ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวบ้าน “ศรีสงคราม” ขอไม่อพยพหนีน้ำ ทหารลงชุมชนดูแลสุขภาพ

ภัยพิบัติ
19 ก.ย. 67
11:32
321
Logo Thai PBS
ชาวบ้าน “ศรีสงคราม” ขอไม่อพยพหนีน้ำ ทหารลงชุมชนดูแลสุขภาพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจจุดวิกฤตน้ำท่วม บ้านปากอูน จ.นครพนม เจอน้ำท่วมกว่า 1.50 เมตรแล้ว แต่ประชาชนไม่หวั่นเสี่ยงเจอพายุ ยังไม่ขออพยพ มั่นใจอยู่ในบ้านปลอดภัยกว่า ด้าน ทหาร- เทศบาล พร้อมช่วยอพยพ แจ้งเตือนชาวบ้านอย่าชะล่าใจ หลังหลายครัวเรือน ตัดสินใจไม่อพยพ

วันนี้ (19 ก.ย.2567) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจบริเวณหมู่ 4 บ้านปากอูน ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม พบว่า สถานการณ์น้ำบริเวณนี้ เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน ในระดับ 1.50-2 เมตรแล้ว เกือบ 30 ครัวเรือน

ซึ่งจุดนี้เป็นผลกระทบจากน้ำ 2 สองหลายหลัก คือ น้ำอูน และน้ำสงคราม มีจุดบรรจบกันที่ใกล้กับหมู่บ้านนี้ประมาณ 500 เมตร ซึ่งน้ำสงครามเป็นแม่น้ำหลักของ อ.ศรีสงคราม ที่จะไหลออกไปยังแม่น้ำโขง แต่ปัจจุบันเจอสถานการณ์น้ำโขงที่สูงและดันเข้าสู่แม่น้ำสงคราม

ขณะเดียวกัน ในระหว่างลงพื้นที่ทีมข่าวได้พบกับ ทีมทหารจากมณฑลทหารบกที่ 210 นำโดย พล.ต.ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผบ.มทบ.210 จึงได้ลงเรือไปสำรวจพร้อมกัน โดย พล.ต.ฉัฐชัย ให้ข้อมูลว่า ทาง มทบ.210 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณจุดนี้ มาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2567 ซึ่งขณะนั้น มีระดับน้ำเริ่มท่วม 20 เซนติเมตร

หลังจากนั้นน้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็วจนถึง 18 ก.ย.2567 น้ำเพิ่มระดับรวดเร็วเป็นถึง 1 เมตร และ บางจุดมากกว่า 1.50 เมตร จึงตัดสินใจเข้าพื้นที่มาเพื่อเจรจาชวนชาวบ้าน ที่เผชิญน้ำท่วมตอนนี้ ให้ย้ายออกนอกบ้าน ไปยังจุดอพยพที่เป็นวัดใกล้เคียง

ขณะเดียวกัน ยังรองรับสถานการณ์พายุดีเปรสชัน ที่จะเริ่มเข้าไทยและมีผลกระทบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรวมถึงที่ จ.นครพนม ด้วย ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2567 เป็นต้นไป

“สำหรับการเตรียมพร้อมของทหาร มทบ.210 เราติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและพายุมาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่รับผิดชอบ ขณะนี้มีน้ำท่วมอยู่แล้ว การเตรียมอพยพคนจึงเป็นภารกิจที่ต้องเตรียมพร้อม รวมถึงการเตรียมกำลังพลไว้สนับสนุนพื้นที่ รวมถึงที่ผ่านมาได้ให้แพทย์ทหาร ลงพื้นที่ เพื่อแจกจ่ายยาสามัญให้ประชาชนสำรองไว้ ในรายที่ประสงค์ยังอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม” พล.ต.ฉัฐชัย กล่าว

นอกจากนี้ยังได้ประสานกับหน่วยงานพื้นที่ เข้ามาช่วยเคลื่อนย้ายด้านปศุสัตว์ออกนอกพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะถ้าเกิดน้ำท่วมจะทำให้การเคลื่อนย้ายยิ่งลำบาก รวมถึงการมอบถึงมอบถุงยังชีพ

ส่วนการเตรียมรับมือพายุที่มีความเสี่ยงในขณะนี้คือ การอพยพประชาชน ออกนอกพื้นที่ไปตามสถานที่พักพิงที่ทางอำเภอ-จังหวัดกำหนดไว้ และต้องเคลื่อนย้ายคนออกก่อนวิกฤตกว่านี้ เพราะหากมีปัญหาวิกฤตน้ำท่วม จะทำให้การอพยพยากขึ้น

ท่ามกลางเจ้าหน้าที่กระจายกำลังกันไปช่วยพื้นที่อื่น รวมถึงหากมีแนวโน้มน้ำท่วมสูงขึ้นแตะท่วมชั้น 2 ของบ้าน ต้องถือเป็นปัจจัยที่ต้องเข้าช่วยอพยพ แม้ตอนนี้ชาวบ้านยังตัดสินใจอยู่ในบ้านกันเป็นหลักก็ตาม

ขณะเดียวกัน ทีมข่าวไทยพีบีเอสสอบถามประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ในบ้าน ทั้งที่เกิดน้ำท่วมแล้วขณะนี้ หลายคนสะท้อนว่า แม้น้ำท่วมแต่ก็ยังรู้สึกว่า การใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน เกิดความปลอดภัยมากกว่า และน้ำที่ท่วมขณะนี้เป็นลักษณะไหลเอ่อเพิ่มขึ้นจากแม่น้ำ แต่ไม่ใช่แบบน้ำป่าทะลักหรือเขื่อนแตก ที่จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มพรวดอย่างรวดเร็ว จึงยังไม่อยากย้ายออก

ขณะที่บางคนสะท้อนว่า พายุอาจไม่รุนแรง และคิดว่าไม่น่ามีอะไรมาก คิดว่าอยู่ในบ้านน่าจะปลอดภัยอยู่มาก รวมถึงบางคนสะท้อนว่า ที่บ้านมีเด็กอยู่ หากไปอยู่นอกบ้าน ก็อาจไม่ปลอดภัยมากกว่า รวมถึงบางคนสะท้อนว่า หากออกจากบ้าน ก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน

มีชาวบ้านบางคนบอกเล่าว่า อยู่กับน้ำท่วมบ่อยแทบทุกปี จึงมีความเคยชินเมื่อเกิดน้ำท่วม และมีเรือที่ไว้ใช้ประจำในการเข้าออกอยู่แล้ว จึงไม่กังวล รวมถึงการปลูกบ้านบางหลัง ยกใต้ถุนสูง เพื่อให้ปรับสภาพรับสถานการณ์ช่วงน้ำหลากได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันทางเทศบางบ้านปากอูน ได้นำเต๊นท์มาติดตั้งไว้ด้านหน้า จุดที่น้ำไม่ท่วม เพื่อไว้สำหรับเป็นศูนย์ประสานหลัก และช่วยเหลือประชาชน รวมถึงได้จัดหาเสบียงและยาไว้แจกจ่ายประชาชน

ขณะเดียวกัน เป็นที่สังเกตว่า ในขณะที่พื้นที่นี้ประสบปัญหาน้ำท่วม ยังคงมีเด็กนักเรียน ต้องหยุดเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น และเด็กนักเรียนบางส่วนยังต้องไปเรียนโดยผู้ปกครองใช้เรือเป็นพาหนะเข้าออกบ้านที่ถูกน้ำท่วมกับพื้นที่แห้ง

อ่านข่าว : “แม่น้ำวัง” ลำปาง ลดลงจากตลิ่งแล้วเมื่อเช้านี้

น้ำท่วมหนองคายเริ่มลด แต่พบจระเข้โผล่ยาว 2 เมตร

พายุดีเปรสชันจ่อขึ้นเวียดนาม กระทบไทยฝนตกหนัก 19-23 ก.ย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง