ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไปต่อไม่ไหว! ย้อนรอย "ห้างดังในตำนาน" ทยอยปิดตัว

เศรษฐกิจ
10 ก.ย. 67
07:47
7,578
Logo Thai PBS
ไปต่อไม่ไหว! ย้อนรอย "ห้างดังในตำนาน" ทยอยปิดตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากปัญหาสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ห้างดั้งเดิมทั้งใน กทม.และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ไม่สามารถสู้ต่อไปได้ ต้องปิดตัวลงหลายแห่ง ล่าสุด "ห้างตั้งฮั่วเส็ง" ที่ต้องปิดฉากลงในวันนี้

วันนี้ (10 ก.ย.2567) ปิดตำนานแล้วห้าง "ตั้งฮั่วเส็ง" หลังจากดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานถึง 62 ปี ขณะที่ ฉากปิดตำนานห้างเก่าแก่ ย่านฝั่งธนบุรี กลับไม่สวยหรู ผู้เช่าพื้นที่ ต้องเร่งเก็บสินค้า และบางส่วน ต้องยอมปรับลดราคาขายสินค้า 50-70% เพราะไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน

ด้านพนักงานบริษัทนัดแต่งชุดดำ รวมตัวชุมนุม ยื่นข้อเรียกร้อง ให้บริษัท จ่ายเงินเดือนค้างชำระ ประมาณ 100 คน พร้อมเงินชดเชยเยียวยา กรณีเลิกจ้างกะทันหัน

หลังจากบริษัท ค้างชำระเงินเดือนเต็มจำนวน มาตั้งแต่ปี 2565 และขอความร่วมมือพนักงาน ให้รับเงินเดือน คราวละ 1,300 บาท เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง พร้อมกับรับคูปองซื้ออาหาร หรือ ของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตแทน

จนกระทั่ง บริษัท ค้างชำระหนี้การไฟฟ้าฯ ตั้งแต่ปี 2563 และจะถูกตัดไฟ ในปีวันที่ 10 ก.ย.2567 ห้างจึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ส่งผลให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้เช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังค้างชำระเงินสมทบประกันสังคม ส่งผลให้ พนักงาน ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิเงินชดเชยจากการว่างงาน รวมทั้ง สิทธิสวัสดิการอื่นๆได้เลย

สำหรับ "ตั้งฮั่วเส็ง" ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2505 เริ่มดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว จำหน่ายสินค้าอุปกรณ์เย็บปักถักร้อย ก่อนขยายมาเป็นแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย ในช่วง 10 ปีต่อมา

ปี 2534 ขยายสาขาจากสาขาแรกที่อยู่แถวบางลำพู มาเป็นสาขา 2 บนถนนสิรินธร ย่านบางพลัด เป็นอาคารพาณิชย์ 10 ชั้น มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร ถือได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัย แห่งหนึ่งในย่านบางพลัด 

แม้ "ตั้งฮั่วเส็ง" จะมีการปรับเปลี่ยนโฉม แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกับห้างสรรพสินค้าที่เกิดขึ้นแบบรายล้อม และยังตอบโจทย์ของพฤติกรรมของผู้บริโภค และคนรุ่นใหม่ได้ จึงทำให้ต้องปิดตัวลงในที่สุด  

ทั้งนี้ตั้งฮั่วเส็ง ขาดทุนต่อเนื่อง โดยมีผลประกอบการดังนี้

  • ปี 2560 รายได้รวม 892.86 ล้านบาท ขาดทุน 122.47 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 827.34 ล้านบาท ขาดทุน 28.88 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 792.10 ล้านบาท ขาดทุน 93.52 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 613.58 ล้านบาท ขาดทุน 49.30 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 409.74 ล้านบาท ขาดทุน 43.78 ล้านบาท

อ่านข่าว : ขีดเส้น 30 ก.ย. พนง.ตั้งฮั่วเส็ง ร้องจ่ายค่าจ้างค้าง-ชดเชย

ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกของการปิดฉากของห้างใหญ่ๆ จากหลากหลายเหตุผล

ศูนย์การค้าชื่อดังตำนานเมืองเชียงใหม่

หากย้อนไป เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ได้ประกาศปิดกิจการลง หลังเปิดกิจการมานานกว่า 30 ปี  โดยเมื่อปี 2562 ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว เริ่มมีปัญหาสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หลังมีห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่หลายแห่ง ทำให้ขาดทุนสะสมกว่า 184 ล้านบาท ต่อมาได้รับผลกระทบโควิด-19 ซ้ำเติม จนทำให้ต้องปิดตัวไป 

"พรอมเมนาดา" กับการลงทุนกว่า 2,800 ล้านบาท

ห้างพรอมเมนาดา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม 24 แปลง ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า ราคา 2,058 ล้านบาท ซึ่งเริ่มประมูลนัดแรก วันที่ 21 ต.ค.นี้

"พรอมเมนาดา" เชียงใหม่ เป็นศูนย์การค้ารูปแบบยุโรป-สัญชาติเนเธอร์แลนด์ แห่งแรกในเอเชีย มีเงินลงทุนกว่า 2,800 ล้านบาท เปิดให้บริการ เมื่อเดือน มิ.ย.2556 ตั้งแต่เปิดบริการพบว่าผู้ใช้บริการไม่เป็นไปตามเป้า ต่อมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยอดคนใช้บริการ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จากหลักหมื่นคนต่อวัน เหลือเพียงหลักพันคนต่อวัน กระทั่งขาดสภาพคล่อง และปิดกิจการในวันที่ 5 พ.ค.2565

"เมอร์รี่คิงส์" ชื่อคุ้นหูมานานกว่า 30 ปี 

"เมอร์รี่คิงส์" เป็นอีกห้างสรรพสินค้า ที่ชื่อคุ้นหูมานานกว่า 30 ปี ก่อตั้งเมื่อปี 2520 มี 6 สาขา ในกรุงเทพฯและชานเมือง สาขาสุดท้ายปิดกิจการ เมื่อปี 2554 ส่วนสาขาที่ผู้คนอาจเคยเห็นคือ เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ ปัจจุบันยังมีอาคารอยู่ เป็นอาคาร 7 ชั้น พื้นที่กว่า 1 ไร่ สาขานี้เปิดบริการตั้งแต่ปี 2529 และปิดกิจการเมื่อปี 2550

ช่วงที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้าของประกาศขาย ราคากว่า 550 ล้านบาท อนาคตคาดว่าอาจมีผู้สนใจพัฒนาย่านนี้ เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อถึง 2 สาย

มั่นใจห้างปิดตัวกลับฟื้นได้อีก

นายธนินท์รัฐ ภักดีภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก และบริหารศูนย์การค้า วิเคราะห์ว่า ห้างตั้งฮั่วเส็ง ที่ต้องปิดตัวลง เป็นเพราะว่า คงรูปแบบศูนย์การค้าแบบเดิม ที่เน้นเพียงกลุ่มลูกค้าสูงวัย กลุ่มเย็บปักถักร้อย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ๆ ซึ่งการบริหารธุรกิจค้าปลีกนั้นต้องพยายามจับกลุ่มลูกค้าให้ได้ทุกกลุ่ม

"ไม่ว่าจะเป็นตั้งฮั่วเส็ง พรอมเมนาดา กาดสวนแก้ว ธุรกิจค้าปลีก ศูนย์การค้าเก่าแก่ ที่ล้มหายตายจากไป ล้มหายตายจากไปด้วยสภาพทางธุรกิจ ด้วยการไม่ปรับตัว ไม่ได้ปรับวิธีการจัดการให้ทันสมัย ยังยืนยันว่าธุรกิจนี้ไปต่อได้ ยังมีอนาคต มีแนวโน้มที่ดี คนที่อยู่ต่างจังหวัดยังขึ้นคอมมูนิตี้มอลล์ได้"

ทั้งนี้นายธนินท์รัฐ ยัง มั่นใจว่าห้างที่ปิดตัวไปแล้วทั้ง กาดสวนแก้ว ตั้งฮั่วเส็ง ยังสามารถกลับมาให้บริการ และ เป็นที่นิยมได้ แต่ต้องร่วมทุนกับ กลุ่มศูนย์การค้าฯ ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพ

อ่านข่าว :

ทุนยักษ์-ห้างค้าปลีกแข่งดุเดือด ใครยังรอด?

ใช้จ่ายเกินรายได้-ติดหรู สู่การก่อหนี้ครัวเรือนพุ่ง

"Spot Check" ช่องโหว่ส่วยทางหลวง

พิษโควิด! "ห้างฯ กาดสวนแก้ว" ประกาศปิดชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง