วันนี้ (27 ส.ค.2567) ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ล่าสุดระดับน้ำในแม่น้ำยมเวลานี้ อยู่ที่ 7.69 เมตร อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง จากระดับตลิ่ง 8.15 เมตร แต่ก็มีผล ทำให้ 4 อำเภอที่น้ำท่วม ได้แก่ อ.เมืองสุโขทัย, อ.สวรรคโลก, อ.ศรีสำโรง, อ.ศรีสัชนาลัย
ปัจจุบันปริมาณแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับตัวเมือง ระดับน้ำก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน แต่ยังต่ำกว่ากำแพงป้องกันตลิ่ง
ระดับน้ำในแม่น้ำยม ผ่านประตูระบายบ้านหาดสะพานจันทร์ อยู่ในภาวะวิกฤต
ส่วนอีกหนึ่งอำเภอที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อ.กงไกรลาศ ทาง ปภ.ขอให้ประชาชน ในพื้นที่เตรียมพร้อมอพยพ และเริ่มขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
ทั้งนี้ จุดที่คันกั้นน้ำพังยาว 8 เมตร ในพื้นที่ ต.บางยม ทำให้ชาวบ้านกังวลใจว่า ปีนี้จะได้รับความเสียหาย ในเรื่องพืชผลทางการเกษตรเพราะว่าน้ำมามากและเปลี่ยนเส้นทางการกัดเซาะ ทั้งชาวบ้าน และพระภิกษุสามเณร ต่างช่วยกันซ่อมแซมคันดินป้องกัน
นอกจากนี้ มวลน้ำจาก อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่คาดการณ์ว่า วันนี้จะมาถึงเวลาประมาณ 12.00 น.ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ปริมาณน้ำสูงสุดที่ 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่ง จ.สุโขทัย มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำได้แค่ 1,200 ลบ.ม.ดังนั้นทำให้มีปริมาณน้ำเกินมา 500 ลบ.ม.
ด้าน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช.เตรียมจัดการน้ำที่เกินมานี้ ด้วยการผันผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ไปคลองฝั่งซ้าย-ขวา เหนือ-ใต้ ก่อนเข้าตัวเมือง เป็นการช่วยหน่วงน้ำเอาไว้ และช่วยลดความแรงของน้ำในการกัดเซาะตลิ่ง โดยคาดว่า มวลน้ำที่ผ่านจะอยู่ที่ระดับ 900 ลบ.ม.แต่พนังกั้นน้ำไม่ให้เข้าตัวเมืองสุโขทัยจะรับได้ไม่เกิน 700 ลบ.ม.จึงต้องผันน้ำไปเก็บตามทุ่ง ทำให้ระดับน้ำในตัวเมืองยังทรงตัวไปจนถึงลดลงเล็กน้อยในบางจุด
ชลประทานเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่มาจากพื้นที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ไหลผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 1,548 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่เพราะน้ำจำนวนนี้จะเข้าสู่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ที่เป็นตัวหน่วงและผันน้ำจากแม่น้ำยมเข้าสู่คลองต่าง ๆ
ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ คือตัวชี้วัดที่สำคัญ ว่าน้ำจะท่วมตัวเมืองสุโขทัยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากประตูระบายน้ำแห่งนี้ทำหน้าที่หน่วงน้ำไว้ เพื่อเบี่ยงออกไปตามคลองต่างๆ ต่อไปยังพื้นที่รอบนอกและแก้มลิงที่เตียมไว้รองรับให้มากที่สุด
ชลประทานจังหวัดสุโขทัย ต้องบริหารจัดการน้ำจำนวนนี้ให้เหลือผ่านเมืองสุโขทัยไม่เกิน 550 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อไม่ให้ล้นกำแพงกั้นน้ำเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเมืองสุโขทัย โดยการผันน้ำออกสู่ คลองต่าง ๆ โดยเฉพาะคลองหกบาทที่สามารถผันน้ำ ได้มากสุดถึง 500 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อออกสู่คลองยมน่าน ไปสู่แม่น้ำน่าน และคลองอื่น ๆ ที่ผันน้ำออกสู่แก้มลิงต่างๆที่เตรียมไว้รองรับ
ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของชลประทาน เพราะนอกจากต้องตัดลดปริมาณน้ำผ่านตัวเมืองลงแล้ว ต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่รับน้ำได้รับผลการทบจากน้ำท่วมน้อยที่สุด สำหรับมวลน้ำจากจังหวัดแพร่ หากถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ซึ่งห่างจากตัวเมืองสุโขทัยประมาณ 60 กม.ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน จะถึงตัวเมืองสุโขทัย
นายโสภัญญ์ ศรีสว่างวรกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย ระบุว่า ด้วยปริมาณน้ำเหนือที่มามาก จ.สุโขทัย ถือว่าอยู่ในภาวะหนักที่จะรับมือ เพราะมีปริมาณน้ำมากเกินความจุ สิ่งที่เราจะต้องรับมือคือ น้ำจาก อ.ศรีสัชนาลัย และ อ.วังชิ้น
ทั้งนี้ ต้องจับตาดูปริมาณฝนเพื่อวางแผนในการผันน้ำ และขอให้จับตาดูน้ำที่อาจล้นคันในบริเวณจุดเสี่ยง ทั้ง อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง และ อ.เมืองสุโขทัย ทั้งนี้น้ำจาก จ.แพร่ จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องควบคุมและเร่งระบายน้ำบริเวณท้ายประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์
ระหว่างนี้ต้องจับตาดูปริมาณฝนซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของน้ำท่า การผันน้ำไปในลำน้ำสาขาต่าง ๆ จะช่วยพร่องน้ำได้ประมาณหนึ่งเท่านั้น ยืนยันว่ากรมชลประทานได้บริหารน้ำอย่างถูกต้องและถูกหลักวิชาการ โดยประตูระบายน้ำคลองหกบาท ระบายน้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว จึงต้องระบายน้ำผ่านคลองเส้นหลัก โดยสุโขทัยมีจุดแตกน้ำหลายแห่งซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ขณะที่แม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย บริเวณสะพานพระร่วง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 7.69 ม.โดยระดับสูงสุดของสันกำแพงหรือระดับตลิ่ง 8.15 ม. หรืออีก เพียง 46 ซม.ก็จะล้นกำแพง เทศบาลเมืองสุโขทัยธานีต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยเตือนภัยระดับสีแดง
อ่านข่าว : หาคำตอบ! สาเหตุน้ำท่วมหนัก 5 จังหวัดภาคเหนือช่วง ส.ค.