“แม้เหลือคนเดียว ผมก็จะอยู่ ไม่มีปัญหา”
เป็นส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2567 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง
หลังแสดงความเห็นชัดเจน ไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยากเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
นายชวนบอกว่า ผมขอยืนอยู่ที่เดิม แม้มีคนในพรรค บางกลุ่มอยากไปร่วม ซึ่งคนที่อยากเป็นรัฐบาลไม่ผิดอะไร แต่ผมเป็นคนรณรงค์กับพี่น้องปักษ์ใต้เองว่า อย่าเลือกพรรคไทยรักไทย อย่าเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเขามีนโยบายเลือกปฏิบัติแกล้งพวกเรา เขาบอกว่า จะพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเขา จังหวัดอื่นไว้ที่หลัง
ทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่มี สส.แม้แต่คนเดียว ขณะที่ภาคอื่น ๆ ได้มาอย่างท่วมท้น บัดนี้ผมจะมาร่วมรัฐบาล ที่ผมบอกว่าไม่ให้เลือก เท่ากับทรยศต่อประชาชน ขออนุญาตที่จะไม่เห็นด้วยในการไปร่วม
นอกจากนี้นายชวนยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า กลัวถูกขับออกจากพรรคหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า “ผมไม่ไป มีคนอื่นออกไปจากพรรคหลายคน เสียดาย แม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก็ยังมีความผูกพันอยู่ ยังพบกันอยู่ประจำ ที่ท่านตัดสินใจลาออก เพราะไม่สามารถที่จะเจรจาตกลงกันได้ แต่ผมอยู่ แม้เหลือผมคนเดียว ผมก็จะอยู่ ไม่มีปัญหา”
ความชัดเจนของนายชวนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ครั้งแรก แต่สิ่งที่นายชวนปฏิบัติก็ชัดเจนเสมอมา นับตั้งแต่การอภิปรายกรณีรับจำนำข้าว จนเกิดการดำเนินคดีอดีตสมาชิกพรรคไทยหลายคน
กระทั่งล่าสุด นายชวน ในวัย 86 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา 2 สมัย เป็น สส.มาแล้ว 17 สมัย ลงมติ “งดออกเสียง” ให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
วันเดียวกัน (26 ส.ค.2567) สุทธิชัย หยุ่น ขอสัมภาษณ์นายชวน ในรายการออนไลน์ Sutthichai Live นายชวนให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนอีกครั้งว่า ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาล
วันนั้นมติพรรคก็ไม่ได้เลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของผม เพราะผมเป็นคนรณรงค์ ไม่ให้ประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเลือกปฏิบัติกับประชาชนในภาคใต้ว่า พัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกเขา จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง ซึ่งในแง่ความเป็นธรรมถือเป็นเรื่องร้ายแรง
รุ่งขึ้น (27 ส.ค.2567) กระแสการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทยหนาหูขึ้น และเริ่มชัดขึ้นเมื่อพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย แสดงความขัดแย้งกัน โดยมีเสียงออกมาว่า ไม่เอาพลังประชารัฐ แต่เตรียมเทียบเชิญประชาธิปัตย์มาแทน 2 เก้าอี้ คือ รัฐมนตรีว่าการ 1 กับรัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 1
ชวนให้สัมภาษณ์ว่า ในพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีใคร หรือกรรมการบริหารพรรคคนใด มาพูดเรื่องนี้กับตน หรือในการประชุม สส.พรรค ก็ไม่เคยมีใครมารายงาน ว่าจะดำเนินการอะไรบ้าง
ผมบอกตรง ๆ ไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะว่าเป็นเรื่องโกรธแค้นกับใคร แต่เป็นเพราะผมรณรงค์ว่า ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจน จะพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกพรรคเพื่อไทยก่อน จังหวัดอื่นเอาไว้ทีหลัง ภาคใต้จึงได้รับผลกระทบ แม้กระทั่งการซ่อมถนนก็ยังมีการแกล้งกัน
ตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ถนนภาคใต้ได้รับงบประมาณสร้างเพียง 12 % ตลอด 8 ปี ที่เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย น้อยที่สุดกว่าทุกภาค นี่คือเรื่องจริง ที่ไม่มีใครเอามาพูดบอกประชาชน แม้แต่สื่อก็ลงข่าวน้อย
ส่วนที่มีข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะขับออกจากพรรค นายชวน กล่าวว่า ยืนยันว่า ตอนนี้ยังไม่ขับ แต่สมาชิกที่ละเมิดมติพรรคต่างหาก ที่จะถูกสอบวินัย
คนที่ละเมิดมติพรรคมีอยู่หลายคน ตั้งแต่สมัยโหวตเลือกนายเศรษฐา ที่มี สส.กลุ่มหนึ่งโหวตเห็นชอบ ทั้งที่มติพรรคให้งดออกเสียง ส่วนผมยึดปฏิบัติตามมติพรรค คือไม่รับ และขอแถลงชัดเจนว่า ไม่เห็นชอบ และได้ให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจน ที่ประชุมก็ไม่ได้ว่าอะไร
ส่วนที่บอกว่า หากร่วมรัฐบาลจะทำให้ สส.ภาคใต้ของพรรคอาจสูญพันธุ์ นายชวน กล่าวว่า บุคคลที่ชัดเจนว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลมี 4 คน คือ ตน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ส่วน สส.คนอื่น ๆ ตนไม่แน่ใจ แต่การเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องผ่านกระบวนการมติพรรค
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (28 ส.ค.2567) บรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาล เป็นที่คึกคัก เมื่อพรรคเพื่อไทยส่งจดหมายเชิญพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมรัฐบาล นักการเมืองหลายคน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน
นายชวน ให้สัมภาษณ์ว่า พรุ่งนี้ (29 ส.ค.) กรรมการบริหาร และ สส.พรรคประชาธิปัตย์ นัดประชุม ในเวลา 19.30 น.
ผมขอยืนยันในจุดยืนเดิม ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะไม่สามารถทรยศประชาชนได้
“ต้องยอมรับเรื่องการเลือกปฏิบัติ ผมต่อสู้มาเพียงลำพัง ด้วยการขอว่าอย่าเลือกเขานะ ไม่ได้ไปกลั่นแกล้งหรือทำร้าย อย่างที่นายราเมศ รัตนเชวง อดีตโฆษกพรรคฯ เคยถูกกระทำ ทำให้เขาได้รับเลือกน้อยมาก ไม่มี สส.ภาคใต้แม้แต่คนเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากที่ผมรณรงค์ แล้ววันหนึ่งจะมาบอกให้ผมสนับสนุน พรรคที่ผมบอกว่าอย่าเลือก มันชัดเจนว่า เป็นการทรยศชาวบ้านผมทำไม่ได้ จึงขอยืนยันว่า แม้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแต่จุดยืนผมยังเหมือนเดิม” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวต่อถึงกรณี หากมติพรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 29 ส.ค.เห็นด้วยว่า เข้าร่วมรัฐบาลว่า คงไม่ใช่การเห็นด้วย เพราะมีการติดต่อกันแล้ว
“ที่มาถามว่า เขามาเชิญ ความจริง ตนคิดว่าคนของเราไปติดต่อเขาก่อนเขาเชิญ หรือสงสัยว่าไปขอให้เขามาเชิญด้วยซ้ำ แต่ตามมารยาทก็มาเชิญด้วยวิธีนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเชิญ คนของเราบางคนก็ไปประสานติดต่อ จึงถูกสื่อมวลชนเรียกว่า พรรคอีแอบ พรรครอเสียบ อยากขออย่าเรียกพรรคประชาธิปัตย์แบบนี้ เพราะเป็นพฤติกรรมของคนส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ การเรียกแบบนี้ทำให้พรรคเสื่อมเสีย"
ตนอยากปกป้องเกียรติภูมิของพรรค เราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนใดคนหนึ่งได้เป็น นายกฯ อยู่สัก 1-2 สมัยแล้วล้มไป แต่พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาเกือบ 80 ปี ปฏิบัติตามอุดมการณ์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นหลักประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ไม่อยากให้เสื่อมเสียด้วยการกระทำของ กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน
ไม่น่าแปลกใจ เพราะคนที่อยู่กับพรรคการเมืองพรรคเดียวมาอย่างยาวนานถึง 55 ปี นับตั้งแต่เป็น สส.ครั้งแรก เมื่อปี 2512 ผ่านมาหลากหลายตำแหน่ง ทั้ง สส.เขต หัวหน้าพรรค ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค สส.บัญชีรายชื่อ
ความจงรักภักดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ และนับว่ามากกว่าทุกคน เหมือนที่หลายคนบอกว่า พวกที่อยู่ตอนนี้ ไม่มีดีเอ็นเอของประชาธิปัตย์แล้ว
และแม้สุดท้ายหากเขาถูกขับออกจากพรรค หรือ คนอื่นหนีไปหมด เหลือเขาเพียงคนเดียว คนชื่อ "ชวน หลีกภัย" ก็คงเลือกจบชีวิตการเมืองลงที่นี่ ดีเสียกว่าการอยู่ตรงข้ามขั้ว และวันหนึ่งกลับไปอยู่ใต้ร่มเงา
อ่านข่าว : “เทพชัย หย่อง” มองคนข่าว ต้องปรับตัวท่ามกลางพายุใหญ่