พิษน้ำท่วม ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯลด จี้รัฐออกมาตรการเยียวยาธุรกิจ

เศรษฐกิจ
19 ก.ย. 67
16:29
92
Logo Thai PBS
พิษน้ำท่วม ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯลด จี้รัฐออกมาตรการเยียวยาธุรกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ส.อ.ท. เผย พิษน้ำท่วม กระทบภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ลดลง 87.7 จี้รัฐออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ

วันนี้ ( 19 ก.ย.2567) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง มีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัวร้อยละ 23.71 โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 90.8 ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง

ส่วนปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางสร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ในด้านการส่งออกอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ส่วนปัจจัยบวก สถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคในประเทศจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค. มีจำนวน 23,567,850 คน ขยายตัวร้อยละ 31 สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 1,107,985 ล้านบาท

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,330 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 67.5 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 65.2 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 61.3 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก)

โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 40.6 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 56.0 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 45.8 ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจาก 95.2 ในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังห่วงกังวล ได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นปัญหาหนี้เสีย (NPL) มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ยังยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก

ทั้งนี้ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เป็นต้น ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม กรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบปีสูงขึ้น รวมทั้งทบทวนลดเพดานวงเงินการประกันการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม

รวมถึงปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดระยะเวลาการพิจารณาไต่สวน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสินค้าทุ่มตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นอกนี้ เร่งออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อาทิ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว และ ขอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน

อ่านข่าว:

 นักลงทุนแห่เทขาย “ทองคำ” เฟดลดดอกเบี้ย 0.50 % ในรอบ 4 ปี

3 ช่องทางลงทะเบียน ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

"พิพัฒน์" เดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 เร่งสรุปมาตรการเยียวยานายจ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง