AI มาแทนที่ …คนจะตกงาน? ฟังชัดๆ กับ "ดร.สันติธาร เสถียรไทย"

Logo Thai PBS
AI มาแทนที่ …คนจะตกงาน? ฟังชัดๆ กับ "ดร.สันติธาร เสถียรไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ข้อมูลจาก PwC (บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลก) ภายในปี 2530 เทคโนโลยี “AI” จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกราว 45% จากการใช้ AI พัฒนาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และยังช่วยยกระดับ GDP ประเทศต่าง ๆ ได้เฉลี่ย 2.6%

หากอธิบายให้เข้าใจง่าย "เทคโนโลยี AI" คือ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ถูกเขียนและพัฒนาขึ้นโดยมนุษย์ให้มีความฉลาด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาได้ นิยมใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ และอุตสาหกรรม

ในรายงาน PwC ระบุอีกว่า คนไทยยังขาดทักษะที่จะนำ AI มาใช้กับธุรกิจ มีเพียง 36% เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้กับบริษัทในเมืองไทย เทคโนโลยี AI ที่เริ่มแฝงตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประชากรในประเทศไทยเกิดความหวั่นเกรงและกลัวว่า จะเป็นภัยคุกคาม หรือจะทำให้คนตกงานในอนาคตจริงหรือไม่

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จะอธิบายให้คนไทยเข้าใจเพิ่มขึ้นในรายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ว่าจริง ๆ แล้ว เทคโนโลยี "AI" จะให้คุณหรือให้โทษมากกว่ากัน และจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องใช้มัน

ดร.สันติธาร ยืนยันว่า เราอยู่ในยุคที่ต่อให้ไม่อยากยุ่งกับ AI เอไอก็จะมายุ่งกับเรา ฉะนั้นเราควรจะยุ่งกับมันอย่างรู้วิธีดีกว่า ว่า มันเปลี่ยนวิถีชีวิตเราได้ และวิธีการทำงานของเราได้อย่างมหาศาล

ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "Generative AI" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Chat GPT" (ซอฟท์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถตอบโต้กับมนุษย์ในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์) ," Google Gemini " (สามารถทำความเข้าใจข้อมูลได้หลากหลายประเภท ทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและโค้ด สามารถทำงานที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ..พูดให้เห็นภาพก็คือ.. โลกกำลังเปลี่ยนจากยุคคอมพิวเตอร์มาเป็นสมาร์ทโฟน เครื่องเล็กลงที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ง่ายขึ้น ทำอะไรได้เยอะขึ้น

"เทคโนโลยีคือประสิทธิภาพ ที่ทำให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างเต็มที่โดยลดต้นทุน และใช้คนน้อยลง ตัวอย่างเมื่อก่อนทุกวงการสื่อจะไปทำข่าวที่ไหน ต้องมีทีม มีกล้องใหญ่ มีคนทำซาวน์ ทำเสียง เดี๋ยวนี้มีแค่มือถือเครื่องเดียวก็ทำอะไรได้เยอะมาก"

…ถ้าถามว่า AI จะมาซ้ำประวัติศาสตร์เทคโนโลยีอื่น ๆ หรือไม่ เพราะมันจะเก่งขึ้นฉลาดขึ้น และทำอะไรได้มากขึ้น และถ้าเราไม่ลงไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เราจะไม่ทัน เป็นไปได้หรือไม่..

ดร.สันติธาร เชื่อว่า จะเป็นอย่างนั้น หากเรามีความกลัวเกินไป จะทำให้มองแค่เพียงระยะสั้น สิ่งสำคัญ คือ การลืมคิดถึงผลกระทบในระยะยาว แต่หากมองย้อนบริบทเศรษฐกิจประเทศไทย โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ผนวกกับประชากรวัยทำงานกำลังหดตัวลง สอดคล้องกับข้อมูลคาดการณ์อีก 20-25 ปีข้างหน้า แรงงานของไทยจะหายไปกว่า 10 ล้านคน ปัญหาขาดแคลนคนทำงานจะกลายเป็นปัญหาหลักในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

ถ้าเศรษฐกิจไทยเหมือนโรงงานหนึ่ง เรากำลังจะบอกว่าคนงานเรากำลังจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ถ้าเราอยากให้ผลผลิตไม่ลดลง แต่ละคนก็ต้องผลิตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก

เทคโนโลยี "AI" ถ้าใช้เป็น ใช้ถูกวิธี จะเป็นเครื่องมืออีกตัวที่จะมาตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ การศึกษา ..ถ้าถามว่าช่วยได้อย่างไร… "ดร.สันติธาร" ได้นิยามข้อสรุป ได้ 4 ช่องทาง "2A 2i" คือ

A1 คือ "Automation" เป็นสิ่งที่เราพูดกันบ่อย และกลัวที่สุด คือ มาแทนที่คน อย่างเมื่อก่อนเราต้องทำเอกสาร ทำอะไรต่าง ๆ แต่ตอนนี้ AI จะทำให้อย่างรวดเร็ว

A2 คือ "Augmented" เทคโนโลยีที่ทำให้งานที่ทำอยู่แล้ว ทำได้ดีขึ้นอีก เช่น การเขียนบทความ "เมื่อก่อนจะต้องเขียนเอง ตอนนี้เราอาจจะมีหุ่นยนต์มาช่วยกราฟแรกให้ หรืออาจจะเป็นคนมาช่วยคิดกราฟไอเดีย จะทำให้งานเขียนมีการพัฒนา"

I1 คือ "Inclusion" เทคโนโลยีที่จะทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น ยกตัวอย่างการแพทย์ การเข้าสู่สังคมสูงวัย คนอยู่ไกลโรงพยาบาล คนต้องเดินทางเข้าไปตรวจสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การพูดคุยผ่านกล้องเท่านั้น แต่ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยได้ด้วย “บางทีแค่ดูจากหน้า อ่านจากในดวงตา หลายอย่างมันทำและพัฒนาไปไกลมาก เพราะฉะนั้นคนที่เคยเข้าไม่ถึงการแพทย์ จะเข้าถึงได้แล้ว"

I2 คือ "innovation" เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม ในการช่วยดีไซน์ การทดลองผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ “เหมาะกับการทำวัคซีน ยา เพราะว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยคิดว่า โปรตีนลักษณะนี้จะผสมกับอะไร และจะช่วยทดลองว่าดีหรือไม่ดี จะช่วยเร่งรัดให้เร็วขึ้น"

..ถามว่ามีความแม่นยำพอที่จะเชื่อได้แค่ไหน.. "ดร.สันติธาร" มองว่า อยู่ที่การดีไซน์จากมนุษย์ โดยจะมีทั้งแบบที่มนุษย์ไม่ต้องยุ่งเลย ส่วนใหญ่เป็นงานง่าย ๆ ไม่อันตราย ผลกระทบไม่เยอะมาก และแบบที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุม …ข้อดีของ AI ในขณะนี้ เกือบทุกประเทศก็อยู่ในช่วงเริ่มต้น (ยกเว้นอเมริกา – จีน)

หากสังเกตประเทศไทยก็มีความพยายามหลายอย่างที่จะเริ่มเข้าไปถึง AI ด้วยการลงทุนของภาคเอชน บริษัทใหญ่ ๆ ด้วยการสร้าง "Language Model" (ปัญญาประดิษฐ์ ที่มีความถนัดในการเข้าใจและผลิตภาษาได้แบบมนุษย์ และยังสามารถจดจำลักษณะของภาษามนุษย์) แบบภาษาไทย หรือเอามาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ และ "Startup AI" (บริษัทเกิดใหม่ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนแรกของแผนพัฒนาธุรกิจ ซึ่งมักจะได้รับเงินทุนจากองค์กรใหญ่หรือนักลงทุนอิสระในช่วงการเริ่มต้นธุรกิจ) ขณะที่การตื่นตัวของฝั่งรัฐบาลก็เตรียมร่างกฎหมายในการควบคุมการใช้ AI อย่างไร

"ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่อยากให้เห็น คือการเอา AI มาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่ใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือใช้ได้แค่บางคน และต้องใช้อย่างสร้างสรรค์ ใช้อย่างปลอดภัย ใช้อย่างทั่วถึง"

สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ในการพัฒนาคนเพื่อเข้าถึง AI ไม่ใช่แค่เพียงบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น แม้ AI จะฉลาดแต่ก็เป็นการสร้างมาจากสมองคน และต่อไปก็จะมีคนที่เริ่มธุรกิจ AI ที่มีการพัฒนาแอพ พัฒนาซอฟต์แวร์จากสมองมนุษย์อีก ในอนาคตเชื่อว่าเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ในกลุ่มอุตสาห กรรมเท่านั้น แต่จะมีประโยชน์ทั้งในด้านสาธารณะสุข การศึกษา สังคม วิทยาศาสตร์

สิ่งสำคัญประเทศไทยจะต้องมีแผนให้ชัดว่าจะไปทิศทางใด ไม่ต้องคิดไกลถึง 20 ปี ในระยะสั้น 3 ปี หลังจากนี้ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะหากเรายังกลัว และไม่ทำ ประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มแซงหน้าเราไปเรื่อย ๆ

"ต้องยอมรับเรื่องเทคโนโลยี บางครั้งด้วยความที่คนทั่วไปอาจจะไม่มีความเข้าใจ สิ่งแรกที่จะรู้สึกเมื่อเจอการเปลี่ยนแปลงก็คือความตื่นกลัว พอเจอความตี่นกลัว การตอบสนองแรกของเราจะออกมาเป็นนโยบายในรูปแบบการควบคุมด้วยการนำโมเดลจากประเทศยุโรปมาใช้ โดยที่ไม่ได้เหมาะสมกับบริบทที่เป็นอยู่ จะทำให้เกิดอันตรายต่อการควบคุม " ถ้าเขียนกฎหมายแต่ไม่ได้ทำความรู้ความเข้าใจกับประชาชน สุดท้ายมันจะกลายเป็นว่าทุกคนกลัวยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นถ้าเราอยากจะสร้างการยอมรับอย่างชาญฉลาด เราต้องสร้างความรู้พื้นฐานของ AI ให้กับคนไทยทุกคนจริง ๆ ในทุกระดับ"

เป้าหมายสำคัญของ AI "ดร.สันติธาร" มองว่า จะต้องครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ ด้าน ซัพพลาย (Supply)"  ต้องมีทรัพยากรที่รู้ AI อย่างลึกซึ้ง ในระดับเชี่ยวชาญสามารถเขียนโปรแกรม และบุคคลที่มีทักษะความรู้ด้านพื้นฐาน ถ้าถามว่าเรามีบุคลากรพอไหม ต้องบอกว่ายัง …อีกวิธีก็คือการดึงบุคลากรที่มีประสิทธิภาพจากนานาประเทศเข้ามาเพื่อสร้างสตาร์ทอัพ AI ให้คนไทยได้เรียนรู้ควบคู่ไปด้วย"

"ด้านดีมาน (Demand)" โปรแกรม หรือเทคโนโลใหม่ ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้น ภาครัฐ - ภาคเอกชน นำไปใช้ได้จริง ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ การศึกษา ธุรกิจ อุตสาหกรรม การแพทย์ ที่จะทำให้มีการพัฒนาไปได้ไกลมากขึ้น

"ด้านสภาพแวดล้อม" การออกกฎหมายจะต้องดูบริบทที่เป็นการลดความไม่แน่นอนของการใช้เทคโนโลยี แต่ไม่ใช่การออกกฎหมายเพื่อควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะจะทำให้คนเกิดความกลัวและไม่ยอมเข้าถึง "ไม่ใช่กฎหมายไม่จำเป็นเลย แต่กฎหมายควรจะมีเพื่อลดความไม่แน่นอน คือให้คนสามารถใช้ได้อย่างสบายใจ เช่น ผมทำเรื่องรูป เรื่องภาพ และเอาภาพมาให้ AI ศึกษาต่าง ๆ ได้ดู และช่วยสร้างดีไซน์อะไรใหม่ ๆ ให้ ผมทำแบบนี้ผมไปเอาของที่มีลิขสิทธิ์มาผมทำได้หรือเปล่า กฎหมายมันควรจะเป็นอย่างไร กรอบมันเป็นอย่างไร มันควรจะมีกฎหมายเพื่อสร้างความมั่นใจ เพื่อทำการรับมันง่ายขึ้น และปลอดภัยขึ้นด้วย"

"ด้านเดลต้า" รัฐบาลควรจะเปิดเดลต้ามากขึ้น ตัวอย่างนโยบายประเทศเกาหลีใต้ ที่ชื่อว่า “เดต้าแดม” หรือเขื่อนแห่งข้อมูล คือการเอาข้อมูลจากหลาย ๆ ที่มารวมกัน เพื่อจัดให้เป็นรูปแบบให้ใช้งานได้ง่าย หากประเทศไทยทำได้แบบนี้ก็จะเกิดความสำเร็จในการต่อยอดข้อมูลเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้เรื่อย ๆ หลากหลายจากภาคประชาชน

ความยากของ AI เป็นนโยบายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมันแปลว่าเราไม่สามารถทำงานแบบแยกส่วนได้ ต้องร่วมมือกันทั้งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ - เอกชน แต่จะให้ร่วมมือกันทุกด้าน ทุกอุตสาหกรรมคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยถ้ามีการตั้งธงเลยว่าจะทำเรื่องอะไรอย่างไร เพื่อเป็นโครงการนำร่อง จะทำให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน

การตื่นตัวของรัฐบาลในตอนนี้ "ดร.สันติธาร" บอกว่า มีการประชุมทุกสัปดาห์ แต่ก็ยังเป็นการพูดคุยที่หลากหลาย เชื่อว่า สิ่งที่จะออกมาก่อน คือ กฎหมายเพื่อครอบคลุมในมิติต่าง ๆ แต่สิ่งที่อยากเห็นเป็นชิ้นเป็นอันจากรัฐบาลคือนโยบาย AI ที่จะออกมามากกว่า ในขณะที่ภาคเอกชน
ก็ พยายามจะเข้าถึงแต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ง่าย เนื่องด้วยในประเทศเราและภาคอุตสาหกรรมก็ยังไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยี AI และยังมีความเชื่อว่า AI จะมาแทนที่กำลังคน ทำให้คนตกงาน

ดร.สันติธาร ยอมรับว่า AI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่อยากให้คิดแบบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น 5 ข้อ คือ

1. ทุกคนกลัวมากที่สุด คือ AI มาแทนที่มนุษย์
2. AI ไม่ได้มาแทนที่เรา แต่คนที่ใช้ AI มาแทนที่เรา
3. สมมุติบริษัทเราไม่ใช้ AI เลย แต่บริษัทคู่แข่งเราใช้ AI หมดเลย บริษัทเราเจ๊ง เราก็ตกงานเหมือนกัน
4. ประเทศเราไม่ใช่ AI และประเทศเพื่อนบ้านใช้ AI ฐานส่งออกย้ายไปที่นั่นหมด เราก็ตกงาน
5. แย่สุด คือเราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก AI เราจะนึกว่าทำไมเขาย้ายฐานผลิตไปที่อื่น ทำไมเขาต้นทุนถูกจังเลย ทั้งที่จริง ๆ เพราะเขาใช้ AI

ผมคิดว่าจริง ๆ ต้องห่วงทุกอัน แต่ผมอยากจะเน้นข้อที่ 3 และข้อที่ 4 เพราะผมมีความรู้สึกว่าประเทศไทยตกขบวนมาเยอะ ถ้าเรามัวแต่กลัวแล้วเราไม่ทำ กลายเป็นว่าคนอื่นเขาทำกัน แซงกัน ฐานการผลิตย้ายไปประเทศอื่น เราก็ตกงานอยู่ดี แต่ถ้าเรายอมรับว่ามันมาแน่ อันดับ 1 อันดับ 2 ยังพอเป็นข้อที่เรายังพอบริหารได้ ฉะนั้นเราจะต้องเร่งสร้รางบุคลากร และทำให้เป็นนโยบายแห่งชาติ

พบกับรายการ : "คุยนอกกรอบกับ สุทธิชัย หยุ่น" ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง