วันนี้ (10 ก.ย.2567) แบบจำลองความคิดจากการพูดคุยกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทีมคิดนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับโครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย เพื่อป้องกันกรุงเทพจากน้ำทะเลยกตัว
โครงการนี้ถูกคิดขึ้นมา เพื่อปกป้องกรุงเทพ และ ที่ราบลุ่มภาคกลาง เนื่องจากมีการศึกษาว่าปัญหาโลกร้อนจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า จะมีน้ำทะเลท่วมสูง 3-5 เมตร
นายปลอดประสพ ยืนยันว่าทำได้หลายแบบ เช่น ที่ทำแล้วคือการสร้างคันกั้นน้ำ 1.20-1.50 ม. ที่ กทม. และ นนทบุรี หรือ ยกระดับถนนให้สูงขึ้นอีก 3 ม. เป็นคันกั้นน้ำ เช่น ถ.เพชรเกษม และ สุขุมวิท ตั้งแต่ชลบุรี-เพชรบุรี แต่คงโกลาหลน่าดู แบบถนนพระราม 2 หรือ ทำเขื่อนชายทะเล มีประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ให้เรือเข้าออกได้ แบบญี่ปุ่น แต่ก็ต้องทำหลายประตูมาก ให้ครอบคลุมแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และ คลองต่าง ๆ ที่ลงทะเล
ก็เหลือแนวคิดที่ 3 คือ การถมทะเล สร้างเกาะ และ โครงสร้างปิดอ่าว ที่เรียกว่า SEA WALL โดยได้แนวคิดมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์
แต่นายปลอดประสพ ยืนยันว่า ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องมี 9 เกาะ กี่เกาะก็ได้ และไม่ได้จำเพาะเจาะจงไปที่ บางขุนเทียน แต่ควรจะต้องมีการศึกษาร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัย และ บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญว่าทั้งโครงการควรจะมีรายละเอียดอย่างไร
ทำไมคนต้องรีบค้าน อย่างบางขุนเทียน ถ้าทำแล้วได้โฉนดที่จมน้ำกลับมา ไม่ดีหรืออย่างไร
เรื่องของเรื่องคือในระยะเกือบ 10 ปีมานี้มีการคาดการณ์ที่น่าสนใจจากหลายองค์กร หนึ่งในนั้นคือ Climate Central องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ได้เผยแพร่แบบจำลองน้ำทะเลท่วมเมือง ในปี ค.ศ.2100 หรือใน 76 ปีข้างหน้า โดยคิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยกันอยู่ในทุก ๆ วัน จะทำให้โลกร้อนขึ้น 4 องศา
กรุงเทพจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก มี 47 เขต จมบาดาล เหลือรอด แค่ สัมพันธวงศ์บางส่วน เขตบางรัก และ ปทุมวัน และ จังหวัดโดยรอบ ที่จะมีน้ำทะเลท่วมถึง คือ 3 สมุทร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก เรื่อยไปจนถึง อยุธยา สุพรรณบุรี แต่ในแบบจำลองก็มีเผื่อ ๆ ไว้ว่า ถ้ามีมาตรการลดอุณหภูมิโลกได้ พื้นที่รอดน้ำท่วมก็อาจจะมีเยอะกว่านี้
"เนเธอร์แลนด์" จะเป็นต้นแบบความคิดที่ทาบลงมายังกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเคยได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทยตอนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และ พอจะทราบมาก่อนว่า เพื่อไทย สนใจเรื่องนี้ บอกว่า คนไทยกับเนเธอร์แลนด์ มีประสบการณ์เรื่องนี้ไม่เหมือนกัน และ รัฐบาลก็ทำเรื่องนี้ต่างกัน
โดยคนไทยอาจจะมีประสบการณ์น้ำท่วมเป็นตามฤดูกาล แต่ไม่เหมือนเนเธอร์แลนด์ที่เค้าอยู่แบบเมืองต่ำจากน้ำทะเล 5 เมตร มาตลอด รัฐบาลศึกษาโครงการผ่านการพูดคุยกับประชาชน และ หลายองคาพยพที่เชี่ยวชาญ จนเรียกได้ว่า ระบบป้องกันน้ำทะเลท่วมของเนเธอร์แลนด์ เป็น วิศวกรรมทางสังคม หรือ Social Engineering
กลไกที่เนเธอร์แลนด์คิดในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วม ไม่ใช่แนวคิดทางวิศวกรรมอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการคิดทางสังคม อาจเรียกว่า Social Engineering ก็ได้
ผ่านกระบวนการที่ปรึกษาหารือ วิธีลองผิดลองถูกมา อย่างต่อเนื่องยาวนาน นี่เป็นการมองฉากทัศน์ที่มองถึงอนาคตสิ้นศตวรรษที่ 21 ปี ค.ศ.2050 หรือมากไปกว่านั้น
สิ่งหนึ่งก็คือ เราคิดวันนี้เพื่อตอบโจทย์เหตุการณ์ในอีก 50-70 ปีข้างหน้า ที่ว่าสภาพภูมิอากาศคาดเดาได้ยาก แต่ที่ยากมากกว่า คือ "การเมือง" การคิดโครงการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ยั่งยืนควรจะฝากไว้กับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งหรือไม่
แม้ว่าโครงการนี้จะเกิดหรือไม่ และต้องใช้เวลาอีกนานนับ 50 ปี ในการก่อสร้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้ มีคนในท้องถิ่นส่วนหนึ่ง ที่เริ่มกังวล ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมนุมประกาศเริ่มงานต่อต้านรัฐบาลแล้ว แต่คงจะไม่ใช่ทุกพรรคการเมือง โดยที่น้ำหนักคือการพุ่งเป้าไปที่เพื่อไทย นี่อาจเป็นโยบายใหญ่ ที่คิดใหญ่ ทำเป็น และเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้เพื่อไทย เจอเรื่องยากนอกสภา อย่างน่าขบคิด
อ่านข่าวเพิ่ม :
สะพัด! จักรภพ เพ็ญแข หวนนั่งโฆษกรัฐบาล "แพทองธาร"
“วราวุธ” ยันอนุสัญญาสิทธิเด็ก ข้อ 22 ไม่ได้ให้สัญชาติเด็กต่างชาติ