ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด 23 ปีคดียุบพรรค จับตา "ก้าวไกล" ไต่ลำดับ 111 หรือไม่

การเมือง
7 ส.ค. 67
13:59
14,795
Logo Thai PBS
เปิด 23 ปีคดียุบพรรค จับตา "ก้าวไกล" ไต่ลำดับ 111 หรือไม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังบ่ายวันนี้ (7 ส.ค.2567) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่ง "ยุบพรรค" และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ภายในกำหนด 10 ปี เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567, คดีแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 "ก้าวไกล" ก็จะเป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 111 ที่ถูกยุบทันที

นับแต่การประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541-ปัจจุบัน อำนาจในการยุบพรรคการเมือง ถูกโยกจาก "ศาลฎีกา" ให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยและชี้ขาด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วจำนวน 110 พรรค

โดยพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นพรรคฯ ลำดับที่ 110 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ถูกยุบเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2563 คดี นายธนาธร ให้พรรคฯ กู้เงิน จำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคจำนวน 16 คน ถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ปิดฉากพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ได้ สส.ในสภาจำนวน 81 เสียง

หากย้อนสถิติคำสั่งยุบพรรคการเมืองไทย ตั้งแต่ปี 2541 คดีแรก คือ อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) และ (3) สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ถูกยุบ

แต่พรรคที่ถูกยุบ คือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 9 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ฉบับลงวันที่ 24 มี.ค.2549 มีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3

ครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การกระทำของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 (2) (3) โดยเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อประชาชน ไม่คำนึงถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ โดยมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2541 จำนวน 92 พรรค

ถัดจากนั้น เป็นคดียุบพรรคที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเล็ก ๆ ประปรายทั่วไป แต่สำหรับคดียุบพรรค การเมืองขนาดใหญ่ และอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย สำคัญ ๆ ยังมีหลายคดี โดยเหตุแห่งการยุบพรรค โดยมีการนำกฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 มาใช้วินิจฉัยและมีคำสั่งยุบพรรคจำนวน 16 พรรค และการใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาใช้ในการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง 2 พรรค

โดยสาเหตุและที่มาของการยุบพรรค จำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ การที่พรรคการเมืองไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนด, การขาดคุณสมบัติความเป็นพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด และมีพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีล้มล้างการปกครอง

สำหรับคดียุบพรรคการเมืองดังในปี 2550 คงหนีไม่พ้น คดียุบ พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550 จากเหตุคำร้อง มีการกระทำล้มล้างการปกคองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ และกระทำการอันอาจเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ หรือขัดต่อข้อกฎหมายฯ รวมทั้ง จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทยพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ทำให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ขณะที่พรรคพัฒนาชาติไทย ถูกตัดสิทธิจำนวน 19 คน ส่วนพรรคแผ่นดินไทย ถูกตัดสิทธิ 3 คน

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน โดยคดีดังกล่าวเกิดจากผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกใบแดงให้ "ยงยุทธ ติยะไพรัช" สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เนื่องจากมีการกระทำที่น่าเชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการตัดสินยุบพรรคตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเช่นกัน โดยคดีนี้ ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค จำนวน 109 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ในปี 2562 หลังจากพรรคไทยรักษาชาติ เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีฯ อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคฯ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรค การเมืองไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2562 กรณีอาจมีการเป็นปฎิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยศาลฯ ชี้ว่า สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง การกระทำดังกล่าว เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

คำวินิจฉัยดังกล่าว ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคฯ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้งหมด 37 คน คนละ 10 ปี และมีสมาชิกพรรคบางส่วนไหลกลับเข้าพรรคเพื่อไทย สำหรับการก่อเกิดของพรรคไทยรักษาชาตินั้น ในแวดวงการเมืองกล่าวขานกันว่า เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ในการให้คนรุ่นใหม่ ไปตั้งพรรคสาขา เพื่อหวังจำนวน สส.บัญชีรายชื่อและปาร์ตี้ลิสต์ และควบรวมเสียงให้ได้มากที่สุด

และในปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 จากปมคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคฯ ให้กู้เงิน จำนวน 191 ล้านบาท ศาลชี้ว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง ฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่า ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ถือเป็นการปิดฉากทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ และนายธนาธร และยังทำให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 16 คน ถูกตัดสิทธิการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

จากพรรคอนาคตใหม่ มาถึง "ก้าวไกล" ภายใต้การนำของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" และ "ชัยธวัช ตุลาธน" เพียง 2 ปี จะต้องดูว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ และ "ก้าวไกล" จะเป็นพรรคลำดับที่ 111 ที่จะถูกยุบตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

ชมสดศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล

 อ่านข่าวเพิ่ม :

ชมสดศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล

กกต.งดความเห็นคดียุบพรรค เตือนซื้อตัว สส.ผิดกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง