วันนี้ (23 ส.ค.2567) เมื่อเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ เหตุดินถล่มทับบ้านพักที่ ต.กะรน จ.ภูเก็ต ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว 7 คน โดยสามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ได้ 4 คน เป็นชาย 2 หญิง 2 คน และอีก 3 คนที่พบศพยังอยู่ระหว่างการเข้าพื้นที่
จากการประเมินคาดว่าจะมีผู้สูญหายอีก 7-10 คนซึ่งเจ้าหน้าที่เร่งระดมเข้าค้นหาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เช่น ชาวรัสเซีย รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมา เนื่องจากซอยที่เกิดเหตุมีทั้งวิลลา และเป็นลักษณะของกลุ่มบ้านเช่า ของแรงงานที่อยู่กันเป็นกลุ่ม
อ่านข่าว เช็กพิกัดช่วยเหลือน้ำท่วมภาคเหนือ
ความเสียหายจากดินถล่มภูเก็ต (ภาพ: เหยี่ยวข่าว ภูเก็ต Newshawk Phuket)
เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ระบุว่า การเข้าพื้นที่ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากรถ และอุปกรณ์หนักเข้าถึงพื้นที่ยาก เจ้าหน้าที่กู้ภัยกู้ชีพ ต้องเดินขึ้นเขาระยะทาง 500 เมตร และดินที่ถล่มลงมาจากภูเขามีทั้งหินขนาดใหญ่ เศษกิ่งไม้ ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไหลบ่าลงมาตามบ้านและถนน และเต็มไปด้วยดินโคลนทับถม
หินก้อนใหญ่-ต้นไม้หักโค่น
โดยขณะนี้ทางรองผู้ว่าฯ ภูเก็ต นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการระดมเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตมา 40 คน และจากปภ.ภูเก็ตอีก 10 คนเพื่อระดมค้นหาผู้สูญหายอย่างต่อเนื่อง
ยอมรับว่าดินถล่มรอบนี้หนักที่สุดตั้งแต่เคยเผชิญเหตุกู้ภัยมา ตอนนี้ผ่านมากว่า 6 ชั่วโมงยังต้องค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่ท่ามกลางสภาพดินโคลน หินก้อนใหญ่ และต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ถูกกวาดมาเทรวมในจุดที่ดินถล่ม
ความเสียหายจากดินถล่มภูเก็ต (ภาพ: เหยี่ยวข่าว ภูเก็ต Newshawk Phuket)
เบื้องต้นจะนำศพผู้เสียชีวิตไปพิสูจน์อัตลักษณ์ โดยตั้งกองบัญชาการมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานดำเนินการค้นหาผู้สูญหายและเสียชีวิต ภายในปฏักซอย 2 และ 4
พร้อมทั้งตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือ ณ วัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ขณะที่ปภ.ออกหนังสือแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 24-30 ส.ค.นี้
อ่านข่าว เขตเศรษฐกิจตัวเมืองน่านยังจม น้ำทะลักถึงวัดภูมินทร์
สภาพความเสียหายหลังดินถล่มในพื้นที่ต.กะรน จ.ภูเก็ต มีบ้านเรือนเสียหายอย่างน้อย 50 หลัง (ภาพ:ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center)
บ้านพังเสียหาย 50 หลัง
นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุทางหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย และให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการ เพื่อรับแจ้งเหตุความเสียหายและรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งจัดตั้งศูนย์พักพิง ขึ้นที่บริเวณวัดกะตะ
ส่วนของการค้นหาผู้ที่สูญหาย และติดอยู่ในบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ 4 จุดในโดยจุดแรกครบแล้ว 3 คน จุดที่สอง 2 คน จุดที่สาม 1 คน และจุดที่สี่ 2 คน รวม 8 คนยังไม่ทราบชื่อและนามสกุล ทราบว่าเป็นชาวต่างชาติ เมียนมา รัสเซีย
ขณะที่มีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายแล้วประมาณ 50 หลังคาเรือนโดยเฉพาะบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดกะตะ ภายในปฎักซอย 2 เนื่องจากมีดินสไลด์ถล่มทับ ส่วนที่บริเวณปฎักซอย 14 มีอาคารพังเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลฉลอง
สภาพความเสียหาย หลังน้ำลดบริเวณหน้าหาดกะตะ(ภาพ:ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center)
ถนนทรุดหน้าหาดกะรน-ทำความสะอาดดินโคลน
ขณะที่ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต Phuket Info Center เปิดภาพสภาพความเสียหาย จากเหตุดินสไลด์ทับบ้านเรือนทำให้มีผู้สูญเสียหลายราย ที่กะตะเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ พบมีบ้านเรือนเช่า วิลลา และบ้านเช่าเสียหายมีก้อนหินขนาดใหญ่ ต้นไม้ที่ไหลบ่ามาตามน้ำป่าดินถล่ม
ส่วนสภาพความเสียหาย หลังน้ำลดบริเวณหน้าหาดกะตะ ซึ่งพบว่ามีถนนทรุดเป็นวงกว้าง ล่าสุดกองทัพเรือภาคที่ 3 ส่งทัพทหารเรือ 50 นาย ลงพื้นที่เข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.กะรน โดยฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ทำการกวาดดินที่สไลลงมาบนถนน เพื่อเปิดเส้นทางการจราจร และช่วยขนย้ายสิ่งของให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ชี้เปลี่ยนแปลงที่ดินภูเขา-ต้นเหตุดินถล่ม
เมื่อ 2 เดือนก่อน ภูเก็ตเกิดน้ำป่าและดินถล่มลงมาแล้วครั้งหนึ่ง จนต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา อดีตนายกฯ เศรษฐา เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนแก้ปัญหาดินโคลนถล่มภูเก็ต
นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบายว่าภูเก็ตมีเทือกเขาและเนินเขาที่มีความลาดชันสูง มีพื้นที่ราบแคบๆ ระหว่างหุบเขา ร่องระหว่างหุบเขา รองรับด้วยหินแกรนิตที่ผุพัง เป็นชั้นดินทรายปนดินเหนียว จึงมีโอกาสเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะเมื่อเกิดฝนตกหนักสะสม ทำให้ชั้นดินอุ้มไม่ไหว
การแผ้วถางเปิดหน้าดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่ก็เกี่ยว ทำให้ไม่มีพืชพันธุ์ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยกรมทรัพยากรธรณี วางแนวทาง เพื่อลดการชะล้างพังทลายหน้าดิน ด้วยการปลูกพืชคลุมดิน ตั้งสถานีวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน
สอดคล้องกับ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ เฟซบุ๊ก คาดสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย มีการปรับพื้นดิน จนเกิดการถมของ กองดินบนภูเขา และการตัดตีนเขา จากการก่อสร้างอาคารด้านล่าง จึงเสนอทบทวนกฎหมายสิ่งแวดล้อม ผลักดันกฎหมายความปลอดภัยพื้นที่สูงและลาดชัน และกำหนดโซนห้ามก่อสร้างบริเวณตีนเขา