ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อัปยศ! ศาลฯ รับฟ้องอดีต ขรก.ระดับสูง เอี่ยวช่วยคดี "บอส อยู่วิทยา"

อาชญากรรม
2 ก.ย. 67
11:35
4,344
Logo Thai PBS
อัปยศ! ศาลฯ รับฟ้องอดีต ขรก.ระดับสูง เอี่ยวช่วยคดี "บอส อยู่วิทยา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับแต่เกิดคดี "บอส อยู่วิทยา" ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555  เวลาผ่านไปนาน 12 ปี  และถือเป็น 1 ในหน้าประวัติศาสตร์ หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และนาย เนตร นาคสุข กับพวกรวม 8 คน หลังอัยการนัดส่งฟ้องในคดีที่ พนักงานอัยการยื่นฟ้อง ตามมติของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ส่งมา ในกรณีเปลี่ยนแปลงสำนวน และลดความเร็วรถของนาย วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา เมื่อวันที่ 29ส.ค.2567 ที่ผ่านมา

แทบไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะรับฟ้องร้องข้าราชการระดับสูง ที่เป็นตำรวจและอัยการ ด้วยการกล่าวหาว่า ใช้อำนาจและหน้าที่ช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์ทางคดีอาญา ให้กับเครือข่าย ทั้งที่บทบาทหน้าที่ คือ ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งควรเป็นที่พึ่งของประชาชน

คลี่แฟ้มคดี มหากาพย์ "บอส อยู่วิทยา"

เช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555 บุตรชายคนเล็กของครอบครัวมหาเศรษฐีระดับโลก ที่ร่ำรวยจากธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถยนต์หรู บนถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าสู่คฤหาสน์หรู ในซอยสุขุมวิท 53 แต่เมื่อถึงช่วงปากซอยสุขุมวิท 49 กลับพุ่งชนเข้าท้ายรถจักรยานยนต์ ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เข้าอย่างแรง และไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ

ตรงกันข้าม นายวรยุทธ ขับขี่รถไปต่อ ทั้งที่ร่างของดาบฯ วิเชียร ติดอยู่กับรถ เป็นเหตุให้ร่างของดาบฯ วิเชียร ถูกพบอยู่ห่างจากจุดที่ชนห่างออกไปไกลถึง 164.45 เมตร

ตำรวจพบนายวรยุทธ จากการแกะรอย ตามคราบน้ำมันที่ถูกพบเป็นทาง จากจุดเกิดเหตุเรื่อยไปจนถึงหน้าบ้านหลังหนึ่ง ในซอยสุขุมวิท 53

แต่แม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่า เป็นผู้กระทำผิด ขับขี่รถชนคนตาย แต่ตำรวจ ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบภายในบ้านได้

กระทั่ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในขณะนั้น ต้องเดินทางมาคลี่คลายสถานการณ์ด้วยตัวเอง และประตูบ้านหลังใหญ่ก็ถูกเปิดออก ภายหลัง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เข้าไปเจรจา สักพัก นายวรยุทธก็ถูกพาตัวไปยัง สน.ทองหล่อ พร้อมทนายความ ในสภาพที่ยังคล้ายคนมึนเมา

คงไม่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น หากผู้ก่อเหตุเป็นประชาชนทั่วไป  ในเวลาต่อมา แม้ นายวรยุทธ จะถูกนำตัวไป สน.ทองหล่อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี แต่ก็ยังมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น

ตลอดการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ทั้งการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ การตรวจสารเสพติดร่างกาย ที่ไม่ได้ทำทันทีและนายวรยุทธ ยังได้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนอีกด้วย ซึ่งในวันนั้น ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และต่อมาถูกแจ้งเพิ่ม ในข้อหาเมาแล้วขับ และข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หลังผลการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและผลตรวจของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ระบุความเร็วของรถ ขับขี่มาด้วยเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อหานี้ คือจุดเริ่มต้น ของ ขบวนการช่วยเหลือทางคดี โดยกลุ่มตำรวจและพนักงานอัยการหลายคน ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในตำแหน่ง

"บอส" หลบหนี คดียังไม่จบ

การตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ความผิดของขบวนการนี้ ใช้เวลายาวนานหลายปี กระทั่ง 29 ส.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับฟ้องคดี โดยมีจำเลย 8 คน

ในคำฟ้องของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 มี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเป็นคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1, พล.ต.ท.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข อดีตผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน เป็นจำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 3 คือ พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี อดีตพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ, นายชูชัย หรือ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง คนใกล้ชิด พล.ต.อ.สมยศ ตกเป็นจำเลยที่ 4

ขณะที่นายธนิต บัวเขียว ทนายความ คือ จำเลยที่ 5 นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส จำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 7 คือ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านความเร็วรถ, นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 8

เปิดคำบรรยายฟ้องโยง จนท.รัฐมีเอี่ยว

คำบรรยายฟ้องโดยย่อ เมื่อระหว่างวันที่ 29 ก.พ.2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 มิ.ย.2563 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 8 ได้กระทำความผิด

จำเลยที่ 1-3 ได้อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกับจำเลยที่ 4-7 สมคบกันกระทำผิดด้วยการวางแผนร่วมกันเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์คัน ที่นายวรยุทธ ขับขี่ จากความเร็วของรถยนต์ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ลงวันที่ 26 ก.ย.2555 ซึ่งมี พ.ต.อ. ธ. เป็นผู้จัดทำ รายงานไว้ว่า

รถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่มีความเร็วโดยเฉลี่ย 177กม./ชม. มีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือ น้อยลงประมาณ 17กม./ชม. ให้เป็นความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ตามที่ได้วางแผนกัน

โดยให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม ครั้งที่ 9 ต่อพนักงานอัยการในคดีที่นายวรยุทธเป็นผู้ต้องหา ขอให้สอบพยาน พ.ต.อ. ธ. ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์ เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.อ. ธ. ตามที่ร้องขอ จำเลยที่ 5 - 6 ได้ประสานจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการคิดวิธีคำนวณความเร็วของรถยนต์ ให้มีความเร็ว ไม่เกิน 80 กม./ชม.

ซึ่งจำเลยที่ 7 ได้คิดค้นหาวิธีคำนวณ โดยใช้วิธีนำความยาวของรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่แล่นผ่านจุดใดจุดหนึ่งตามภาพที่ได้จากคลิปไฟล์ภาพ ที่ไม่ใช่ไฟล์ภาพต้นฉบับ มาใช้คำนวณจนทำให้คำนวณความเร็วรถ ได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. อันเป็นการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก

จากนั้นจำเลยที่ 3 อาศัยโอกาสที่ตนเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.อ. ธ. ตามคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานอัยการ

โดยนัดแนะและให้จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 7 เข้าร่วมการสอบปากคำดังกล่าวด้วย จากนั้นในขณะการสอบปากคำเพิ่มเติมจำเลยที่ 3 ได้ปล่อยให้จำเลยที่ 7 ได้แสดงวิธีคิดคำนวณความเร็วรถยนต์ตามที่ได้นัดแนะกับจำเลยที่ 5-6 ให้ พ.ต.อ. ธ. ดูเพื่อโน้มน้าว พ.ต.อ. ธ. ให้เชื่อคล้อยตามวิธีคิดคำนวณของจำเลยที่ 7 ที่ตระเตรียมมา

จำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ. ธ. อาศัยโอกาสที่มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 4-5 ทำการใช้อิทธิพลบังคับกดดันและโน้มน้าว พ.ต.อ. ธ. ให้ยึดถือวิธีการคิดคำนวณตามที่จำเลยที่นำเสนอ

โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำการพูดในขณะร่วมสนทนาและสอบปากคำว่า

"สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับคุยน้องมันไว้ ก็คือน้องเนี่ยคำนวณจากระยะ แล้วก็ออกมาเป็นความเร็ว ความเร็วที่คิดมันคิดจากทฤษฎีที่เป็นทฤษฎีที่คิดในห้องทดลอง ห้องทดลองก็จะอากาศเบาบาง คือมันพยายามให้คิดความเร็ว เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อการทำมาร์เก็ตติ้งความเร็วเท่าไหร่ เร่งเท่าไหร่ แต่ว่าในความเป็นจริง ในทัศนวิสัยเช่นว่า ยามเช้าอากาศหนักอะไรอย่างเนี่ย ความเร็วไม่เป็นไปตามทฤษฎี นี่คือสิ่งที่ผมคิดนะ

อย่างที่สองคือระยะทางที่ใช้คำนวณหน้ากล้องหลังกล้อง ความเร็วอาจจะเปลี่ยน อาจจะเร็วขึ้นก็ได้ อาจจะลดลงก็ได้ลดลงเพราะว่า ทัศนวิสัยการจราจรอะไรก็แล้วแต่ที่มันอยู่ข้างหน้า ซึ่งในกล้องมันไม่ปรากฏ นี่ผมคิดในมุมมองผมแบบนี้"

กับ ให้ พล.ต.ท. ม. ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจพิสูจน์หลักฐาน ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ. ธ. พูดกับ พ.ต.อ. ธ. ว่า

"ทางพี่ อ. (ซึ่งหมายถึงชื่อเล่นของจำเลยที่ 1 ) เค้าอยากให้จบในชั้นอัยการเค้าจะได้จบเลยจะได้ไม่ต้องสืบ"

ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บริหารมีหน้าที่ต้องตรวจสอบถึงความบกพร่องของรายงานตรวจพิสูจน์หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจริงรวมถึงตรวจสอบการคิดคำนวณตามวิธีของจำเลยที่ 7 ซึ่งใช้ไฟล์ที่มิใช่ต้นฉบับ อันเป็นข้อสงสัยถึงวิธีการคิดคำนวณว่า มิได้อยู่บนรากฐานของความถูกต้อง

แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบและได้พูดว่า

"เราคำนวณตามอาจารย์ (ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 7 ) ได้มั้ย อาจารย์คิดได้ 79.22 เราไปลองดูซิว่าคิดตามแบบเค้าได้ไหม"

สอดคล้องกับจำเลยที่ 4 ที่พูดว่า "อยากขอให้เป็น 79.22 ตามที่ อาจารย์ ส. คำนวณ"

ซึ่งพฤติการณ์ทั้งมวลนี้แสดงถึงเจตนาประสงค์จะหักล้างหลักฐานตามที่ พ.ต.อ. ธ. ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความเร็วรถยนต์ไว้ โดยใช้อิทธิพลบังคับกดดันให้ พ.ต.อ. ธ. เชื่อและยอมที่จะให้การเปลี่ยน แปลงความเร็วรถยนต์คันที่นายวรยุทธขับขี่ เป็นเหตุให้

พ.ต.อ. ธ. ต้องจำยอมและให้การต่อจำเลยที่ 3 เปลี่ยนแปลงวิธีคิดคำนวณความเร็วรถยนต์จากเดิมที่คิดคำนวณไว้ความเร็วที่ 177 กม./ชม. ความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลง 17 กม./ชม. มาเป็นให้การว่า การคำนวณดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อนและทำการคำนวณความเร็วใหม่ได้ความเร็วรถยนต์ 79.22 กม./ชม. ดังที่จำเลยที่ 7 นำเสนอ

จากนั้นจำเลยที่ 3 โดยคำแนะนำของจำเลยที่ 4 ได้จัดทำคำให้การพร้อมกับทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันที่ให้การโดยคำให้การฉบับแรก จากวันที่ 29 ก.พ.2559 เป็นวันที่ 26 ก.พ.2559

และคำให้การฉบับที่สองจากวันที่ 6 มี.ค. 2559 มาเป็น 1 มี.ค.2559

ให้ พ.ต.อ. ธ. ลงลายมือชื่อ เป็นหลักฐานเพื่อนำส่งให้แก่พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป

ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณารายงาน ผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนนายวรยุทธ ขอความเป็นธรรม กรณีการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ ต่อคณะกรรมาธิการๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา จำเลยที่ 1 ควรใช้อำนาจรวบรวมข้อเท็จจริง พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องร้องเรียน โดยไม่มีการชี้ขาดหรือเลือกปฏิบัติ

แต่จำเลยที่ 1 กลับอ้าง ข้อมูลในเหตุการณ์สอบปากคำเพิ่มเติม พ.ต.อ. ธ. มิชอบดังกล่าวที่ตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยเพื่อสนับสนุนการร้องขอความเป็นธรรมให้กับนายวรยุทธ

การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1-7 จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยมีเจตนามุ่งเพื่อจะช่วยเหลือนายวรยุทธ ผู้ต้องหาซึ่งถูกกล่าวหากระทำผิดฐาน ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง อันเป็นการมิชอบต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ. ธ., ญาติของ ด.ต.วิเชียร ผู้ตายและบุคคลหรือประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ส่วนจำเลยที่ 8 ขณะนั้นเป็นพนักงานอัยการ รักษาการตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ได้อาศัยโอกาสที่ตนได้รับมอบหมายและมอบอำนาจ ให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ในงานด้านคดีร้องขอความเป็นธรรม ตามคำสั่งอัยการสูงสุดที่ 1515/2562 ลงวันที่ 1 ต.ค.2562 มีอำนาจพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม ที่ยื่นต่อพนักงานอัยการเป็น ครั้งที่ 14 ในคดีที่นายวรยุทธ ผู้ต้องหา ในข้อหาความผิดขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พล.อ.ท. จ. และ นาย จ. เมื่อได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติม

จำเลยที่ 8 ได้ใช้อำนาจวินิจฉัย สั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ

ชั้นไต่สวน จำเลยทั้ง 8 ปฏิเสธ ข้อกล่าวหา

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้พิจารณา เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 131/ 2567 ให้จำเลยทั้งแปดแต่งทนายความ และให้นัดสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 10 ก.ย.2567 เวลา 09.30น.

จำเลยทั้ง 8 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลฯ กำหนดเงื่อนไขมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้ง 8 ออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

คดีนี้ เพิ่งเริ่มต้น ศาลฯ ยังมิได้มีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาด จึงถือว่า จำเลยทั้ง 8 คน ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ 

ส่วนคดีต้นเรื่อง ที่มีนายวรยุทธ เป็นผู้ต้องหา ปัจจุบันเหลือเพียง 1 คดีที่ยังอยู่ในอายุความ คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแความตาย ซึ่งจะหมดอายุความในปี 2570 และนับจากเกิดคดีความขึ้นเมื่อปี 2555 เรื่อยมาจนถึงนาทีนี้ นายวรยุทธ ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศในฐานะทายาทมหาเศรษฐีโลก

รายงานโดย : พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมไทยพีบีเอส

ข่าวเกี่ยวข้อง

ศาลให้ประกัน "สมยศ" คดีช่วย “บอส” นัดสอบคําให้การ 10 ก.ย.

เตรียมส่งฟ้อง “สมยศ-พวก” ช่วยเหลือคดี “บอส อยู่วิทยา” 29 ส.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง