ขณะที่ไทยที่กำลังเผชิญสภาวะอุทกภัยอย่างหนักหน่วง "ญี่ปุ่น" ก็ประสบปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกัน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม มีผู้เสียชีวิต 6 คน และสูญหายรวม 10 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย.2567)
แม้จะเป็น 1 ในประเทศที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก แต่ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีการรับมือภัยพิบัติอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน จากสถิติ Hyogo Framework Disaster Risk Progress Score ที่จัดอันดับประเทศที่บริหารจัดการภัยพิบัติได้ดีที่สุดในโลก พบว่า ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยคะแนน 4.5 (เต็ม 5) ในช่วงปี 2548-2558 และยังเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศเดียวที่ติดอันดับ Top 10 อีกด้วย
โดยเฉพาะ "J-Alert" ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า ที่ช่วยให้ลดอัตราการสูญเสียชีวิตในญี่ปุ่นลงราวร้อยละ 97 เมื่อเทียบกับช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และยังช่วยลดอัตราการสูญเสียทรัพย์สินกว่าร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 เช่นกัน เป็นต้นแบบและมาตรฐานให้แก่ประเทศต่าง ๆ ถอดบทเรียนและนำไปประยุกต์ใช้ต่อการแจ้งเตือนภัยพิบัติไปทั่วโลก
ที่มา: Our World in Data
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับเฉพาะอุทกภัยในญี่ปุ่น พบว่า ในปี 2564 แม้จะมีอัตราการเผชิญอุทกภัยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยโดยอยู่ในอัตราร้อยละ 30 ในรอบ 30 ปี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นกว่า 3.5 เท่าในรอบ 30 ปี หมายความว่า อุทกภัยที่เผชิญในปัจจุบัน สร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นในจำนวนเท่า ๆ กันในอดีต
ด้วยมาตรการป้องกันภัยพิบัติที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น จึงมีคำถามว่า เหตุใดผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมจึงทวีความรุนแรงขึ้น ?
หรือไม่แน่ว่า ปัญหาสำคัญของการรับมืออุทกภัยที่ประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐาน อาจมาจากมาตรการที่แทบไม่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ อย่างเช่น "การพัฒนาเมือง" ของญี่ปุ่นเอง ?
จากรายงานของ Nikkei Asia เรื่อง Japan's exacerbated by urban development ได้ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจว่า นโยบายการพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ประสบกับอุทกภัยที่รุนแรงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า ประชาชนนิยมอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มและพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเกิดน้ำท่วมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 25 ปี
ในปี 2563 มีประชาชนจำนวน 24.59 คนที่อาศัยในบริเวณเสี่ยงภัยดังกล่าว เทียบกับปี 2538 ที่มีประชากรอยู่อาศัย ณ บริเวณนั้น 23.83 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 760,000 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3
ที่มา: Nikkei Asia
อีกทั้ง ชาวญี่ปุ่นนิยมสร้างบ้านเรือนบริเวณที่ราบลุ่ม เนื่องจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ เข้าไปตั้งฐานการผลิตจำนวนมาก เพราะมีทางออกสู่แม่น้ำและทะเล สะดวกต่อระบบขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงมีการสร้างเขื่อนและคันกั้นน้ำจากรัฐบาลจำนวนมาก เพื่อดึงดูดการตั้งฐานการผลิต แน่นอน เมื่อธุรกิจตั้งอยู่ที่ใด ที่อยู่อาศัยย่อมตามมาเสมอ
ในปี 2543 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ เน้นพัฒนาพื้นที่ตามต่างจังหวัดให้เป็นเมือง เอื้อให้ประชาชนมุ่งหน้าเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุทกภัย เพราะในขณะที่แผนงานป้องกันอุทกภัยยังคงเดิม แต่ประชาชนและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ กลับเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เท่ากับว่า "แผนงานป้องกันน้ำท่วมตามไม่ทันการเติบโตของพื้นที่และประชากร"
ยาสุโนริ ฮาดะ ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยบริหารความเสี่ยง มหาวิทยาลัยนิฮง ชี้ว่า "จำนวนผู้อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อค้นพบนี้ ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่การพัฒนาพื้นที่ราบลุ่มเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการใช้งานเครื่องมือเครื่องใช้ดิจิทัลของภาคธุรกิจและภาคประชาชนอีกด้วย"
เมื่อค้นพบว่า การพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นทำให้เสี่ยงต่อการประสบอุทกภัยที่รุนแรงขึ้น ผลที่ตามมา คือ การพัฒนาพื้นที่ราบลุ่มก็จะลดลง การบริโภคสินค้าดิจิทัลก็จะลดลง เพราะเสี่ยงต่อความเสียหายได้ง่ายจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อย ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เน้นพัฒนาสินค้าดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อีกทอดหนึ่ง
โดยตัวเลขผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่เมืองที่ได้รับการพัฒนานั้น อยู่ที่ 395,000 ดอลลาร์สหรัฐ/เฮกเตอร์ หรือ 63,200 บาท/ไร่
ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บรรดาธุรกิจที่ตั้งฐานการผลิตบริเวณพื้นที่พัฒนาราบลุ่มแม่น้ำหรือที่ราบต่ำ ไม่ได้ตระหนักถึงแผนรับมืออุทกภัยที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของตน โดยมีเพียงร้อยละ 50 ของบริษัททั้งหมดในพื้นที่ราบลุ่มเท่านั้นที่จัดทำแผนการบริหารอุทกภัย เพราะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 98 เน้นหนักไปที่แผนการรับมือแผ่นดินไหวเสียมากกว่า
ทั้งที่จริง ๆ นั้น ความเสียหายของน้ำท่วมในญี่ปุ่น มีมูลค่ามากกว่าแผ่นดินไหวหลายเท่า จากสถิติของ Statista พบว่า ในปี 2563 ความเสียหายจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในญี่ปุ่นอยู่ที่ 286.73 ล้านเยน ส่วนแผ่นดินไหวอยู่ที่ 28.73 ล้านเยน น้อยกว่าถึง 10 เท่า
นั่นหมายความว่า มาตรการจากภาครัฐอาจไม่ครอบคลุมและบังคับใช้ต่อธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้มากพอ ดังที่ โคจิ อิเคอุจิ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้กล่าวไว้ว่า
"ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำกำลังเผชิญความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายทั้งความปลอยภัยของชีวิตและทรัพสินและการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน"
อ่านข่าว