ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปัจจัยเฮโรอีนทะลักไทย โยงสถานการณ์สู้รบเมียนมา

อาชญากรรม
28 ส.ค. 67
17:28
541
Logo Thai PBS
ปัจจัยเฮโรอีนทะลักไทย โยงสถานการณ์สู้รบเมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจปัจจัย ทำให้ "เฮโรอีน" ทะลักไทย เพียง 6 เดือนของปีนี้ ป.ป.ส. ตรวจยึดเฮโรอีนกว่า 1,400 คดี น้ำหนักรวมเกือบ 1,500 กก. พุ่งแซงปีที่แล้วที่ทั้งปีตรวจยึดได้ 1,000 กก.

องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ นักค้ายาเสพติดเชื้อสายจีน รวมถึงชาวไทยที่หลบหนีไปต่างประเทศ คือ กลุ่มที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่าเป็นผู้ส่งออกเฮโรอีนรายใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา

ส่องปัจจัย เฮโรอีนทะลักเข้าไทย

ปัจจัยแรกที่ทำให้สถิติการจับกุมมากขึ้น อาจเป็นเพราะเมียนมาขยับขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีที่แล้ว แทนที่อัฟกานิสถาน

ข้อมูลที่ปรากฏในรายงาน “การสำรวจฝิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2566” (Southeast Asia Opium Survey 2023) ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ปี 2566 เมียนมาผลิตฝิ่นได้มากถึง 1,080 ตัน และ ยังเป็นประเทศที่ส่งออกเฮโรอีนมากถึง 154 ตัน อาจคิดเป็นเงินไทยกว่า 78,600 ล้านบาท

กวินวดี ศุภพงษ์เทวาสกุล นักวิเคราะห์ด้านยาเสพติด UNODC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2564-2566 พื้นที่ปลูกฝิ่นในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2566 ปริมาณพื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ที่ประมาณ 47,100 เฮกตาร์ เพิ่มจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 18 ที่มีพื้นที่ปลูกฝิ่น 40,100 เฮกตาร์ ซึ่งทำให้ปริมาณฝิ่นที่ผลิตได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยพื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในรัฐฉาน

“ปริมาณฝิ่นที่ผลิตได้ ในปี 2566 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี ที่คาดการณ์ว่ามีปริมาณฝิ่นที่ผลิตได้ในเมียนมาเกิน 1,000 ตัน ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2565 คาดการณ์ว่าผลิตฝิ่นได้ 790 ตัน ก็จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะในแค่หนึ่งปีที่ผ่านมา” 
กวินวดี ศุภพงษ์เทวาสกุล นักวิเคราะห์ด้านยาเสพติด UNODC

กวินวดี ศุภพงษ์เทวาสกุล นักวิเคราะห์ด้านยาเสพติด UNODC

กวินวดี ศุภพงษ์เทวาสกุล นักวิเคราะห์ด้านยาเสพติด UNODC

 

จับตาเหตุทะลัก โยงสถานการณ์สู้รบเมียนมา

สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่ม ต้องเร่งผลิตยาเสพติด เพื่อหารายได้ให้กองกำลังในการจัดหาอาวุธ

นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า ปัจจัยทางด้านการเมือง คือการสู้รบในเมียนมาในหลายพื้นที่ เป็นเหตุให้มีการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนเพิ่มขึ้น รวมถึงบางพื้นที่ที่ไม่มีการสู้รบ ก็อาจมีอิสระในการปลูกฝิ่นมากขึ้น

“ด้วยสถานการณ์ภายในของเขา อาจทำให้เกิดปัญหาความยากจน หลังๆ มีกลุ่มทุนจากต่างชาติไปชักชวนให้ชาวบ้านปลูกฝิ่นในเมียนมามากขึ้นด้วย” 
นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

 

มีข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงว่า ปัจจุบัน กลุ่มผลิตยาเสพติดชายแดนเมียนมา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

ว้า คือกลุ่มที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นเครือข่ายยาเสพติดขนาดใหญ่ ผลิตยาเสพติดจำนวนมาก เนื่องจากต้องใช้งบไปซื้ออาวุธ สร้างความเข้มแข็งให้กองทัพ และขยายพื้นที่ผลประโยชน์

อีก 3 กลุ่ม คือ โกก้าง กลุ่มเมืองลา และกลุ่มไทใหญ่เหนือ ทั้งหมดมีความขัดแย้งกับรัฐบาลทหารเมียนมา มีเสรีภาพในการผลิตยาเสพติดเพื่อนำเงินมาซื้ออาวุธสู้รบกับรัฐบาล และฟื้นฟูเมือง ส่วนใหญ่ผลิตยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และเคตามีน

ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุด้วยว่า ช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2566 - 31 กรกฎาคม 2567 พื้นที่ภาคเหนือ เฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก และแม่ฮ่องสอน ยึดเฮโรอีนได้เกือบ 300 กิโลกรัม และฝิ่นดิบกว่า 250 กิโลกรัม

ครึ่งปี 67 พบผู้บำบัดเฮโรอีนทั่วประเทศกว่า 6,300 คน

ข้อมูลจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) พบว่าจำนวนผู้ใช้เฮโรอีนที่เข้ารับการบำบัดเฮโรอีนเพิ่มขึ้นทุกปี

จากปีงบประมาณ 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัด 6,143 คน ต่อมาปี 2566 พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัด 7,518 คน ขณะที่ปี 2567 ผ่านไป 6 เดือน มีผู้รับการบำบัดกว่า 6,300 คน ตัวเลขนี้อาจสะท้อนว่า เฮโรอีนกำลังระบาดในประเทศไทย

ชายวัย 25 ปี จากจังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในผู้บำบัดกว่า 6,000 คนทั่วประเทศ เข้ารับการบำบัดเฮโรอีนที่ สบยช. เล่าถึงจุดเริ่มต้นการใช้เฮโรอีนว่า ลองตามคำชักชวนของกลุ่มเพื่อน สำหรับเขาการหาซื้อเฮโรอีนในจังหวัดกาญจนบุรีไม่ใช่เรื่องยาก มีแบ่งขายหลายรูปแบบ

บรรจุภัณฑ์ตอนนั้นคือถุงซิป บดมาแล้ว เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เด็กวัยรุ่นไง เพื่อนมันเอามาให้ลอง พอติดก็กระวนกระวายต้องไปหาซื้อให้ได้ คนที่เล่นเค้าจะรู้กัน เมืองกาญฯ มีทุกที่ ทุกอำเภอมีหมด
ผู้เข้ารับการบำบัดเฮโรอีน

ผู้เข้ารับการบำบัดเฮโรอีน

ผู้เข้ารับการบำบัดเฮโรอีน

 

ข้อมูลจาก ป.ป.ส.ระบุด้วยว่า 3 จังหวัดที่พบการจับกุมเฮโรอีนมากที่สุดในปี 2567 คือ กาญจนบุรี เชียงใหม่ และเชียงราย ทำให้ เชียงใหม่ และเชียงราย ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ร่วมกับพื้นที่อื่น ๆ รวม 13 จังหวัด 43 อำเภอ เพื่อเฝ้าระวังการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย โดยจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกองทัพภาคที่ 2 และ 3 เข้ามาร่วมบูรณาการสกัดกั้นยาเสพติด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง