คำร้องยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย-ชี้ขาด 7 ส.ค.นี้ และถัดจากนั้นไป 1 สัปดาห์ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย-ชี้ขาด คำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือวันที่ 14 ส.ค.นี้
ตามกระแสการเมือง ชี้ว่า คำวินิจฉัย 2 คำร้องนี้ คือเส้นกำหนดทิศทางการเมืองไทย โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่อง "ขั้วอำนาจใหม่" จากค่ายสีน้ำเงิน เตรียมผลักดันให้โหวตเลือก "อนุทิน ชาญวีรกูล" เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป? เป็นไปตาม "ดีลเขาใหญ่" ไหม
ดีลเขาใหญ่ดีล ที่มีเฉพาะแผนเฉพาะหน้าที่แก้ปัญหาระหว่างดิจิทัลวอลเล็ต กับ กัญชา และวางแผนการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ด้วย แต่เมื่อใกล้ final คดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี อะไรๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลง มีคนส่งซิก..แจ้งว่า "เกมพลิก" ดีลเขาใหญ่ไม่ได้จบตรงที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 11 พรรคเหมือนเดิม เนื่องจากคนที่ขับเคลื่อนทางการเมือง ระหว่างค่ายสีแดงที่หมายถึงเพื่อไทย และค่ายสีน้ำเงินที่ถูกตีความว่าพรรคภูมิใจไทย มีความเห็นต่างกันเกิดขึ้น
ทักษิณ ชินวัตร
ความเห็นต่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะภายในพรรค หรือว่า สส.เท่านั้น แต่หมายถึงผู้นำทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร รวมถึงนายเนวิน ชิดชอบด้วย เดิมคิดว่าการเคลียร์กันแล้วมีทีท่าว่าจะจบ แต่กลับเหมือนการคาบลูกคาบดอกกันอยู่ เพราะมีความเห็นต่างกัน ค่ายของเพื่อไทย หรือว่านายทักษิณ อยากจะผลักดัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หากนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องเผชิญกับปมถอดถอน
เช่นเดียวกับภูมิใจไทยก็อยากจะเสนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น ดีลเขาใหญ่คิดว่าผู้นำของทั้งสองพรรคคุยกันแล้ว หลังจาก 17 ปีผ่านไป เรื่องพลิกขั้วจับมือตั้งรัฐบาลกับคู่แข่งทางการเมือง กับวลี "มันจบแล้วครับนาย"
แต่ขณะนี้กลับมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น เดิมบอกกันคุยกันแล้ว ผ่านคนกลางที่ชื่อนายเศรษฐา และ อนุทิน แต่นี่เป็นจุดชี้วัดทางการเมือง ว่าไม่ได้เคลียร์กันจริงๆ หรืออาจจะเป็นข้อขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้น ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย
อนุทิน ชาญวีรกูล
ส่วนพรรคร่วม 11 พรรค ยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคำร้องและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
1. วันที่ 7 ส.ค.นี้ คอการเมือง เชื่อว่า "พรรคก้าวไกล" จะถูกยุบ แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ 177 สส.ของพรรคจะไปไหน? ในทางการเมืองช่วงที่พลิกขั้วนี้ แนวโน้มส่วนหนึ่งจะไปพรรคภูมิใจไทย และทันทีที่มีคำวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เกิดขึ้น และถ้าหากต้องพ้นจากตำแหน่ง จะเป็นจุดชี้วัดว่า 11 พรรคร่วมยังคงอยู่เช่นเดิมหรือไม่ หรือทั้งหมดทั้งมวลนี้จะกลายเป็นการเกิดขั้วอำนาจทางการเมืองใหม่
จุดชี้ขาดเกณฑ์ในการตัดสินใจ คนทางการเมืองวัดกันที่เสียงที่กุมอยู่ในมือ นั่นก็คืออำนาจทางการเมือง พรรคเพื่อไทยมี สส. 141 คน และฝากเลี้ยง รวมถึงที่รอเครมจากพรรคก้าวไกล รวมถึงในพรรคพลังประชารัฐอีกส่วนหนึ่งด้วย และเมื่อไปรวมกับ สว. และบอกว่าเป็นค่ายสีแดง ซึ่งรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 200 คน
สำหรับพรรคภูมิใจไทย ขณะนี้มี สส. 71 คน แต่เมื่อไปดูจำนวน สส.ที่ฝากเลี้ยง ในพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อไปบวกกับ สว.ที่หลายคนกล่าวขานว่าค่ายสีน้ำเงินกุมสภาสูง อีก 150 คน รวมแล้วประมาณ 250 คน การพลิกขั้วและเกิดขั้วอำนาจทางการเมืองใหม่ก็มีโอกาสเป็นไปได้
แต่สิ่งที่มองไม่เห็นที่เป็นข้อต่อรองทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอำนาจบารมี ผู้สนับสนุน กลุ่มทุน
ส่วน "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พอมีโอกาส แต่โอกาสนั้นน้อยมาเมื่อเทียบกับสีแดง และสีน้ำเงิน และ 40 สส.ของพรรคประชารัฐเป็นแบบไหน แค่ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าบริหารจัดการค่อนข้างยาก วันนี้นัดเคลียร์ในบ้านป่า แต่ดูเหมือนจะถูกเบรก เพราะต่างฝ่าย ต่างกำลังแรงใส่กัน
สรุปว่า ขั้วอำนาจทางการเมือง จะเกิดขึ้นใหม่ไหม "ค่ายสีน้ำเงิน" จะกุมอำนาจทางการเมืองหรือเปล่า อยู่ที่คำร้องถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะชี้ออกมา 14 ส.ค.นี้ และโอกาสของ ลุงป้อม ดูจะน้อยเต็มที ต่างกับ "เสี่ยหนู" ดูจะมีออราขึ้นมา
อ่านข่าว :