนฝ่ายลูกจ่างอีก 2 คน จะอ้างเหตุผลใด ก็ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

นอกจากเป็นความตั้งใจ หรือมีนัยอย่างอื่นเคลือบแฝงอยู่ อย่างที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ผ่านบทความ ประชุมค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ล่ม องค์ประชุมไม่ครบ และภาวะการเมืองบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ระเบิดเวลาผลกระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง

ระบุว่า เป็นปรากฏการณ์ภาคการเมือง ที่เข้าครอบงำเพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท ให้เป็นไปตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ และความจริงแล้ว การปรับอัตราค่าจ้างมีกลไก “ไตรภาคี” หรือบอร์ดค่าจ้างเป็นผู้พิจารณาดำเนินการอยู่แล้ว

แต่ในปี พ.ศ.2567 กลับมีการปรับค่าจ้างก่อนหน้านี้แล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ 1 ม.ค.2567 ปรับค่าแรงเป็น 17 อัตราทั่วประเทศ ระหว่าง วันละ 330-370 บาท ต่อมาครั้งที่ 2 วันที่ 12 เม.ย.2567 ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 400 บาท เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไป ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวเป็นการนำร่อง

แทนที่จะยุติ ภาคการเมืองกลับยังมีความพยายามกดดัน ให้มีการปรับค่าจ้างเป็นครั้งที่ 3 มีธงอยู่ที่วันละ 400 บาท ทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 และจะให้ขึ้นเป็นวันละ 600 บาท ในปี 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้

ทั้งยังระบุว่าช่วงที่ผ่านมา มีความพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด โดยใช้คะแนนโหวตในคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อแก้ไขสูตรคำนวณค่าจ้างเป็นตัวขับเคลื่อน

แม้การปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้แรงงานไร้ฝีมือ และเป็นหนึ่งในความพยายาม ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานตามหลักการของ ไอแอลโอ หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันในมุมมองของผู้ประกอบการ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ถึงผลกระทบที่จะตามมาในหลายด้าน

ตั้งแต่ หากภาคการเมืองสามารถหาเสียงโดยชูนโยบายขึ้นค่าจ้างสูงแบบเกทับบลัฟแหลกกัน เพื่อหวังผลคะแนนเสียงจากกลุ่มแรงงาน เมื่อชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ แล้วนำการปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวไปใช้เป็นนโยบายปฏิบัติ อาจจะตอบโจทย์แรงงานได้ในระยะแรก เพราะทำให้มีรายได้สูงขึ้น

แต่ในระยะยาว ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือทำให้ตัวเลขจีดีพี ของประเทศให้เพิ่มขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกเข้มข้น 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3 ใน 4 เป็นแรงงานเข้มข้นเช่นกัน

ขณะที่ไทยมีการทำการค้าเสรี หรือ FTA ทั้งกับอาเซียน-จีนและหลายประเทศ เมื่อต้นทุนการผลิตสูงแต่สินค้าภาษี “0” จะทะลักเข้ามาแย่งตลาดอย่างที่กำลังเกิดขึ้นจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากประเทศจีน ที่ต้นทุนต่ำกว่ามาก เป็นสัญญาณเตือนว่า ภาคการผลิตจะล้มหายตายจาก หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

บทสรุปของผู้ประกอบการ คือหวังการยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ของแรงงานโดยภาคการเมือง เข้าบงการกดดันให้ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่สูงนั้น หากทำได้ง่ายๆ หลายๆ ประเทศคงทำกันไปหมดแล้ว

ถือเป็นการกระตุกเตือนของผู้ประกอบการ ที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นแน่ ๆ โดยยังไม่นับรวม กลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งปกติก็ย่อยแย่บอยู่ก่อนแล้ว ตราบใดที่ยังอยู่ในระบบ และโครงสร้างรวมถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แทนที่จะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ โดยยึดขนาดเป็นตัวตั้ง อาทิ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ดังที่กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ พยายามเสนอมานาน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ

เรื่องค่าแรงขั้นต่ำและแนวทางแก้ไข จึงยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังไม่จบไม่สิ้น จนกระทั่งทุกวันนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง