วันนี้ (4 ก.ย.2567) เจ้าหน้าที่กรมชลประทานลงพื้นที่ติดตามจุดวัดระดับน้ำ ซึ่งติดตั้งอยู่ในชุมชน ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยาจะสัมพันธ์กับระดับน้ำในชุมชน หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ เป็นผลทำให้น้ำในคลองบางหลวง แม่น้ำน้อย เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
เจ้าหน้าที่ กล่าวว่า ขณะนี้เพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ท้ายเขื่อนระดับน้ำเพิ่มขึ้น 18 เซนติเมตร ขณะที่ชาวบ้านบอกว่า พื้นที่ที่เป็นจุดรับน้ำทุ่งบางบาล นอกจากระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นตามการระบายของกรมชลประทานแล้ว พวกเขาต้องอยู่ในสภาพถูกน้ำท่วมนานกว่าพื้นที่อื่น แต่ละปีถูกน้ำท่วมนานถึง 3 เดือน
ส่วนที่หมู่ 4 ต.วัดตะกู อ.บางบาล ชาวบ้านถูกน้ำท่วมเข้าสู่วันที่ 4 โดยน้ำเข้าท่วมใต้ถุนบ้านสูงกว่า 1 เมตร นอกจากนี้ยังท่วมถนนในชุมชน ทำให้เป็นอุปสรรคในการเดินทางและระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องกางเต็นท์บนถนนเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับอพยพ หลังกรมชลประทานแจ้งเตือนให้ อ.บางบาล เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องรับมือกับระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา
สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมจากนี้ เพราะมีทุ่งรับน้ำถึง 6 ทุ่ง คือ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งบางกุ่ม โดยทุ่งรับน้ำทั้ง 6 ทุ่งกินพื้นที่ครอบคลุม 12 อำเภอจากทั้งหมด 16 อำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา ดังนั้นจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นผลจากการระบายน้ำ กินพื้นที่เป็นวงกว้าง
อ่านข่าว
สทนช. จับตาพายุ "ยางิ" เตือนใต้เขื่อนเจ้าพระยารับมือน้ำท่วม
อัปเดตสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนกันยายน 2567 เงินเข้าวันไหน
หวั่นน้ำท่วม ทำเศรษญกิจพัง 8 พันล้าน กกร.จ่อยื่นรัฐช่วยแก้วิกฤต