วันนี้ (16 ก.ย.2567) เวลา 18.10 น. ทีมข่าวไทยพีบีเอส รายงานสถานการณ์น้ำโขง ที่บริเวณ ม.7 ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม พบว่าน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน ทำให้เจ้าของบ้านต้องอพยพ ย้ายข้าวของออกไปอยู่ภายนอก ก่อนน้ำจะไหลท่วม โดยชาวบ้านสะท้อนว่า ปีนี้ น้ำโขงเอ่อท่วมมากกว่าทุกปี นับจากที่เคยท่วมบ้านล่าสุดเมื่อปี 2561

ขณะที่ พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ลงพื้นที่มอบของยังชีพให้ประชาชน ขณะเดียวกันได้พูดคุยกับผู้นำชุมชน และฝ่ายเกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่ากองทัพเรือได้เตรียมพร้อมกำลังพลรองรับสถานการณ์ ตั้งแต่การป้องกันน้ำท่วมจนถึงขั้นฟื้นฟูหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ซึ่ง จ.นครพนม ยังไม่ได้เกิดน้ำท่วมเหมือนกับพื้นที่ จ.เชียงราย

ผบ.ทร.ยังได้ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันเหน็ดเหนื่อยกับประชาชน โดยเฉพาะหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ซึ่งมีทั้งกำลังพลจากสถานีเรือบ้านแพง, นรข.เขตนครพนม, นรข.ส่วนกลาง, และกองลำน้ำ กองทัพเรือ ที่มีกำลังเสริมเพิ่มอีกเกือบ 80 นาย พร้อมสนับสนุนประชาชน จากนั้น ผบ.ทร.เดินไปให้กำลังใจกำลังพลที่ประจำอยู่แนวริมน้ำโขง โดยขอให้ทำหน้าที่เต็มกำลัง และช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโขง

ผบ.ทร. ระบุว่า ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนคนไทยที่ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย และที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเริ่มเกิดน้ำท่วมในช่วงนี้ โดย จ.เชียงราย อยู่ในขั้นฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้ว ในส่วนของกองทัพเรือ ได้ส่งหน่วยซีล, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน, หน่วยรักษาฝั่ง กองบัญชาการนาวิกโยธิน ส่งรถสะเทินน้ำสะเทินบก ไปที่ จ.เชียงราย ขณะนี้อยู่ในขั้นฟื้นฟู จึงเหลือเพียงกำลังพลหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง 50 นาย ให้ความช่วยเหลือเคลียร์สิ่งของในบ้านที่พังเสียหาย รวมทั้งดินโคลนจำนวนมาก

นอกจากนี้ ได้แบ่งกำลังพลมาที่ จ.นครพนม และ จ.หนองคาย เนื่องจากระดับน้ำแม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แจ้งข้อมูลและขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา
ภาคอีสาน ทหารเรือได้เข้ามาช่วยตั้งแต่ขั้นเตรียมการ คือ ยกของ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เราป้องกันไว้ดีกว่าเสียหายแล้วแก้ไม่ทัน ประชาชนที่ต้องการให้เข้าไปช่วยก็แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ มีทั้งเรือท้องแบน รถบรรทุก

น้ำโขงเพิ่มวันละ 10-15 ซม อพยพคน-สัตว์เลี้ยง
ขณะที่นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำโขงที่ จ.นครพนม ขณะนี้ในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-15 เซนติเมตร คาดว่าอีก 2-3 วัน ระดับน้ำโขงจะคงที่ เนื่องจากน้ำจากทางเหนือที่มาจากทาง จ.เชียงราย และ จ.หนองคาย เริ่มลดลง
ส่วนแม่น้ำโขงที่เริ่มเอ่อท่วม จ.นครพนม นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมแล้วประมาณ 6 วัน โดยเริ่มจากทางโซน อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม ซึ่งพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ยังห่างตลิ่งกว่า 2 เมตรครึ่ง ถือว่ายังพอไหวอยู่
พื้นที่น้ำท่วมหนักที่สุดของ จ.นครพนม อยู่บริเวณ อ.บ้านแพง ที่ติดอยู่บึงกาฬ เป็นพื้นที่ที่เชื่อมกับแม่น้ำสงคราม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้น้ำโขงไหลดันขึ้นมา ทำให้น้ำจากแม่น้ำสงครามมไหลลงแม่น้ำโขงไม่ได้ โดยระดับน้ำที่ อ.บ้านแพง ขณะนี้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1 เมตร อยู่ในระดับที่จังหวัดเฝ้าระวังใกล้ชิด โดยได้อพยพสัตว์เลี้ยง วัว ควาย หมู ออกไปไว้พื้นที่ปลอดภัยแล้วหลายวันก่อนหน้านี้
สำหรับ อ.บ้านแพง มี 8 ครัวเรือนได้รับผลกระทบแล้ว ส่วนพื้นที่การเกษตรใน อ.บ้านแพง เสียหายค่อนข้างมาก รวมพื้นที่ 60,000 ไร่ เพราะอยู่ในลุ่มน้ำสงคราม ส่วนใหญ่ปลูกข้าว พืชไร่ ต้นไม้ และผลไม้ต่าง ๆ โดยจะสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนตามหลักเกณฑ์ของราชการ
เทศบาลเมืองนครพนม ระดับต่ำกว่าตลิ่ง 1.30 เมตร
ขณะที่ช่วงเย็นวันนี้ ผู้ว่าฯ นครพนม ได้ลงพื้นที่ใน อ.เมือง เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีระดับน้ำเอ่อล้นท่วม 3 หลังคาเรือน ใกล้กับโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ต้องไหลลงสู่น้ำโขง แต่เมื่อน้ำโขงมีระดับสูงก็ทำให้น้ำไหลย้อนขึ้นมา
ต่อมาช่วงบ่ายวันนี้ ผู้ว่าฯ นครพนม ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเรียบร้อยและความปลอดภัยของผู้ที่ใช้เรือในการสัญจร โดยเฉพาะเรือข้ามฟากข้ามไปแขวงคำม่วนของลาว ที่มีผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวลาว โดยกำชับเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์เรือ ความแข็งแรงของเรือ และเสื้อชูชีพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องพิจารณาให้หยุดเดินเรือ

สำหรับส่วนกลางได้ประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เน้นย้ำให้ทุกจังหวัด รวมถึงนครพนม เตรียมพร้อมในการแจ้งเตือนประชาชน รวมถึงการฟื้นฟูและการช่วยเหลือ
ขณะที่ข้อมูลภาพรวมจนถึงเมื่อวานนี้ ( 15 ก.ย.2567) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม รายงานผลกระทบจากอุทกภัยและน้ำโขงหนุนสูง จ.นครพนม ได้รับผลกระทบ 6 อำเภอ 25 ตำบล 157 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 11,638 คน รวม 4,500 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 60,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม

อ่านข่าว : กรมทรัพยากรธรณี เตือน 7 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังดินถล่ม-น้ำป่า