ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI TU) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำ เมื่อปี 2561 ถึง 2562 คณะผู้วิจัยจาก SROI TU วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2548 และถูกพบว่ามีระบาดของสายพันธุ์ปลาต่างถิ่นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 ที่บ่อกุ้งและบ่อปลาใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จากนั้นจึงพบการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว
สำหรับการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง ได้ถูกรายงานความเสียหายผ่านงานวิจัย “การประเมินผลโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ในปี พ.ศ. 2559 และในปัจจุบัน พ.ศ. 2567 ผลกระทบจากการระบาดดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคมและได้ถูกรายงานผ่านสื่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง บ่อเลี้ยงปู วังปลา และบ่อเลี้ยงกุ้ง มักพบว่ามีปลาหมอคางดำหลุดรอดเข้ามาในแหล่งเพาะเลี้ยงและไล่ล่ากินผลผลิตจนเกิดความเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรเกิดภาวะขาดทุน ไม่สามารถประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเดิมได้ เกษตรกรบางรายถึงขั้นต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพรับจ้างหรือลูกจ้างโรงงานที่ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าเดิม แต่เกษตรกรบางรายก็ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้ไม่มีใครจ้างงาน
ทั้งนี้จากการระบาดของปลาหมอคางดำ พบว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงจนผิดสังเกตทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่เลี้ยงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำมาจำหน่ายมีรายได้ลดลง
อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในปัจจุบันนอกจากจะเกิดผลกระทบต่อธรรมชาติแล้ว ยังส่งผลกระทบทางลบต่อระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องสูญเสียอาชีพดั้งเดิม รายได้ที่ลดลงอย่างมาก และการสูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ของ ต.แพรกหนามแดง
ประชาชนในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก จากการระบาดของปลาหมอคางดำประชาชนผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จึงเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการทำประมงพื้นบ้าน
จากข้อมูลของงานวิจัย “การประเมินผลโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563” พบว่า อาชีพด้านการประมงที่พบในคลองสาขาของ ต.แพรกหนามแดง คือ การเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม การเลี้ยงกุ้งทะเล และการทำประมงพื้นบ้าน โดยข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 2561 มีการเลี้ยงปลานิลเฉลี่ยปีละ 364.49 ตัน/ปี และมีรายได้เฉลี่ย 15.16 ล้านบาท/ปี
ในด้านการเลี้ยงกุ้งทะเล พบว่า ในพื้นที่แพรกหนามแดงตำบลเดียว สามารถผลิตกุ้งเฉลี่ย 743.63 ตัน/ปี และมีรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายกุ้ง 111.73 ล้านบาท/ปี
รายได้เฉลี่ยของกลุ่มอาชีพประมงในพื้นที่คลองสาขาตำบลแพรกหนามแดง
ในมิติอาชีพประมงพื้นบ้าน พบว่า ในพื้นที่คลองสาขามีประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงประมาณ 34 ราย มีรายได้จากการทำประมง 515 บาท/คน/วัน และใน 1 ปี ชาวประมงท้องถิ่นมีการทำประมงประมาณ 288 วัน ดังนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นแก่ชาวประมงกลุ่มนี้มีมูลค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.06 ล้านบาท/ปี
ดังนั้น รายได้รวมของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมงของพื้นที่แพรกหนามแดงจึงมีมูลค่าสูงถึง 131.96 ล้านบาท/ปี
จากมูลค่าดังกล่าว หากภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงปล่อยให้มีการระบาดของปลาหมอคางดำโดยปราศจากการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เกิดความเสียหายต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรและชาวประมงท้องถิ่นเป็นมูลค่าสูงถึง 131.96 ล้านบาท/ปี ซึ่งมูลค่านี้ยังไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และเป็นมูลค่าความเสียหายเฉพาะพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงเท่านั้น ความเสียหายจากการระบาดที่เกิดขึ้นจากปลาหมอคางดำนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและยากที่จะหยุดความเสียหายนี้ได้หากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป
อ่านข่าว :
"ฐากร" จ่อเรียกคุย 11 บริษัทส่งออก "ปลาหมอคางดำ" ปี 2556