ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดรายงานปม "อุโมงค์รถไฟถล่ม" หินผุกร่อน-เสี่ยงพังทลาย

เศรษฐกิจ
11 ก.ย. 67
12:03
1,015
Logo Thai PBS
เปิดรายงานปม "อุโมงค์รถไฟถล่ม" หินผุกร่อน-เสี่ยงพังทลาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะทำงานตรวจสอบกรณี "อุโมงค์รถไฟโคราชถล่ม" รายงานการศึกษาพบตั้งอยู่ในสภาพธรณีวิทยาที่ไม่เอื้ออำนวย ชั้นหินหินผุกร่อน-ไม่มีเสถียรภาพ เสี่ยงพังทลาย และมีข้อแนะนำให้ทำมาตรการลดผลกระทบ

วันนี้ (11 ก.ย.2567) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ทางรางกรณีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม และมีคนงานเสียชีวิต 3 คนว่า จุดอุโมงค์ถล่มคลองไผ่ในช่วง กม.ที่ 189+390 ถึง 189+460 ระยะทาง 110 เมตร อยู่บนเส้นทางก่อสร้างที่เป็นส่วนโค้งเบี่ยงซ้าย ตามในแบบก่อสร้างที่มีรัศมี 2,000 เมตร และอยู่บนทางลาดที่มีความชัน 6.3 มิลลิเมตร ต่อ 1,000 มิลลิเมตร หรือ 6.3%

อ่านข่าว ไขปม! ธรณีวิทยา "หมวดหินภูกระดึง" จุดอุโมงค์รถไฟถล่ม

ประกอบกับเป็นบริเวณที่มีสภาพทางธรณีวิทยาที่ไม่เอื้ออำนวยโดยรอบเป็นหินประเภท Vb (Very Poor Rock) เนื่องจากมีรอยแตกระหว่างชั้นหิน และการผุกร่อนที่รุนแรงของชั้นหินที่อ่อนแอ ซึ่งบางส่วนถูกผุกร่อนในดิน breccia และดินเหนียว และมีการผุกร่อนที่ไม่สม่ำเสมอ ค่าความดันของชั้นหินมีความไม่สม่ำเสมอ เสถียรภาพโดยรอบไม่ดี

รายงานระบุอีกว่า ในช่วงกม.ที่ 188+590 ถึง 189+460 ระยะทาง 870 เมตร ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีหินดินดานผสมกับชั้นหินทรายแป้ง (Siltstone) มีมวลหินที่แตก มีรอยแยกที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี มีมวลหินที่แตกหัก และมีหินโดยรอบเป็นหินประเภท Vb มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับปานกลางมีระดับความสูงของผิวทางในอุโมงค์อยู่ต่ำกว่า ระดับน้ำของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีชั้นดินเหนืออุโมงค์ ที่มีความบาง และมีชั้นหินแทรกซ้อนที่อ่อนแอ

มีแนวโน้มให้น้ำทะลักเข้าตัวอุโมงค์ หลังคาถล่มและหินจะตกลงมาได้ง่ายในระหว่างการก่อสร้างอุโมงค์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

ดังนั้น ต้องขุดโดยใช้กลไกเป็นหลัก เพื่อลดการรบกวนและลดความเสี่ยงต่อหินรอบๆ โดยการเสริมความแข็งแกร่งของมาตรการค้ำยัน การเสริมความแข็งแกร่งของท่อ Lock rock bolt และมาตรการอื่นๆ

อ่านข่าว K9 สี่ขาสุดแกร่ง กับภารกิจหินกู้ภัยอุโมงค์รถไฟถล่ม

เปิดรายงานลดผลกระทบอุโมงค์ถล่ม

นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวข้างต้นใน “รายงานการประเมินความเสี่ยงอุโมงค์คลองไผ่” ฉบับเดือน มิ.ย.2565 มีการกำหนดมาตรการควบคุมความเสี่ยงภัยจากการถล่ม (หลังคาอุโมงค์ถล่ม) “โดยตัวอุโมงค์สร้าง ใช้วิธีการขุดแบบ Three Bench Method 7 ขั้นตอน และแบบ Temporary Inverted Arch 3 ระดับเสริมมาตรการ เช่น การค้ำยันเบื้องต้น การติดตั้ง Lock Bolt มาตรการดังกล่าวจะต้องนำมาใช้สำหรับบริเวณที่มีหินประเภท V รอบๆ ในส่วนที่มีรอยแยกที่พัฒนาแล้ว ระยะห่างของ steel rib จะต้องลดลงอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ช่วงกม.ที่ 187+650 ถึง 189+565 (ช่วงที่ดินถล่ม) ต้องเสริมความแข็งแรงด้วยการอัดฉีดน้ำปูน  รวมทั้งบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องสร้างขึ้นตามขั้นตอนการก่อสร้างที่กำหนดไว้โดยแบบก่อสร้างอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการขยายตัวของความเสี่ยงในการก่อสร้างต่อไป

อีกทั้งในระหว่างการก่อสร้าง ต้องเพิ่มการตรวจสอบ และวัดผลระบบค้ำยัน จากการวิเคราะห์ผลการเฝ้าติดตามและการวัดสำรวจ เพื่อตรวจสอบสถานะการเคลื่อนตัวของหินโดยรอบและส่วนค้ำยันโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ การก่อสร้างจะดำเนินการได้ต่อเมื่อความเสี่ยงในการก่อสร้างได้รับการประเมิน และดำเนินการลดระดับความเสี่ยง และต้องได้รับอนุมัติโดยหน่วยงานที่ปรึกษาและหน่วยงานออกแบบอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น 

นายพิเชฐ กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาข้อมูลจากการลงพื้นที่และการรวบรวมข้อมูลด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทั้งรายงานทางธรณีวิทยา รายงานวิธีการก่อสร้างรวมถึงแบบก่อสร้าง มีความเห็นว่า

สาเหตุอาจเกิดจากความแปรปรวนทางธรณีวิทยา ทำให้บริเวณดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะหินที่มีความอ่อนแอ และไม่มีเสถียรภาพ หรือไม่มีความแข็งแรงเพียงพอทางโครงสร้าง จนอาจเกิดการพังทลายหรือการวิบัติของหินด้านบนอุโมงค์

จนทำให้การก่อสร้างอุโมงค์ในส่วนที่อยู่ระหว่างการค้ำยันส่วนบนในชั้นแรก (first lining ที่ประกอบด้วย steel ribs, reinforcement และ shortcrete) ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ และพังถล่มลงมา

อ่านข่าว ปิดภารกิจ 126 ชั่วโมง "อุโมงค์ถล่ม" พาร่าง 3 คน กลับครอบครัว

ทั้งนี้ คณะทำงานเห็นว่างานก่อสร้างอุโมงค์เป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้าง จึงเห็นสมควรให้พิจารณาป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวซ้ำ ดังนี้

  • ตรวจสอบการเคลื่อนตัวของผนังอุโมงค์  และหน้าผิว ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่ให้ผลได้ใกล้เคียง real time ที่สุด
  • ใช้เครื่องวัด multipoint extensometer ติดตั้งเหนือจุดยอดของอุโมงค์ในบริเวณ overburden ต่ำที่เป็นแบบอัตโนมัติ  เพื่อให้ได้ข้อมูลของการเคลื่อนตัวแบบเรียลไทม์ และใช้ในการเฝ้าระวัง
  • ก่อนการปฏิบัติงานในอุโมงค์ทุกครั้ง ให้มีการควบคุมและทบทวนวิธีการทำงานโดยผู้ควบคุมงานอย่างเข้มงวด และมีนักธรณีวิทยาอยู่ประจำหน้างาน เพื่อให้คำแนะนำในทุกช่วงของการก่อสร้าง
  • ในการปฏิบัติงานในอุโมงค์ทุกครั้ง ดำเนินการตามวิธีการทำงาน ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะบริเวณที่มีความเสี่ยงที่ระบุไว้ในรายงานประเมินความเสี่ยง
  • กรณีมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่างานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางโครงสร้างธรณีวิทยาที่สำคัญ เช่น รอยเลื่อน (fault zone) จะต้องมีการทบทวนวิธีการทำงานและวิธีการติดตาม ให้มีความสอดคล้องกับลักษณะทางธรณีวิทยาที่พบ

อ่านข่าว "ดินไม่ปลอดภัย" ห่วงอุโมงค์ถล่มซ้ำ ส่ง K9 ค้นหา 2 ชีวิต

นายพิเชฐ กล่าวว่า สำหรับงานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคองของสัญญา 3-2 โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกทม.-นครราชสีมา ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 77.09 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 2.71 โดยกำหนดสิ้นสุดสัญญาวันที่ 14 มิ.ย. 2568

กรณีเกิดเหตุดินถล่มภายในอุโมงค์ดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟท. สั่งหยุดงานก่อสร้างจนกว่าจะมีผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของ รฟท. ซึ่งเหตุดังกล่าว รฟท. จะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องของการดำเนินการตามสัญญา รวมถึงการขยายระยะเวลา เนื่องจากการหยุดงานในช่วงที่ผ่านมาต่อไป

อ่านข่าวอื่นๆ

"ถ้ำหลวง" จมน้ำมิด คาดแรงสุดในรอบ 13 ปี

รวมเบอร์ติดต่อ "ขอความช่วยเหลือ-แจ้งเหตุ" น้ำท่วม จ.เชียงราย

เปิดขั้นตอนเลือกรอง ปธ.สภาฯ คาด "พิเชษฐ์" นั่งรอง 1 "ภราดร" รอง 2

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง