ทีทีบี ชี้ขาลง “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย” แนะเร่งปรับตัวหนีคู่แข่ง

เศรษฐกิจ
29 ส.ค. 67
15:45
297
Logo Thai PBS
ทีทีบี ชี้ขาลง “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย” แนะเร่งปรับตัวหนีคู่แข่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ชี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเข้าสู่ขาลง แนะภาครัฐ-เอกชนเร่งปรับตัวหาตลาด ลดต้นทุนการผลิต สร้างเอกลักษณ์ไทย หนีคู่แข่งด้านราคา

วันนี้ (29 ส.ค.2567) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่กำลังถูกท้าทายด้วยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองตลาดในปัจจุบันได้เร็วกว่าและมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำกว่า ซึ่งหากไทยไม่เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตจากแบบดั้งเดิม (Traditional) ที่เป็นอยู่ โดยเพฉพาะเรื่องราคาจากผู้ประกอบการต่างชาติ รวมถึงยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจส่งผให้อุตสาหกรรมสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีต่อเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปี2565 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจสูงถึง 4.17 แสนล้านบาทและเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) มีการจ้างงานที่สูงถึง 4 แสนตำแหน่ง หรือ 10% ของแรงงานในภาคการผลิต

แต่ปัจจุบันสัญญาณการถูกลดบทบาทจากการที่ไทยเป็นเพียงฐานะการรับจ้างผลิตสะท้อนผ่านมูลค่าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2566 ปรับตัวลง 5.9% เหลือเพียง 3.92 แสนล้านบาท และในปี 2567 แม้การหดตัวจะลดลงอยู่ที่ 1.42% ที่มูลค่า 3.86 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นผลจากภาคส่งออกในรูปแบบค่าเงินบาทที่ช่วยพยุงในช่วงครึ่งปีแรก

จากข้อจำกัดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ยังรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer : OEM) แบรนด์แฟชั่น Hi-Street รวมถึงผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) ผ่านแบรนด์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงที่ปกป้องอุตสาหกรรมจากการเน้นเรื่องคุณภาพการผลิต มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องของต้นทุน

ttb analytics วิเคราะห์ว่า สัญญาณเตือนที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเริ่มมีบทบาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มรับจ้างการผลิตในตลาดกลุ่ม Hi-Street Fashion ที่ไปยังแหล่งต้นทุนต่ำ ซึ่งการการย้ายฐานการผลิตทำให้ได้เปรียบจากต้นทุนที่ถูกลง โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยอยู่ที่ 255 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น บังกลาเทศ และเวียดนาม เริ่มต้นที่ 114 และ 195 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 65-70% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดหดตัวกว่า 13.1%

ในขณะที่ภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศที่ถูกยกระดับการเป็นฐานการผลิตใหม่ในรูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เช่น บังกลาเทศและเวียดนามกลับมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 20.2% และ 45.3% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา

ttb analytics มองว่า กระแส Fast Fashion ที่มาแรงในขณะนี้ส่งผลกระทบตลาด Mass Marketingที่กดดันให้การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยต้องตอบสนองพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเปลี่ยนโฉมการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นรูปแบบการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital Intensive) จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์

โดยโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสามารถมีกำลังการผลิตต่อ 1 โรงงานได้มากกว่า 100,000 ตัวต่อวัน สามารถตอบสนองความต้องการระยะสั้น ๆ ที่เข้ามาทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง

ดังนั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ที่ส่วนใหญ่ยังจัดอยู่ในกลุ่มรับจ้างผลิตสินค้าในระดับแค่ Hi-Street Fashion รวมถึงในกลุ่มผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ผ่านตราสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นกำแพงที่ทำให้เกิดผลกระทบจากการแข่งขันด้านต้นทุนและป้องกันการลอกเลียนแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยยังเผชิญกับแรงกดดันอันลดทอนศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก

ฐานการผลิตที่ตอบสนองสินค้าคนรุ่นใหม่มักกระจุกตัวในจีน ที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมสูงและข้อได้เปรียบที่จีนเป็นเจ้าของ Platform การค้าออนไลน์ที่คาดการณ์เทรนด์การสั่งซื้อ และพฤติกรรมของผู้ซื้อได้อย่างแม่นยำจึงเป็นแรงกดดันกับอุตสาหกรรมไทย

อย่างไรก็ตาม ttb analytics มองว่า ทางรอดสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย คือ ผู้ประกอบการต้องกำหนดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนที่เหมาะกับสินค้าผ่านเอกลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดีไซน์ รูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงคุณภาพสินค้าได้ และขยายธุรกิจได้ในเวลาเดียวกันผ่านกลยุทธ์ทางราคา

การเน้นคุณภาพให้สูงจะเป็นกำแพงป้องกันการตีตลาดจากฝั่งผู้ประกอบการต่างชาติที่เน้นเรื่องต้นทุนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังมีพื้นที่ขายตลาดกลุ่ม Mass ที่แข่งขันในเรื่องต้นทุนมากกว่าเน้นเรื่องคุณภาพ

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทย ควรพยายามพัฒนาบทบาททางเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตและจะทำให้ลดช่องว่างความเสียเปรียบด้านต้นทุนให้แคบลงที่สุด เนื่องจากหากต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าระดับหนึ่ง เช่น ต่ำกว่า 50% นโยบายภาษีของภาครัฐอาจไม่ส่งผลเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ เนื่องจากต้องยกระดับถึงการเก็บภาษีกว่า 100% จึงจะช่วยลดแต้มต่อจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในจำนวนนั้น ๆ ได้

ดังนั้น ผู้ประกอบในประเทศควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้มีกรอบที่แคบลงเพียงพอที่ภาครัฐจะสามารถใช้นโยบายภาษี เพื่อลดความเสียเปรียบนั้นได้อย่างสมเหตุสมผล

อ่านข่าว:

“ภูมิธรรม” เร่ง “ขันน็อต” เคาะ 5 มาตรการ สกัดสินค้ามาตรฐานต่ำ

 สภาพัฒน์ฯชี้ "สังคมศาสตร์" เสี่ยงตกงานสูง แนะเพิ่มทักษะ AI

ส่งออกเดือน ก.ค. ขยายตัว 15.2% สูงสุดในรอบ 28 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง