คลังผุดมาตรการภาษี แก้สมองไหล ดึงคนไทย "หัวกะทิ" กลับบ้าน

เศรษฐกิจ
30 ก.ค. 67
18:32
877
Logo Thai PBS
คลังผุดมาตรการภาษี แก้สมองไหล ดึงคนไทย "หัวกะทิ" กลับบ้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ก.คลัง ผุดมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือไม่เกิน 17% ดึงคนไทย"หัวกะทิ"ทำงานในต่างประเทศกลับไทย เป้าหมายเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม หวังกระตุ้นลงทุนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้นายจ้างหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ได้สิทธิถึงสิ้น ธ.ค.72

วันนี้ (30 ก.ค.2567) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้เดินทางกลับไทย ถือเป็นมาตรการสนับสนุนให้คนไทยที่มีความสามารถที่ทำงานในต่างประเทศ กลับเข้ามาทำงานในประเทศ

โดยเฉพาะบุคลากรที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในการพัฒนาประเทศและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572

สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แบ่งเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งเมื่อผู้มีเงินได้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยเป็นการจ่ายเงินเดือนระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 ได้จำนวน 1.5 เท่า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

สำหรับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าร่วมมาตรการ กรณีผู้มีเงินได้ (ลูกจ้าง) วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี เอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่น สัญญาจ้างงาน หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้จากการทำงานในต่างประเทศ หรือเอกสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นต้น

โดยต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้

กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้น 

ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิจะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรกำหนด

สำหรับ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง) ที่ประสงค์จะใช้สิทธิต้องแจ้งรายละเอียดของผู้มีเงินได้ที่เป็นลูกจ้างซึ่งจะใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2.1 โดยต้องมีข้อความและเอกสารประกอบอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดผ่านสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ภายในวันสุดท้ายของปีภาษีแรกที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้รับรองว่าข้อมูลและเอกสารที่แจ้งต่อกรมสรรพากรมีความถูกต้องและเป็นความจริง

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นการดึงดูดคนไทยที่มีศักยภาพให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อ่านข่าว:

 เงินบาทอ่อน อานิสงส์ส่งออกข้าวไทย พณ.ปรับเป้าใหม่ 8.2 ล้านตัน

พาณิชย์ ลุยขยายการค้าไทย-จีน ดันเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่ม

กรุงไทย ดึง 6 เทรนด์ใหม่ จูงใจนักเที่ยว คาดสะพัด 1.35 แสนล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง