ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในแวดวงการบิน เมื่อสายการบินของเกาหลีใต้ ประกาศยุติการให้บริการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับผู้โดยสารในชั้นประหยัด ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2567 เป็นต้นไป โดยทางสายการบินจะพิจารณาเมนูอื่นมาทดแทน เช่น แซนด์วิช หรือ คอร์นด็อก (Corn Dog) เป็นต้น ส่วนผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งจะยังคงมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้บริการเช่นเดิมหากผู้โดยสารต้องการ
สำนักข่าวเอพี รายงานอ้างโฆษกของสายการบิน ที่ระบุว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการความปลอดภัยเชิงรุก เพื่อรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนในปัจจุบันที่กำลังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเหตุน้ำร้อนลวกผู้โดยสารจากการตกหลุมอากาศ เนื่องจากทางเดินที่แคบ และผู้โดยสารนั่งติดกัน
ไม่ใช่แค่การหยุดให้บริการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น แต่อากาศแปรปรวนที่พบบ่อยขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้ระยะเวลาในการให้บริการบนเครื่องบินต้องเปลี่ยนไปด้วย โดยสายการบินโคเรียนแอร์ ระบุว่า พนักงานจะหยุดให้บริการต่าง ๆ ในห้องโดยสารก่อนเครื่องจะลงจอดประมาณ 40 นาที จากเดิม 20 นาทีสำหรับเที่ยวบินระยะไกลและระยะกลาง
"หลุมอากาศ" จุดเปลี่ยนการให้บริการบนเครื่องบิน
ประเด็นนี้นักวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มองว่า อากาศแปรปรวนที่พบบ่อยขึ้นจะกลายเป็นโจทย์สำคัญที่สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกจะต้องหาวิธีรับมือ ในช่วงที่ผู้ผลิตอากาศยานกำลังหาเทคโนโลโลยีเข้ามาช่วยตรวจจับอากาศแปรปรวนที่แม่นยำมากขึ้น
ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในช่วงข่าว "วันใหม่ไทยพีบีเอส" ว่า โจทย์จะท้าทายมากขึ้นบวกกับจำนวนการเดินทางทางอากาศที่โตขึ้น แต่สภาพอากาศเป็นใจน้อยลง คือ รุนแรงขึ้น เดาได้ยาก และมีความผันผวนมากขึ้น
ภาพประกอบข่าว
ความปลอดภัยของผู้โดยสารต้องมาเป็นอันดับแรก แต่ในอีกมุมก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่สายการบินต้องปรับมาตรการใหม่ก็เพื่อปกป้องบริษัทตนเองด้วย เพราะช่วงที่ผ่านมา มีกรณีที่สายการบินถูกฟ้องร้องด้วยเหตุที่ผู้โดยสารถูกนำร้อนลวกเป็นจำนวนมาก
อย่างกรณีของโคเรียนแอร์ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารหญิงคนหนึ่ง ที่บินจากโซลไปนิวยอร์ค ยื่นฟ้องสายการบิน หลังพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทำชาร้อน หกใส่ต้นขา
ย้อนไปปี 2022 สายการบินเดียวกันนี้ ถูกผู้โดยสารยื่นฟ้อง หลังถูกน้ำร้อนลวกจากชาที่พนักงานกำลังเสิร์ฟให้ โดยเธอกังวลว่า อาจเกิดรอยแผลเป็นอย่างถาวร จึงต้องฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย
การฟ้องเหล่านี้หากศาลตัดสินว่ามีความผิด สายการบินต้องชดใช้มหาศาล อย่างกรณีเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งมีผู้โดยสารหญิงของสายการบิน JetBlue ในสหรัฐฯ ฟ้องสายการบิน หลังถูกชาร้อนราดบริเวณหน้าอกและขา
โดยอ้างว่าพนักงานมีการเสิร์ฟชาให้ผู้โดยสารที่นั่งแถวหน้าเธอ ในขณะเครื่องผ่านสภาพอากาศแปรปรวน และสัญญาณไฟแจ้งรัดเข็มขัดติดอยู่ เธอเรียกค่าเสียหาย 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 52 ล้านบาท จากสายการบิน
ในการฟ้องร้องสายการบิน ทนายความของผู้เสียหายมักหยิบยก "อนุสัญญามอนทรีออล (The Montreal Convention)" ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศมาให้การต่อศาล โดยอนุสัญญาฉบับนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรับผิดของสายการบินต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร
ในอนุสัญญา ระบุว่า "การเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้โดยสารระหว่างโดยสารหรือกำลังขึ้นลงอากาศยานจะได้รับการชดเชย 128,821 สิทธิพิเศษการถอนเงิน (SDR)" ซึ่งคิดเป็นประมาณ 6.2 ล้านบาท
เมื่อมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและบ่อยขึ้น และบางกรณีศาลตัดสินว่า สายการบินเลี่ยงที่จะไม่รับผิดชอบ "ไม่ได้" จึงทำให้หลายสายการบินต้องทบทวนการให้บริการใหม่ เพราะหากอากาศแปรปรวนมากขึ้น หลุมอากาศมากขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็อาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
อ่านข่าว : สมรภูมิการเมือง "บ้านใหญ่" กับสนามเลือกตั้งนายก อบจ.