ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชุมพรลงแขกจับ "ปลาหมอคางดำ" ระบาดหนัก 3 อำเภอ

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. 67
13:32
650
Logo Thai PBS
ชุมพรลงแขกจับ "ปลาหมอคางดำ" ระบาดหนัก 3 อำเภอ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จ.ชุมพร ระดมหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งภาคประชาชนล่า "ปลาหมอคางดำ" เน้นพื้นที่ใกล้ปากน้ำออกสู่ทะเล เพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรนำมาแปรรูปเพื่อเป็นอาหารให้กุ้ง

วันนี้ (26 ก.ค.2567) ประมงจังหวัดชุมพร บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน ลงพื้นที่เพื่อทำการล่าปลาหมอคางดำหลังระบาดโดยเฉาะพื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร ซึ่งมีแพปลาและโรงงานแปรรูปอาหารทะเลอยู่จำนวนมาก 

การจับปลาหมอคางดำครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการล่าปลาหมอคางดำ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่หลังพบการระบาดหลายจุด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าโกงกาง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ ทำให้ในพื้นที่แทบไม่มีสัตว์น้ำชนิดอื่นเหลืออยู่

ขณะที่ นายเอกชัย สง่า ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร ชาวประมงพื้นบ้านริมคลองอีเล็ตและคลองท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร ที่เคยดำเนินชีวิตนำเรือเล็กออกทำประมงตามปกติจะออกหา กุ้ง ปู ปลา

รวมถึงการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อขาย ให้ข้อมูลว่า พบเจอปลาหมอคางดำมาหลายปีแล้ว แต่ใน 2 ปีหลังเริ่มสังเกตได้ว่า หาสัตว์น้ำได้น้อยลง จนขนาดนี้บริเวณคลองอีเล็ตนั้นแทบจะไม่มีสัตว์น้ำอื่น นอกจากปลาหมอคางดำ จนต้องปรับเปลี่ยนเป็นการออกหาปลาหมอคางดำทดแทน ซึ่งคลองอีเล็ตนั้นจะเชื่อมต่อกับคลองท่าตะเภาซึ่งไหลมาจากในตัวเมืองชุมพรและลงสู่ทะเล

น.ส.เกสศิณีย์ แท่นนิล ประมงจังหวัดชุมพร กล่าวว่า พบปลาหมอคางดำใน 3 อำเภอได้แก่ อ.สวี อ.ปะทิว และ อ.เมือง และจากการร่วมกันลงแขก ลงคลอง แหว่งแห ปรากฏว่าแต่ละพื้นที่ได้ปลาหมอคางดำ 100 กิโลกรัม โดยวันนี้จะมีปฏิบัติการลงแขกอีกครั้งในพื้นที่ อ.ปะทิว เพื่อรวบรวมข้อมูลและวางมาตรการ ในพื้นที่ต่อไป

ส่วนที่ ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร ได้ระดมกำลังพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านนำเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยกันปรากฏได้ปลาหมอคางดำประมาณกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ชาวบ้านที่นำเรือประมงใช้สวิงตักปลาหมอคางดำที่ไปหากินอยู่บริเวณแพท่าเทียบเรือซึ่งมีการปล่อยน้ำคาวปลา มีจำนวนชุกชมซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลาหมอคางดำ

อ่านข่าว : "ธรรมนัส" ยังไม่ฟันธงเอาผิดเอกชน ปมปลาหมอคางดำระบาด

แปรรูปปลาหมอคางดำเป็นอาหารกุ้ง จ.นครศรีธรรมราช

ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช การระบาดอย่างรุนแรงของปลาหมอคางดำใน อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชาวบ้านหลายครอบครัวได้ใช้โอกาสนี้สร้างรายได้จากปลาหมอคางดำด้วยการนำมาจำหน่ายให้กับแพปลาในการนำไปเป็นเหยื่อในลอบปู หรือแปรรูปเป็นอาหารท้องถิ่น แต่แม้จะมีโครงการเตรียมรับซื้อปลาหมอคางดำโดยกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ กรมประมง และการยางแห่งประเทศไทย แต่ที่นครศรีธรรมราช ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องจุดรับซื้ออย่างจริงจัง

ล่าสุดมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายใหญ่ได้ทดลองนำปลาหมอคางดำมาใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับกุ้งในฟาร์ม

นายพิเชษฐ์ รัตนกุล เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งชาวเนินหนองหงส์ หมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร พื้นที่ระบาดของปลาหมอคางดำได้เริ่มทดลองเริ่มต้นจากการใช้ปลาหมอคางดำวันละ 50 กิโลกรัม มูลค่า 1,000 บาทมาปรับใช้เป็นอาหารเสริมให้กับกุ้งที่เลี้ยงไว้ และเริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงของกุ้งในบ่อ

โดยรับซื้อปลามาทำความสะอาดแล้วต้มทันทีพร้อมกับใส่เกลือจำนวนหนึ่งในขณะที่ยังมีความสดใหม่ โดยจะไม่ใช้ปลาสดอย่างเด็ดขาดเกรงว่าจะมีการเล็ดลอดของไข่ปลาแล้วทำให้มีการแพร่พันธุ์ได้ในบ่อกุ้ง ก่อนนำไปเสริมอาหารให้กับกุ้งในบ่อเลี้ยง

นอกจากนั้นยังมีการต้มให้เปื่อยยุ่ยแล้วนำไปหมักผสมกับจุลินทรีย์ ประมาณ 4-5 เดือนแล้วนำน้ำหมักที่ได้ไปผสมคลุกเคล้ากับอาหารก่อนนำไปใช้กับกุ้ง

อ่านข่าว : หลักฐานใหม่ DNA "ปลาหมอคางดำ" ระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน

สุ่มหว่านแห หาปลาหมอคางดำทะเลสาบสงขลา

ขณะที่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ประมง อ.ระโนด ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา ลงพื้นที่สำรวจปลาหมอคางดำ ในคลองมาบหวาย และ คลองปากบาง ซึ่งทั้ง 2 คลองนั้นมีจุดเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา เพื่อทอดแห สุ่มตรวจหาปลาหมอคางดำที่แพร่ขยายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีภาคประชาชนร่วมสังเกตการณ์ จากการทอดแห 5 ครั้ง ก็ยังไม่พบปลาหมอคางดำ แต่ยังเน้นย้ำให้ร่วมกันเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการระบาดขยายวงกว้างมากขึ้น

สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการลดจำนวนปลาหมอคางดำ ในจุดที่พบการระบาดใหม่ คือคลองเป็ด ที่มีปลาหมอคางดำจำนวนมาก และในจุดนี้นั้น ชาวบ้านไม่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร ประกอบกับในคลองมีสิ่งกีดขวาง เศษไม้ เศษ ขยะ ทำให้การทอดแหขึ้นมาทำได้ยาก นอกจากนั้นยังเตรียมปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวประมาณ 30,000 ตัว ในต้นเดือน ส.ค.นี้ และเร่งวางมาตรการร่วมกับสำนักงานชลประทานจังหวัดเพื่อป้องกันปลาหมอคางดำไหลตามน้ำไประบาดในอำเภออื่นๆ

ขณะที่บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ประเมินว่าต้องแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างน้อย 3-5 ปี โดยเฉพาะการปล่อยพันธุ์ปลานักล่าอย่างปลากะพงขาว ควรจะทำอย่างจริงจัง และให้ชุมชนมีส่วนร่วม รับรู้ว่าการปล่อยปลากะพงขาวในจุดที่มีการระบาดคือการแก้ปัญหาและอย่าเพิ่งจับปลากะพงขาวขึ้นมา จึงช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

อ่านข่าว :

จ่อฟ้องแพ่งค่าเสียหายคดี สวล."ปลาหมอคางดำ"

อนุกมธ.เปิดเอกสารซีพีเอฟ ระบุชื่อ 2 ขรก.รับซาก "ปลาหมอคางดำ" ปี 2551

"ปลาหมอคางดำ" จับจากน้ำเน่าเสี่ยงสารพิษ-เชื้อโรคในตัวปลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง