ย้อนชะตากรรม 4 อดีตนายกรัฐมนตรีภายใต้ร่มเงา "ทักษิณ ชินวัตร"

การเมือง
15 ส.ค. 67
13:59
6,973
Logo Thai PBS
ย้อนชะตากรรม 4 อดีตนายกรัฐมนตรีภายใต้ร่มเงา "ทักษิณ ชินวัตร"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้ภาพโปรไฟล์ใหม่ของอดีตนายกฯ คนที่ 30 "เศรษฐา ทวีสิน" จะเปลี่ยนภาพนักธุรกิจในชุดกรมท่า สวมถุงเท้าแดง มีสุนัขพันธุ์บลูเทอร์เรียนั่งอยู่ข้าง ๆ ในวันนี้ (15 ส.ค.2567) แทนภาพโปรไฟล์เดิมในชุดเสื้อผ้าไหมสีเหลืองคอพระราชทาน ที่เข้าทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ให้พ้นจากนายกรัฐมนตรี โดยชี้ว่า "ผิดจริยธรรมร้ายแรง" ทำให้ต้องยุติบทบาททางการเมืองตลอดชีวิต

"ผมเสียใจ ตรงที่ว่าถูกออกเพราะเป็นนายกฯ ที่ไม่มีจริยธรรม ผมยืนยันในตัวตนของผม คิดว่า ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น แต่อย่างที่บอก ท่านตัดสินมาแล้ว ซึ่งเป็นตุลาการที่มีความรู้ความสามารถ ท่านตัดสินมาผมก็น้อมรับ" เป็นการเปิดใจของอดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา

ภายใต้ร่มเงาของพรรคเพื่อไทย 358 วัน สลัดภาพนักธุรกิจมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครรู้ว่า ลึก ๆ แล้ว อดีตนายกฯ คนนี้ ได้เจอแรงกดดันอะไรหรือไม่ แต่ข้อความระหว่างบรรทัดข้อ 19 ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านระบุว่า ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

เชื่อว่า "อดีตนายกฯ เศรษฐา" น่าจะทราบดีกว่าใคร ดังนั้น การหลุดพ้นจากตำแหน่ง แต่ถูกตีตราว่าทำผิดจริยธรรมร้ายแรง โดยต้องกล้ำกลืน ไม่สามารถแก้ตัวได้ หรือปฏิเสธได้ หากในแง่มุมการเมือง ก็อาจบอบช้ำไม่น้อย

หากไล่เลียงชะตากรรมของ อดีตนายกรัฐมนตรี ภายใต้ร่มเงาของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ คนที่ 23 หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เมื่อปี 2541 และเป็นนายกฯ ในสมัยที่ 2 ก่อนจะถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) สอยลงในปี 2549 ในหลายข้อหาทุจริต เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน เลี่ยงภาษี ฯลฯ และ ถูกยึดอายัดทรัพย์ เป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศช่วงหนึ่ง

ในปี 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ และ "ทักษิณ" ยังได้รับความนิยม มีการต่อตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมา โดยมี "นายสมัคร สุนทรเวช" อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" น้องเขย "ทักษิณ" เป็นรองหัวหน้าพรรคฯ ในการเลือกตั้งพรรคพลังประชาชน ได้เสียงข้างมากทำให้ "สมัคร" ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 แม้ครั้งนั้น "สมัคร" ถูกมองว่า เป็นนอมินีของ "ทักษิณ" แต่ก็ทำงานอย่างต่อเนื่อง

อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 223 วัน ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากการทำรายการโทรทัศน์ "ชิมไปบ่นไป" และรายการ "ยกโขยงหกโมงเช้า" เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา พร้อมคณะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใด ๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และหากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

สำหรับรายการดังกล่าว ผู้ผลิตคือ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด คำวินิจฉัยของศาลตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะกิจการงานที่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด ได้กระทำร่วมกันกับผู้ถูกร้องมาโดยตลอดเป็นเวลาหลายปี โดยบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด เพื่อมุ่งค้าหากำไร ไม่ใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และผู้ถูกร้องได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจเมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา 267 ศาลรัฐธรรมนูญ มติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายสมัคร ในแวดวงการเมือง ระบุว่า เป็นความบอบช้ำและเจ็บปวดที่สุดในชีวิต เพราะ สส. ในพรรคและพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น ให้สัญญาว่าจะมีการโหวตให้นายสมัคร กลับเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ เหมือนเดิม แต่ปรากฏว่า หลังการประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเริ่มขึ้น พบว่า การประชุมสภาล่มเสียงไม่พอ จึงเลื่อนไปประชุมออกไป เหตุจากมีใบสั่งว่าไม่ต้องการให้นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก และขอให้สนับสนุน "นายสมชาย" เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และเป็น รมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลของ "สมัคร สุนทรเวช" หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เฉพาะตัว เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 75 วัน ก็ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเลือกตั้ง สั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ทำให้สมชาย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากเหตุ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคฯ ถูกตั้งข้อหาทุจริตการเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2550

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 อยู่ในตำแหน่งได้ 2 ปี 275 วัน และพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธ.ค.2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พ.ค.2557 เนื่องจากการย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ปัจจุบัน ยิ่งลักษณ์ ยังอยู่ระหว่างการหลบหนี ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย หลังถูกศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และถูกหมายจับใบแรกตั้งแต่ปี 2560

ในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) ท่ามกลางการต่อรองทางการเมืองอย่างเข้มข้นและเขี้ยวลากดิน ต้องติดตามว่า พรรคเพื่อไทย ภายใต้การกุมชะตากรรมของ "ทักษิณ" ที่ยอมส่ง "แพทองธาร" ลูกสาวเข้ามาเป็นนายกฯ คนที่ 31 บนเส้นทางการเมืองว่าจะไปถึงเส้นชัย หรือจะสะดุดหยุดลงตรงไหน

ถ่ายทอดสด โหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 31

 

อ่านข่าวเพิ่ม : 

"ภูมิธรรม" ถก ครม.รักษาการ ยันพรรคร่วมโหวตนายกฯเพื่อไทย

"อนุทิน" ชี้ส้มไม่หล่นถึงภูมิใจไทย-ยังหนุนนายกฯ เพื่อไทย

รทสช.หนุนแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ย้ำจุดยืนไม่แก้ ม.112

"ณัฐพงษ์" ยืนยันพร้อมทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง