กฎสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเครื่องแบบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2552 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2498 นายกรัฐมนตรีออกกฎสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบข้าราชการการเมือง กับการแต่งเครื่องแบบ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎสำนักนายกรัฐมนตรีนี้
ในหมวด 1 ว่าด้วยเรื่องของเครื่องแบบทั่วไป กล่าวถึงเครื่องแบบข้าราชการการเมือง มี 2 ชนิด คือ
- เครื่องแบบปฏิบัติราชการ มี 4 ประเภท
- เครื่องแบบสีกากีคอพับ
- เครื่องแบบสีกากีคอแบะ
- เครื่องแบบสีกากีแกมเขียวคอแบะ
- เครื่องแบบสีขาวคอพับ
- เครื่องแบบพิธีการมี 5 ประเภท
- เครื่องแบบปกติขาว
- เครื่องแบบปกติกากีคอตั้ง
- เครื่องแบบครึ่งยศ
- เครื่องแบบเต็มยศ
- เครื่องแบบสโมสร
สำหรับประเด็นที่เป็นที่พูดถึงในขณะนี้ คือการที่นายทักษิณ ชินวัตร แต่ง "เครื่องแบบปกติขาว" เข้าร่วมในพิธีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา จนเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างว่า นายทักษิณ สามารถแต่งเครื่องแบบปกติขาว หรือ ชุดปกติขาว ได้หรือไม่
อ่านข่าว : "สนธิญา" ร้องสอบ "ทักษิณ" แต่งชุดขาวข้าราชการ ชี้ไม่มีสิทธิ์
เฉพาะข้าราชการ จึงแต่งตัว "เครื่องแบบปกติขาว"
หมวก มีลักษณะและส่วนประกอบเช่นเดียวกับเครื่องแบบสีกากีคอพับ เว้นแต่สีของหมวก ผ้าพันหมวก และหมอนสักหลาดสำหรับปักครุฑพ่าห์เป็นสีขาว การสวมหมวกให้สวมในโอกาสอันควร
เสื้อ ข้าราชการการเมืองชาย ให้เสื้อแบบราชการสีขาว ใช้คุมโลหะสีทองคราครุฑพ่าท์ขนาดใหญ่ 5 ดุม
ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้ประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่อกเสื้อเหนือกระเป๋าบนซ้ายด้วย
ข้าราชการการเมืองหญิง ให้ใช้เสื้อนอกคอแบะสีขาวแบบคอป้านแขนยาวจรดข้อมือ มีตะเข็บหลัง 4 ตะเข็บ ที่แนวสาบอกมีดุมโลหะสึทองตราครุฑพ่าห์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร 5 ดุม มีกระเป๋าล่างข้างละ 1 กระเป๋า เป็นกระเป๋าเจาะเฉียงเล็กน้อย ไม่มีใบปกกระเป๋า และให้ใช้เสื้อคอพับแขนยาวสีขาวผูกผ้าผูกคอสีดำเงื่อนกลาสี
ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้ประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องซ้ายด้วย
อินทรธนู ข้าราชการการเมืองชายตำแหน่งรัฐมนตรี ให้ใช้อินทรธนูแข็งกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวตามความยาวของบ่า พื้นสักหลาดสีดำปักดิ้นสีทองเป็นลายช่อชัยพฤษ์เต็มแผ่นอินทรธนู ติดทับเสื้อเหนือบ่าทั้ง 2 ข้างจากไหล่ไปคอ ด้านคอปลายมน ติดดุมโลหะสีทองตราครุฑพ่าห์ขนาดเล็ก
ข้าราชการการเมืองหญิงตำแหน่งรัฐมนตรี ให้ใช้อินทรธนูแข็งเช่นเดียวกับข้าราชการการเมืองชายตำแหน่งรัฐมนตรี เเต่ด้านไหล่กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวตามความยาวของบ่า
ข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่น ให้ใช้อินทรธนูขนาดเดียวกับข้าราชการการเมืองตำแหน่งรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี มีแถบสีทองกว้าง 5 มิลลิเมตร เป็นขอบโดยรอบและปีกดิ้นสีทอง ลายช่อชัยพฤกษ์ยาวตลอดส่วนกลางของอินทรธนู ทั้งนี้ ยกเว้น ข้าราชการการเมืองที่มีกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบใช้บังคับโดยเฉพาะ
กางเกง กระโปรง ข้าราชการการเมืองชาย ให้ใช้กางเกงแบบราชการสีขาว ขายาวไม่พับปลายขา ข้าราชการการเมืองหญิง ให้ใช้กระโปรงสีขาวขาวปิดเข่า ปลายบานเล็กน้อยสำหรับข้าราชการการเมืองหญิงมุสลิม ให้ยาวคลุมข้อเท้าก็ได้
รองเท้า ถุงเท้า ข้าราชการการเมืองชาย ให้ใช้รองเท้าหุ้มสั้นหนังสีดำชนิดผูก ไม่มีลวดลายถุงเท้าสีดำ ข้าราชการการเมืองหญิง ให้ใช้รองเท้าหุ้มส้นหนังสีดำปิดปลายเท้า ไม่มีลวดลายส้นสูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ถุงเท้ายาวสีเนื้อ
เครื่องหมายแสดงสังกัด ข้าราชการการเมืองตำแหน่งรัฐมนตรี ให้มีเครื่องหมายรูปตราราชสีห์คชสีห์รักษา รัฐธรรมนูญทำด้วยโลหะโปร่งสีทองไม่มีขอบ สูง 2 เซนติเมตร
ข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่น ให้มีเครื่องหมายแสดงสังกัด เป็นรูปตรากระทรวงหรือทบวงที่ข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนั้นสังกัด ทำด้วยโลหะโปร่งสีทองไม่มีขอบ สูง 2 เซนติเมตร
ข้าราชการการเมืองชาย ให้ติดเครื่องหมายแสดงสังกัดที่คอเสื้อตอนหน้าทั้ง 2 ข้าง สำหรับข้าราชการการเมืองหญิง ให้คิดเครื่องหมายแสดงสังกัดที่คอแบะของเสื้อตอนบนทั้ง 2 ข้าง เหนือแนวเครื่องราชอิสริยาภรณ์
สำหรับข้าราชการการเมืองนอกประจำการ ให้ใช้เครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบเช่นเดียวกับข้าราชการการเมืองประจำการ เว้นแต่ให้ติดเครื่องหมายอักษรย่อ "นก" ทำด้วยโลหะโปร่งสีทองไม่มีขอบ สูง 2 เซนติเมตร ที่อกเสื้อเบื้องขวา
ข้าราชการการเมืองนอกประจำการผู้ไม่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบข้าราชการการเมือง
- เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
- เป็นบุคคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
- ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
- ประพฤติตนในทางที่อาจเป็นการเสื่อมเสียเกียรติของข้าราชการการเมือง และนายกรัฐมนตรีสั่งให้ผู้นั้นงดแต่งเครื่องแบบสำหรับข้าราชการการเมืองนอกประจำการ ในระยะเวลาที่กำหนดหรือตลอดไป
บุคคลทั่วไปแต่ง "ชุดขอเฝ้า"
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องแต่งกายสำหรับบุคคลทั่วไปซึ่งไม่มีกำหมายหรือข้อบังคับของทางราชการกำหนดให้มีเครื่องแบบเฉพาะ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในงานพระราชพิธี หรือเข้าร่วมในงานรัฐพิธีต่าง ๆ ที่จะต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบพิธีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์กำหนดให้แต่งกาย ดังนี้
บุรุษ แต่งกายด้วยชุดขอเฝ้าเต็มยศ ชุดขอเฝ้าครึ่งยศ หรือชุดขอเฝ้าปกติขาว แล้วแต่กรณี โดยเสื้อนอกเป็นเสื้อคอปิดสีขาว แบบราชการที่แนวเสื้อมีดุมสีทอง ขนาดใหญ่ 5 คุม กางเกงขายาวแบบสากลไม่พับปลายขา โดยมีเครื่องประกอบชุดขอเฝ้า ได้แก่
- หน้าหมวก (มีตราพระมหามงกุฎในลายกนกปักด้วยดิ้นทอง สูง 5 เชนติเมตรบนพื้นสักหลาดสีขาว)
- ดุมเสื้อ (เป็นดุมเกลี้ยงทำด้วยโลหะสีทอง)
- แผ่นทาบคอเสื้อ (พื้นกำมะหยี่สีดำ มีกิ่งชัยพฤกษ์ประกอบด้วยใบ ข้างละ 5 ใบ ปักด้วยดิ้นสีทอง และที่กึ่งกลางมุมแหลมติดดุมโลหะสีทองขนาดเล็กข้างละ 1 ดุม)
- ไม่มีอินทรธนู
สตรี แต่งกายชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือแต่งกายชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ และชุดไทยบรมพิมาน ประดับดุมเสื้อ เครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วแต่กรณี
กลับมายังเหตุการณ์ปัจจุบัน คำถามแรกที่ต้องตั้งขึ้นมาคือ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2567 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 18 ส.ค.2567 แล้วนั้น ได้ถูกบรรจุเป็นข้าราชการการเมืองก่อนเดินทางร่วมยินดีกับ นายกฯ แพทองธาร ตั้งแต่เมื่อใด
เพราะตามภาพปรากฏเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า นายทักษิณ สวมเครื่องแบบปกติขาว มีอินทรธนูยาวตามความยาวของบ่า เครื่องหมายแสดงสังกัดที่คอเสื้อตอนหน้าทั้ง 2 ข้าง แม้จะติดเครื่องหมายอักษรย่อ "นก" ที่หมายถึงข้าราชการการเมืองนอกประจำการ ก็ตาม
อ่านข่าวอื่น :