ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สภาทนายความ" ฟ้องเอกชน-กรมประมง ทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด

สิ่งแวดล้อม
31 ก.ค. 67
15:20
1,361
Logo Thai PBS
"สภาทนายความ" ฟ้องเอกชน-กรมประมง ทำ "ปลาหมอคางดำ" ระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ และคณะทำงานสำนักงานคดีปกครอง เตรียมยื่นฟ้องคดีแพ่ง “บริษัทเอกชน” และคดีปกครอง “กรมประมง” จากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน 17 จังหวัด โดยกำหนดยื่นฟ้องในวันที่ 16 ส.ค.นี้

วันนี้ (31 ก.ค.2567) หลักฐานสำคัญที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ และคณะทำงานสำนักงานคดีปกครอง ระบุว่า จะนำไปใช้ ในการยื่นฟ้อง บริษัทเอกชนในคดีแพ่ง คือ ข้อมูลงานวิจัย 2 ฉบับ ของกรมประมง ซึ่งมีรายงานผลการศึกษา จุดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อปี 2554 และดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ

ในการแถลงข่าว ระบุว่า เจ้าหน้าที่จะแยกดำเนินคดีแบบกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในบ่อ และกลุ่มผู้หาปลาธรรมชาติ เพื่อเรียกค่าเสียหาย หลังพบว่าทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ โดย อาศัย พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433

นอกจากนี้ยังระบุว่า จะฟ้องดำเนินคดีปกครอง กับหน่วยงาน ที่อนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อมาวิจัย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมาย พร้อมทั้งร้องขอให้ศาลเร่งรัฐให้กรมประมง เรียกค่าเสียหายจากบริษัทเอกชน

ขณะที่ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ระบุว่า จากการรวบรวมหลักฐาน เพื่อยื่นฟ้องทั้ง 2 คดี พบว่ามีน้ำหนักมากพอที่จะยื่นฟ้องก่อนวันที่ 16 ส.ค.นี้ ส่วนกรณีที่รัฐบาล ประกาศจะนำเงินมาแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำจำนวน 450 ล้านบาท ชาวบ้านระบุว่า เงินจำนวนนี้อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา เนื่องจากหลายคนประสบปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี

จึงอยากร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย พิจารณาประกาศเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อนำงบประมาณของกระทรวงการคลัง มาช่วยเหลือ เนื่องจากมองว่าการฟ้องร้องคดีแพ่งกับบริษัทเอกชน ใช้ระยะเวลานาน อาจจะไม่ทันกับวิกฤตปัญหาเร่งด่วน

นอกจากนี้สภาทนายความยังออกแถลงการณ์ กรณีปลาหมอคางดำ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด “ปลาหมอคางดำ” ที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ “หลุดรอดเข้าฟาร์มเพาะเลี้ยงกินสัตว์น้ำตัวอ่อนกุ้ง และปลา” สร้างความเสียหายให้เกษตรกรเป็นวงกว้างแล้วอย่างน้อย 16 จังหวัดในขณะนี้ กลายเป็นปัญหาใหญ่ กระทบและทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และลุกลามลงสู่ทะเล

ด้วยลักษณะเฉพาะปลาชนิดนี้สามารถปรับตัว “ทนทุกสภาพแวดล้อม” ทำให้ปลาท้องถิ่นถูกกินเป็นอาหารลดจำนวนลงแล้วปลาหมอคางดำนี้ก็จะเป็นปลาหลักในแหล่งน้ำนั้นแทน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการประมง

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นข่าวประกาศจับปลาหมอคางดำ ปรากฏในหลายพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น ที่คุกคามระบบนิเวศ และสัตว์น้ำดั้งเดิม ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย เช่น จัดแข่งขันจับปลาหมอคางดำด้วยการลากแหและอวน ระดมพลลงแขก ไปจนถึงการปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ แต่การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะทั้งความที่ปล่อยปัญหานี้ไว้ยาวนาน มีการแพร่กระจายได้ง่าย

จากสถานการณ์ที่ระบบนิเวศกำลังเผชิญ แนวทางในการแก้ปัญหาตามหลักสากลทั่วโลก คือผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ การจัดการปัญหาปลาหมอคางดำระบาด ถ้าหากเลี้ยงแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ควรจัดการอย่างไร

อาจเกิดการละเลยของผู้ที่นำเข้า หรือว่าเกิดความผิดพลาดของผู้ทดลองเลี้ยง จึงเกิดปัญหาขึ้นดังนั้นผู้ที่นำเข้าควรเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่าย ในการกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นเจ้าภาพในการกำจัดจนกระทั่งเหลือปลาตัวสุดท้าย ต้องมีแผนจัดการในพื้นที่ระบาดหนักและหาทางควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในอนาคตอีก และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย

กรณีนี้ ทั้งบริษัทผู้นำเข้า และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต่างต้องร่วมกับผิดชอบในความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรับผิดชอบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ความหละหลวมไม่มีมาตรการควบคุมที่ดี ปล่อยให้มีการนำเข้าจนมาสู่การระบาดของปลาหมอคางดำ

การคุกคามปลาพื้นถิ่นปลาต่างถิ่น ที่เข้าไปกัดกินสัตว์น้ำพื้นถิ่นและกุ้งหอยปูปลาในบ่อเลี้ยง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร รวมถึงระบบนิเวศเสียหายเป็นวงกว้าง

เอกชนผู้นำเข้า และภาครัฐจึงมีหน้าที่ต้องแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาด ต้องมีการเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชน ที่นำพันธุ์ปลาเข้ามาในประเทศ ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ

สภาทนายความได้จัดตั้งคณะทำงานลงตรวจพื้นที่และข้อเท็จจริง หาคนมารับผิดชอบกรณีต้นเหตุการนำเข้าปลาหมอคางดำ และการทำลายปลาหมอคางดำว่าเหตุใด จึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ได้ จากนั้นจะฟ้องร้องทั้งคดีปกครอง คดีแพ่ง เพื่อให้เอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับผิดและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ระบบนิเวศ

อ่านข่าว : “ซีพีเอฟ” แถลงพบภาพเท็จ-ข้อความเท็จ กรณี “ปลาหมอคางดำ”

ถอดบทเรียน "สินค้าจีน" รุกตลาดทะลักไทย

มาซายูกิ เทราดะ "นักยูโดไทย" สร้างประวัติศาสตร์ในโอลิมปิก 2024

ข่าวที่เกี่ยวข้อง