ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวบ้าน 4 ตำบล ใน อ.ดอยสะเก็ด ทุกข์หนักขยะตกค้าง

ภูมิภาค
5 ส.ค. 67
11:43
645
Logo Thai PBS
ชาวบ้าน 4 ตำบล ใน อ.ดอยสะเก็ด ทุกข์หนักขยะตกค้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวบ้านรอบพื้นที่ศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ ร้องแก้ปัญหากลิ่นเหม็นจากขยะนานกว่า 3 เดือน หลังขยะจาก 10 อำเภอ ถูกขนเข้ามากำจัดมากถึง 300-400 ตัว/วัน แต่ศูนย์จัดการขยะแห่งนี้ รองรับขยะได้เพียง 250 ตัน/วัน จนมีขยะตกค้างกว่า 3 หมื่นตัน

ชาวบ้านกิ่วแล หมู่ 11 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ต้องปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และ สวมหน้ากากอนามัยเกือบตลอดวัน เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นจากศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนไม่ถึง 1 กิโลเมตร ลอยเข้าไปในบ้านพัก

ชาวบ้านบอกว่ากลิ่นเหม็นขยะรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บางช่วงกลิ่นรุนแรงมากทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่แต่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด นอกจากนี้ยังทำให้มีแมลงวันเพิ่มมากขึ้นอย่างปกติ สร้างความเดือดร้อนรำคาญอย่างหนัก

อยากให้เขาแก้ไข ไม่ให้มันมีกลิ่น จะทำยังไงก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน ทุกวันนี้ค่าโทรศัพท์หมดไปกับการโทรไปร้องเรียนที่ศูนย์กำจัดขยะทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ชาวบ้านยังต้องทนกับกลิ่นเหม็นเช่นเดิม
อบจ.มีรายได้จากการจัดการขยะทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เราจึงเรียกร้องว่า อบจ.เชียงใหม่ ท่านจะมีแนวทางเยียวยาชาวบ้านอย่างไร

ไม่เฉพาะชุมชนแห่งนี้ แต่ชาวบ้านหลายชุมชนในตำบลป่าป้อง ตำบลเชิงดอย ตำบลแม่โป่ง และ ตำบลดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด ต่างได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นที่ลอยไปไกลหลายกิโลเมตร จนต้องออกมาประท้วงขอให้เปลี่ยนคณะกรรมการบริหารบ่อขยะ กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา จำกัดปริมาณขยะ ไม่เกิน 250 ตัน/วัน และตั้งกรรมการติดตามและตรวจสอบ โดยมมีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

กระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้ อบจ.เชียงใหม่ สร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่สามารถรองรับขยะไม่ต่ำกว่า 650 ตันต่อวัน แต่ระหว่างก่อสร้าง ศูนย์การจัดการขยะฯ อบจ.เชียงใหม่ ยังต้องรองรับขยะจากพื้นที่ 10 อำเภอโซนกลางของจังหวัด โดยใช้วิธีนำขยะมาเทกอง และ ฉีดพ่นสารจุลินทรีย์ เพื่อให้เกิดการหมัก ลดกลิ่นเหม็น เมื่อครบ 45 วัน จึงคัดแยกเป็น ขยะรีไซเคิล หรือ ทำเป็นปุ๋ย ส่วนขยะที่ไม่ย่อยสลายจะถูกแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะ ส่งขายให้กับโรงไฟฟ้า

แต่ที่ผ่านมา ปริมาณขยะจาก อปท.พื้นที่ 10 อำเภอที่เข้ามายังศูนย์การจัดการขยะมูลฯ อบจ.เชียงใหม่ กลับสูงถึง 300 - 400 ตัน/วัน มากกว่าที่มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้กับ อปท. และ บริษัทเอกชน ที่ไม่เกิน 250 ตัน/วัน

สมชาติ วัฒนากล้า รองนายก อบจ.เชียงใหม่

สมชาติ วัฒนากล้า รองนายก อบจ.เชียงใหม่

สมชาติ วัฒนากล้า รองนายก อบจ.เชียงใหม่

นายสมชาติ วัฒนากล้า รองนายก อบจ.เชียงใหม่ชี้แจงว่า อบจ.เชียงใหม่ ได้เร่งเจรจา และ ขอความร่วมมือ บริษัทจัดเก็บขยะ และ อปท.ต่างๆ ให้ลดปริมาณขยะ เหลือไม่เกิน 300 ตัน/วัน และ ให้คนงานใช้โดรน และ รถดับเพลิงฉีดพ่นสารจุลินทรีย์EMกองขยะให้มากขึ้น เพื่อลดกลิ่นเหม็นให้ได้มากที่สุด รวมทั้งตั้งกำแพงสูงเพื่อบังกระแสลมไม่ให้พัดกลิ่นขยะออกนอกพื้นที่

ปัญหาคือปริมาณขยะในศูนย์ฯ มากเกิน หากรับขยะเข้ามาเยอะ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ปัจจุบันมีขยะตกค้าง 30,000 ตัน กองขยะมีความสูงถึง 7 เมตร ไม่มีทางลดขยะได้ ถ้ายังมีขยะเข้ามาทุกวันแบบนี้ ขณะนี้ได้แจ้งให้บริษัทผู้บริหารจัดการขยะ เพื่อลดปริมาณขยะให้ได้ และ จะต้องแก้ปัญหาใช้ชาวบ้านแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ข้อมูลจากระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชม กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จ.เชียงใหม่ มีขยะเกิดขึ้น 1,475 ตัน/วัน สูงที่สุดในภาคเหนือ โดยแต่ละวันขยะในพื้นที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 750 ตัน กำจัดไม่ถูกต้อง 425 ตัน และ มีการนำมากลับมาใช้ประโยชน์เพียง 300 ตัน

รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง