"หมอยงยุทธ" แนะดูแลสุขภาพจิต "กลุ่มเสี่ยง" สูญเสียจากอุทกภัย

ภัยพิบัติ
16 ก.ย. 67
18:04
172
Logo Thai PBS
"หมอยงยุทธ" แนะดูแลสุขภาพจิต "กลุ่มเสี่ยง" สูญเสียจากอุทกภัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต แนะเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพในกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนสูญเสียสมาชิกครอบครัว-ทรัพย์สินจากเหตุน้ำท่วม ต้องสแกนคนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน-ใส่ใจรับฟัง

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมเป็นวิกฤตใหญ่ทางธรรมชาติของไทย โดยมีบทเรียนสำคัญกับการจัดการมิติทางด้านสุขภาพ ดังนี้

สถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ยังมีบุคคลเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหาย และมีผลกระทบต่อประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น บาดแผลทางจิตใจหลังเกิดภาวะวิกฤต, โรคซึมเศร้า และวิตกกังวล รวมถึงปัญหาการใช้สุราและยาเสพติดได้ในภายหลัง

ทั้งนี้ ครอบครัว ญาติพี่น้อง และระบบบริการที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยใช้หลัก 3 ส หรือ 3L ในการปฐมพยาบาลทางใจ ได้แก่

ส 1 สอดส่องมองหา (Look) โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช

ส 2 ใส่ใจรับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือโอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ

ส 3 ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) โดยให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น น้ำ อาหาร และยา หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การจัดการด้านสุขภาพจิตในภาวะภัยพิบัตินั้น ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากทั่วโลก ว่า จะเป็นการสายเกินไปถ้าเน้นแต่การให้บริการผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่ต้องดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงภาวะวิกฤต โดยเฉพาะที่ศูนย์อพยพ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังวิกฤต ด้วยหลักการของ Public Mental Health ในภาวะวิกฤต 5 ประการ ได้แก่

1.สร้างความรู้สึกปลอดภัย ทั้งในสถานที่พักพิงและหลังจากที่กลับไปฟื้นฟูในชุมชน

2.ลดความว้าวุ่นใจ ด้วยกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ

3.สร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน

4.อาศัยความผูกพันที่มีอยู่ในระบบครอบครัวและชุมชน เช่น การให้เด็กได้อยู่กับครอบครัว หรือใช้พลัง อสม. และผู้นำชุมชนในการดูแลและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ

5.ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างมีความหวัง เช่น การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การจัดระบบความช่วยเหลือที่มาจากภายนอกให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมพลังในการฟื้นฟูสภาพบ้านและชุมชน

หากดำเนินการได้ก็จะทำให้ผ่านวิกฤตด้วยความเข้มแข็งมากขึ้น สามารถลดปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสังคมที่จะตามได้

อ่านข่าว : เร่งช่วยชีวิต "อาสากู้ภัย" รถตกถนน ระหว่างกลับจากช่วยน้ำท่วม "เชียงราย" 

อาลัย “เอส ดิ อาร์ค” อาสาฯ กู้ภัย “น้ำท่วมเชียงราย” 

น้ำโขง "หนองคาย" ลดลง 40 ซม. อีก 4 วันมวลน้ำถึงอุบลราชธานี 

จ.นครพนม น้ำโขงสูงขึ้นต่อเนื่อง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 35 ซม. 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง