จากเสื้อผ้ามือสองและเศษผ้าที่กำลังเป็นขยะไร้ประโยชน์ นำมาสร้างสรรค์ใหม่ด้วยแนวคิด และไอเดีย จนกลายเป็นผลงานที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เป็นงานศิลปะ ที่เพิ่มมูลค่าอีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ รวมถึงเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ กระจายรายได้กลับสู่ชุมชน และตอบแทนคืนสังคม
อุสนีย์ สาแม หรือ น้องจู
นายอุสนีย์ สาแม หรือ “น้องจู” วัย 25 ปี ชาว จ.ยะลา คนรุ่นใหม่ หัวใจรักท้องถิ่นและบ้านเกิด ผู้สร้างสรรค์งานจากขยะและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้กลายแฟชันรักษ์โลก สร้างคุณค่า และมูลค่าให้กับสินค้า
ย้อนไปเมื่อ 8-9 ปี ครั้งเมื่อน้องจูเป็นนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ และได้รู้จักเพื่อนที่ขายเสื้อผ้ามือสองทางออนไลน์ น้องจูจึงได้ลองหาเสื้อผ้ามือสองมาขาย
เริ่มจากเลือกกางเกงแบรนด์เนมจากตลาดนัดมา 1 ตัว ในราคา 70 บาท และประกาศขายในโซเชียล 390 บาท ซึ่งครั้งแรกนี้ขายได้กำไรถึง 320 บาท เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้น้องจูหันมาขายเสื้อผ้ามือสอง ควบคู่กับการเรียน ซึ่งน้องจูจะศึกษาถึงสไตล์เสื้อผ้าที่ลูกค้าต้องการก่อนจะไปหยิบจับสินค้านั้นมาขาย
น้องจูเล่าว่าการขายเสื้อผ้ามือสองมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าได้ และเป็นการเสี่ยงโชค
เปิดกระสอบไหนดีก็ออกมาสวย กระสอบไหนไม่ดีก็ทุนหายไป ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต้องแบกรับไว้
อีกทั้งมีเสื้อผ้าอีกจำนวนหนึ่งที่ขายไม่ได้ จึงกลับมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรเพื่อทำงานเกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสองได้โดยที่ไม่มีความเสี่ยง หรือลดความเสี่ยง และสามารถที่จะควบคุมคุณภาพของสินค้าได้
จนกระทั้งเรียนอยู่ปี 3 ได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับ อัพไซคลิ่ง (Upcycling) โดยการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ๆ โดยกระบวนการรีไซเคิล และการทำ patchwork ซึ่งได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่น คือการนำผ้าหลาย ๆ แบบ หลายๆ ชนิด มาตัดเป็นรูปร่างต่างๆ วางทับซ้อนกัน ก่อนเย็บให้เกิดลวดลายใหม่
ซึ่งผ้าเหล่านั้น น้องจูได้นำมาจากสินค้าที่ขายไม่หมด และเศษผ้าจากร้านตัดเย็บที่กำลังจะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะโดยไร้ซึ่งประโยชน์ และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
และเมื่อมองย้อนกลับไปถึงคนว่างงานในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง จึงเป็นไอเดียที่ให้คนในท้องถิ่นมารวมตัวร่วมกันทำงาน รวมถึงคนที่ว่างจากงานประจำซึ่งอาชีพหลักในพื้นที่คือกรีดยาง โดยส่วนใหญ่จะกรีดยางกันตั้งแต่เช้ามืด และจะว่างในช่วงกลางวัน จึงใช้ช่วงเวลาที่ว่างนั้นมาเย็บเสื้อผ้า เป็นอาชีพเสริมที่เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
โดยน้องจูจะแบ่งค่าจ้างให้ชาวบ้านเป็นรายชิ้น ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของตัวแบบ เริ่มต้นที่ 100 บาท ซึ่งชาวบ้านจะใช้เวลาในการเย็บ 1-2 วันต่อชิ้นงาน เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นวันละ 100-150 บาท / คน บางคนอาจจะได้ถึง 300 บาท/วัน
ซึ่งทุกวันนี้มีสมาชิกที่ร่วมกันทำงาน 20 คน มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยที่น้องจูคิดแบบ วางแบบ และเป็นคนส่งเสื้อผ้าให้ตามแต่ละบ้านสมาชิก โดยที่ชาวบ้านสามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ และสามารถทำอย่างอื่นควบคู่กันไป หรือดูแลลูกหลายไปด้วย
“จะพยายามสอนให้ชาวบ้านมีสกิลหลากหลาย ฝึกให้ทำงานหลากหลายซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีความสามารถที่หลากหลายแล้ว ยังทำให้เรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย”
เสื้อผ้ามือสองที่ซื้อมามีหลากหลายราคา เริ่มตั้งแต่ตัวละ 3-4 บาท จนถึงหลัก 100 บาทและจากต้นทุนเสื้อผ้ามือสอง รวมถึงเศษผ้าที่กลายเป็นขยะ นำกลับมาสร้างงานชิ้นใหม่ ที่รวมการเย็บแล้ว ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 130 บาทต่อชิ้น ซึ่งสามารถขายได้ประมาณ 400 บาท ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า
ในปี 2562 น้องจูเริ่มมีแบรนด์เป็นของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อว่า concor Patcwork ที่หมายถึง การรวมตัว การรวบรวมคนในชุมชนเพื่อสร้างสรรค์งาน ที่สามารถสร้างอิมแพค สร้างอิทธิพล และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่
ซึ่งตรงกับคอนเซปความเป็น Social Enterprise เป็นธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม คือการรวมคน รวมกลุ่ม จากชาวบ้านที่ แทบไม่มีสกิล มีการสอน การฝึก จนสามารถทำงานได้ และเมื่อผลผลิตออกสู่ท้องตลาด เกิดรายได้ เป็นการส่งต่อความช่วยเหลือ คนอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ในการลดปัญหาขยะ และลดการเกิด Fast Fashion
น้องจู บอกว่าตั้งแต่เด็กรับรู้มาตลอดว่าในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองมีปัญหาเรื่องความไม่สงบที่มีอย่างยาวนาน และมองไม่เห็นทางแก้ไข หรือช่วยให้ปัญหาที่เกิดขึ้นคลี่คลายลงไปได้ ทางออกที่ดีที่สุดที่น้องจูคิดได้ คือการทำให้คนอิ่มท้องอันดับแรก
ถ้าชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ มีฐานะการเงินที่ดี จะทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำจากปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งความเหลี่ยมล้ำส่วนหนึ่งมาจากปัญหาปากท้อง การช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อ และเมื่อมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อ ก็จะสอนลูกหลานด้วยวิธีการที่ดี และเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมในที่สุด
ในวัยเด็กน้องจูเห็นพ่อทำงานหนักมาตลอด และความเป็นอยู่ของครอบครัวค่อนข้างจะลำบาก เมื่อเคยเจอกับปัญหานี้มาตอนสมัยอดีต เมื่อน้องจูโตขึ้น เลยไม่อยากเห็นชีวิตคนอื่นเหมือนเช่นตัวเองเมื่อครั้งอดีต จาก Pain Point ตัวเอง กลายเป็นแรงจุดประกายการตอบแทนสังคม
เมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่ถูกตาต้องใจ แบรนด์เริ่มเข้มแข็ง โดยรายได้จากการขายสินค้า 1 ใน 3 ส่วน จะถูกจัดสรรไปซื้อข้าวสารเพื่อนำไปแจกให้กับชาวบ้าน ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาระยะเวลาเกือบ 2 ปี แล้ว ณ วันนี้แจกจ่ายข้าวสารไปแล้วประมาณ 30 หมู่บ้าน โดยน้องจูตั้งเป้าไว้ 100 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ไม่สามารถที่จะแจกทุกคนได้ แต่จะสร้างโมเดลตัวอย่าง แม้จะขายเสื้อผ้ามือสอง ก็ทำเพื่อสังคมได้เช่นกัน
การออกแบบงานล้วนใช้ความคิด ความสร้างสรรค์ น้องจูต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ศึกษากระแสความต้องการ กระแสแฟชัน การดีไซน์ การออกแบบ ทั้งในประเทศและต่างแดน และนำมาปรับสร้างสรรค์สินค้าผ่าน เสื้อ กางเกง หมวก กระเป๋า ตามสไตล์ความเป็น concor Patcwork
ปัจจุบันนอกจากจะขายในพื้นที่และออนไลน์แล้ว ยังมีจำหน่ายในหลายห้างสรรพสินค้าดังๆ หลายแห่ง กลุ่มเป้าหมายมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งรายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาท/เดือน โดยน้องจูตั้งเป้าหมายอยากให้สินค้าเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้แล้ว น้องจูยังกระจายความรู้ให้กับ นักเรียน นักศึกษา ให้เข้าใจถึงธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงเปิดสอนให้กับชาวบ้านเพื่อนำไปประกอบอาชีพด้วย
อ่านข่าว :
น้ำผึ้งชันโรงเสม็ดขาว สุดยอด Superfood ต้านโรคอัลไซเมอร์-มะเร็ง