วันที่ 4 ส.ค.2567 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เกิดการประท้วงโดยรอบกรุงธากา บังกลาเทศ โดยพบว่ารถบัสคันหนึ่งถูกไฟเผาลุกท่วมทั้งคัน
ผู้เข้าร่วมประท้วงหลายหมื่นคน เรียกร้องให้ "Sheikh Hasina" นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากความไม่พอใจกรณีที่รัฐบาลเสนอกำหนดโควตาตำแหน่งงานภาครัฐให้กับลูกหลานของอดีตทหารผ่านศึกที่เคยร่วมรบกับปากีสถานในปี 1971 จนทำให้บังกลาเทศได้รับเอกราช
การประท้วงในครั้งนี้ลุกลามเป็นเหตุจลาจล เมื่อฝั่งที่สนับสนุนพรรครัฐบาลออกมาปะทะกับฝั่งผู้ประท้วง โดยใช้อาวุธเป็นไม้และมีด ขณะที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วง
ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการประท้วงเพียงวันเดียว ไม่ต่ำกว่า 91 คน ในจำนวนนี้มีตำรวจอย่างน้อย 13 นาย ถือเป็นวันที่การประท้วงนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มชุมนุมเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้มีผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืน แต่ตำรวจระบุว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริง
อีกทั้งตัวเลขการเสียชีวิตดังกล่าวมากกว่าเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่กลุ่มนักศึกษาออกมาเดินขบวนบนถนน และเสียชีวิต 67 คน
นอกจากนี้ ทางการสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และมีคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล หรือเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น รวมทั้งประกาศวันหยุดเป็นเวลา 3 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (5 ส.ค.2567)
ด้านบรรดานักวิจารณ์และกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่ารัฐบาลของ Hasina ใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับผู้ประท้วง ซึ่งผู้นำบังกลาเทศและบรรดารัฐมนตรีปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่าผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นผู้ก่อการร้ายที่พยายามทำลายเสถียรภาพของประเทศ และเรียกร้องให้ชาวบังกลาเทศปราบปรามผู้ก่อการร้ายเหล่านี้
อินเดียเตือนพลเมืองเลี่ยงเดินทางไปบังกลาเทศ
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศอินเดีย เรียกร้องให้พลเมืองงดการเดินทางไปยังบังกลาเทศจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม ซึ่งการประท้วงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 270 คน บาดเจ็บอีกหลายพันคน โดยเมื่อเดือนที่แล้วศาลสูงสุดของบังกลาเทศ มีคำตัดสินลดโควตาตำแหน่งงานภาครัฐของลูกหลายอดีตทหารผ่านศึกอยู่ที่เพียงร้อยละ 5 จากเดิมที่ร้อยละ 30 แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลุ่มนักศึกษาที่คัดค้านเรื่องนี้ยังคงไม่พอใจ และออกมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการประท้วงก่อนหน้านี้