วิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในปี 2567 มาเร็วและหนักกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม และในเดือนสิงหาคมก็เกิดความเสียหายจากภัยน้ำท่วมแล้วในพื้นที่จังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ตาก เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และ สุโขทัย โดยทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ออกมาแจ้ง 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ให้ฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง
ก่อนจะสิ้นสุดปี 2567 ในเดือนพฤศจิกายน เกิดภัยพิบัติอีกครั้งกับพี่น้องชาวใต้ของประเทศไทย เมื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ออกมาแจ้ง 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค.2567 โดยวันนี้ 29 พ.ย. 2567 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่แล้วใน 8 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา พัทลุง สตูล นครศรีธรรมราช และ สุราษฎร์ธานี
ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างไรได้บ้าง มาดูกัน
เตรียมแผน 3 ระยะ รับมือน้ำท่วม 2567
ระยะที่ 1 เตรียมพร้อม ติดตาม เฝ้าระวังก่อนน้ำท่วม
- ประชาชนต้องติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอยู่เสมอ
- ประเมินสถานการณ์ และสนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่สามารถบอกเหตุได้ เช่น ฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือ น้ำในคลองขึ้นสูงผิดปกติ
- เตรียมกระสอบทราย และอุปกรณ์ป้องกันน้ำ
- มองหาสถานที่ปลอดภัยสำหรับฝากเด็ก คนชรา สัตว์เลี้ยง และยานพาหนะ
สถานการณ์น้ำท่วมวันที่ 23 สิงหาคม 67 ในจังหวัดแพร่
ระยะที่ 2 เมื่อได้รับประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
- ถอดปลั๊ก ยกเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง
- เก็บรวมรวมเอกสารสำคัญ ของมีค่าใส่ถุงซิปล็อก
- ชารต์แบตเตอรีโทรศัพท์ให้เต็มอยู่เสมอ
- บันทึกเบอร์สายด่วน เบอร์ฉุกเฉิน
- ศึกษาเส้นทางอพยพไปสถานที่ปลอดภัย
- เตรียมของใช้และอาหารเท่าที่จำเป็น เช่น แพ็กอาหาร เสื้อกันฝน บู๊ทกันน้ำ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล
- ย้ายผู้ป่วย เด็ก คนชรา ไปยังที่ปลอดภัย
- นำรถยนต์และพาหนะไปไว้ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง
- อพยพสัตว์เลี้ยงพร้อมอาหารที่จำเป็นไว้ในที่ปลอดภัย
- ตรวจสอบระบบไฟในบ้าน และปลดเมนสวิตช์เบรกเกอร์ก่อนอพยพ
ขนย้ายสัตว์เลี้ยงหนีน้ำท่วมในจังหวัดแพร่
ระยะที่ 3 เมื่อเกิดน้ำท่วม และต้องอพยพ
- อพยพพร้อมนำของสำคัญที่เตรียมไว้ออกจากบ้าน
- บ้านชั้นเดียว งดใช้ไฟฟ้าทันที และย้ายออกจากบ้าน
- บ้านสองชั้น ปลดเมนสวิตช์เบรกเกอร์ชั้นล่างเพื่อตัดกระแสไฟฟ้า
- ปิดเต้าเสียบไฟด้วยเทปกาว
- ห้ามสัมผัสสวิตช์และงดใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกหรือสัมผัสน้ำ
- ห้ามใช้ปลั๊ก และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ระดับน้ำ
- ป้องกันเด็กไม่ให้เล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม หรือ น้ำหลาก
- เลี่ยงการขับรถในเส้นทางน้ำท่วม
ประชาชนอพยพจากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดแพร่
ย้ายผู้สูงอายุไปในที่ปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม
เบอร์โทรฉุกเฉินช่วยเหลือภัยน้ำท่วม
- โทร. 1784 สายด่วนแจ้งเตือน สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
- โทร. 1146 ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สอบถามเส้นทางน้ำท่วม
- โทร. 1460 กรมชลประทาน สอบถามข้อมูลน้ำในเขื่อน
- โทร. 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
- โทร. 1677 เครือข่ายอาสาสมัครวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน
- โทร. 1111 กด 5 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สายด่วนรับแจ้ง-เตือนภัยน้ำท่วม
- โทร. 1193 ตำรวจทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม
- โทร. 1182 กรมอุตุนิยมวิทยา
ประกันภัยแบบไหน คุ้มครองน้ำท่วม
หลายคนเป็นกังวลว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะเกิดกับบ้านตัวเองไหม ถ้าเกิดขึ้นจะรับมืออย่างไร ?
สำหรับประกันที่เกี่ยวกับ “น้ำท่วม” อยู่ในหมวด “การประกันภัยทรัพย์สิน” ในเรื่องของ “ประกันอัคคีภัย” ที่ไม่ได้คุ้มครองแค่ไฟไหม้ แต่ยังคุ้มครองไปถึงภัยธรรมชาติตามรายละเอียดในกรมธรรม์โดยจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งถ้าใครกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร กฎหมายจะบังคับให้ต้องทำทุกคนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการเข้าใจผิดคิดว่า “ภัยเนื่องจากน้ำ” ก็คือประกันน้ำท่วม ซึ่งจะได้เงินชดเชยเต็มวงเงินประกันเลย แต่จริงๆแล้ว “ประกันอัคคีภัย” มีความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่จะจำกัดวงเงินอยู่แค่เพียง 20,000 บาท/ปีเท่านั้น
ประกันอัคคีภัย คุ้มครองอะไรบ้าง
1. คุ้มครองอัคคีภัย
ประกันภัยบ้านหรือประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองครอบคลุมความเสียหายของบ้านจากอัคคีภัย 3 เหตุการณ์ ได้แก่ ไฟไหม้บ้าน ฟ้าผ่าลงกลางหลังคา และแก๊สหุงต้มรั่ว โดยคุ้มครองเฉพาะตัวบ้านไม่รวมถึงที่ดิน หากเกิดอัคคีภัยขึ้น บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้กับเจ้าของบ้านโดยตรง เว้นแต่กรณีบ้านติดจำนองไว้ ธนาคารจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์แทน ส่วนเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันและลักษณะอาคาร
2. คุ้มครองภัยพิบัติ
นอกจากประกันภัยบ้านจะคุ้มครองเรื่องอัคคีภัยแล้ว ยังคุ้มครองบ้านจากภัยธรรมชาติต่างๆ ด้วย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ภัยลูกเห็บ รวมถึงสินามิ หรือตามรายละเอียดในกรมธรรม์โดยจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
3. คุ้มครองภัยจากการถูกโจรกรรมทรัพย์สิน
ประกันบ้านหรือประกันอัคคีภัยบางบริษัทยังคุ้มครองครอบคลุมไปถึงกรณีการถูกโจรกรรมทรัพย์สินภายในบ้าน ซึ่งหมายถึง คุ้มครองทั้งในส่วนของทรัพย์สินและตัวบ้าน ที่ได้รับความเสียหายจากการโจรกรรมนั้นๆ ด้วย
ข้อมูลจาก : TQM
อ่านข่าว
ภูเก็ตประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม 3 ตำบล
น้ำท่วมน่าน "บ้านท่าลี่" อ่วม บางจุดน้ำสูง 3 เมตร
พบชิ้นส่วนมนุษย์แล้ว 80 ชิ้น เร่งกู้ซากเครื่องบินตกบางปะกง