กรณีเหตุการณ์ดินถล่มจากเขานาคเกิด เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต และทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยล่าสุดกรมป่าไม้ เล็งชงเสนอรื้อ "พระใหญ่" บนเขานาคเกิด ซึ่งพบว่าไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพราะอยู่บนพื้นที่ป่าต้นน้ำลาดชัน 35%
วันนี้ (27 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อจับพิกัดการใช้พื้นที่บนเขานาคเกิด และเช็กบัญชีสิ่งก่อสร้างบนวัดแห่งนี้ โดยเฉพาะอาคาร ลานจอดรถบนเขาที่พบสร้างในแนวร่องน้ำที่เสี่ยงต่อการถล่มซ้ำ และจะร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหาบุกรุก และการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
กรมป่าไม้ จะเริ่มจากตรวจวัดพิกัดจีพีเอส ตามขอบเขตที่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่ 15 ไร่ และเดินสำรวจสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ ๆ ก่อนจะบันทึกข้อมูล เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
การตรวจสอบวันนี้เกิดขึ้น หลังเกิดเหตุดินถล่มสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและที่สำคัญมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้ตรวจสอบ โดยตั้งข้อสังเกตว่า การปรับขยายพื้นที่พบเขาเป็นสาเหตุหลัก รวมทั้งการขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องหรือไม่

แหล่งท่องเที่ยววัดพระใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขานาคเกิด ทางกรมป่าไม้ ระบุว่ามีการยื่นขออนุญาตตามมติ ครม.ปี 2563 รวมพื้นที่ 15 ไร่ แต่ยังไม่มีการให้อนุญาตก่อสร้างพระแต่อย่างใด
ร.อ.เจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เคยมีการตรวจสอบและแจ้งความดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่ประธานมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 ให้ข้อมูลกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ
การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ แล้วยังมีตัวแทนจากพรรคประชา ชน ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ และสังเกตการณ์และยังได้รับความสนใจจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาคอยสังเกตการณ์ด้วย
ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุดินถล่มในซอยปฏัก 2 และ 8 ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ระดมกำลังทหาร และอาสาสมัครแยกย้ายไปตามจุดต่างๆ คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 พร้อมกันนี้สั่งการให้ผู้ที่อยู่ในจุดเสี่ยง อาศัยบริเวณตีนเขา ยังขอไม่ให้เข้าพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากยังมีฝนตกต่อเนื่อง
ส่วนที่พักศูนย์พักพิงชั่วคราวภายในวัดกิตติสังฆาราม หรือวัดกะตะ จะเปิดให้ผู้ประสบภัยไปจนถึงวันศุกร์นี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้อาศัยอยู่ 14 คน

เครื่องเตือนดินเคลื่อนบนเขานาคเกิด ใช้งานไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงาน บริเวณลานจอดรถของพระใหญ่ บนเขานาคเกิด ใกล้จุดดินถล่ม มีเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนตัวของดิน และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ถูกติดตั้งอยู่ใต้ต้นไม้
จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องอยู่ในสภาพมีปลวกเข้าไปอยู่ในระบบการทำงาน และมีต้นไม้ และสิ่งก่อสร้างบดบัง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการวัดปริมาณน้ำฝน
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน.ศูนย์วิจัยวิศวกรรมปฐพีเเละฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม ระบุว่าเครื่องที่มีการติดตั้งจุดนี้ มีระบบการทำงานแบบแจ้งเตือนทางอ้อม และทางตรง คือการวัดปริมาณน้ำฝนจะช่วยแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง และเครื่องวัดอัตราการเคลื่อนตัวของมวลดิน จะเป็นการแจ้งเตือนทางตรง

เมื่อพบว่าดินเคลื่อนตัว จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่ดูแล คือกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งจะแจ้งเตือนไปยังท้องถิ่น แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่พบว่า เครื่องดังกล่าวขาดการดูแลรักษา และไม่มีงบประมาณดูแล
รศ.สุทธิศักดิ์ เชื่อว่าหากเครื่องดังกล่าวใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ชาวบ้านในชุมชุนกะตะ ที่อยู่ด้านล่างอาจอพยพได้ทัน ก่อนเกิดเหตุดินถล่ม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาระบบเตือนภัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน
อ่านข่าว
ด่วน! พบ 3 ชีวิตติดอุโมงค์ถล่ม-ส่งหุ่นยนต์เข้าช่วย