กทม.พร้อมรับมือน้ำเหนือ คาดน้ำจาก “สุโขทัย” ถึง 2 ก.ย.

ภัยพิบัติ
27 ส.ค. 67
19:27
3,682
Logo Thai PBS
กทม.พร้อมรับมือน้ำเหนือ คาดน้ำจาก “สุโขทัย” ถึง 2 ก.ย.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กทม.พร้อมรับมือน้ำเหนือ คาดน้ำจาก “สุโขทัย” ถึง 2 ก.ย. แต่สร้างเขื่อนเสริมแล้ว 80 กม. ป้องกันแต่อาจเกิดน้ำเอ่อท่วม บ้านเรือนริมน้ำนอกแนวกั้นใน กทม. ได้ “ชัชชาติ” ขอนายกฯ ใหม่ ทำเขื่อนปิดเจ้าพระยา

วันนี้ (27 ส.ค.2567) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพมหานคร พร้อมลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ

นายวิศณุ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์ และประสานข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ ที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้

สถานการณ์น้ำเหนือใน 4 เขื่อนหลัก ภาพรวมดีกว่าปีก่อน แต่ปริมาณน้ำจากสุโขทัยคาดว่า จะไหลมาถึงเข้า กทม. ใน 6 วัน เตรียมเฝ้าระวังด่านหน้าที่สถานีบางไทร

สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (วันที่ 25 ส.ค.2566 กับ วันที่ 25 ส.ค.2567) พบว่า ปีนี้ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่มขึ้น

ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด จากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึง จ.สุโขทัย และคาดว่า จะมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ 6 วัน

โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพฯ คือ ที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 26 ส.ค.2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลบ.ม./วินาที โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

สำหรับคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยาปัจจุบัน มีความยาว 80 กม. ได้เสริมสูงกว่าน้ำท่วมปี 2554 พร้อมระดมสรรพกำลัง เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือหลาก

โดย กทม. ได้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ และตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร

ซึ่งหลังจากปี 2554 เป็นต้นมา ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 เมตร (รทก.) และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ

รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 96 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง

นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ฝากถึงนายกรัฐมนตรี คนใหม่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่า ก่อนหน้านี้ กทม.เคยเสนอไปกับทางรัฐบาลก่อน เพื่อทำเขื่อนปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนลักษณะเดียวกับแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อป้องกันน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพราะเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน ซึ่งโครงการนี้ เป็นการคิดโครงการที่ต้องเผื่อในระยะยาว 20-30 ปีด้วย จึงขอฝากรัฐบาลใหม่ช่วยดู กทม.ทำเองคนเดียวไม่ได้

อ่านข่าว : "ป่าไม้" แจ้งข้อหาวัดดัง "พระใหญ่ภูเก็ต" รุกป่าเขานาคเกิด

ท้ายน้ำระวัง! เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม 917 ลบ.ม.ต่อวินาที

เสริมคันดินแม่น้ำยม จ.พิษณุโลก รับน้ำเหนือจาก จ.สุโขทัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง