วันนี้ (24 ก.ค.2567) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย 16 จังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาตาม 5 มาตรการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีข้อสงสัยของสังคมเรื่องไข่ปลาหมอคางดำ สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมนอกปากปลาหมอคางดำได้ถึง 2 เดือน และยังฟักเป็นตัวได้
จากหลักวิชาการด้านประมง พบว่า พฤติกรรมของปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่พ่อปลาอมไข่ไว้ในปาก เพื่อฟักไข่ในปากไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้น และออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงจะเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา
อ่านข่าว วิกฤต “ปลาหมอคางดำ” (Blackchin Tilapia) รุกราน-ระบาดทั่วโลก
ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำจึงไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้ง จะกลายเป็นไข่เสียทันที ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก
ในปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำ สามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน แล้วกลับมาฟักเป็นตัวได้อีกอย่างแน่นอน
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า เมื่อนำปลาหมอคางดำขึ้นจากน้ำแล้ว ไข่ปลาที่อยู่ในปากของพ่อปลาที่ตายแล้ว จะสามารถทนอยู่ได้ในปากประมาณ 10-15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง
ในกรณีไข่ปลาหมอที่ตกค้างบริเวณพื้นบ่อที่ตากไว้ และโรยปูนขาวแล้ว ไข่ปลาหมอไม่สามารถฟักเป็นตัวได้
สำหรับไข่ปลา ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง พบได้ในปลาบางชนิด เช่น ปลาคิลลี่ (Killifish) ที่เป็นปลาขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตสั้น ตามสัญ ชาตญาณ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ทำให้ไข่ปลาชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ โดยในฤดูที่แห้งแล้งปลาคิลลี่จะวางไข่ไว้บนพื้นดิน และเมื่อได้รับน้ำในฤดูฝนก็จะสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำ
นอกจากนี้ กรมประมงยังมีการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ เกษตรกรชาวประมง และประชาชน จับปลาหมอคางดำขึ้นจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อระบบปิด ซึ่งเมื่อจับขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องนำไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ กรมประมงเอง ก็มีการตั้งจุดรับซื้อทุกจังหวัดที่พบการแพร่ระบาด โดยตั้งราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 15 บาท จึงขอแนะนำข้อปฏิบัติในการขนย้ายปลาหมอคางดำ ดังนี้
- การขนส่งปลาหมอคางดำ ควรทำการขนส่งแบบแห้ง เพื่อไม่ให้มีไข่ปลารอดชีวิต
- การนำปลาหมอคางดำไปเป็นเหยื่อหรืออาหารสัตว์แบบสด ควรใช้ปลาตายและเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีไข่อยู่ในปาก
- การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของปลาหมอคางดำ เช่น การนำไปทำปุ๋ยชีวภาพหรือทำเป็นอาหารสัตว์ ควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันการหลุดรอด
- การขนส่งปลาสดในน้ำแข็ง ควรนำปลาใส่ถุงก่อน เพื่อไม่ให้สัมผัสกับน้ำแข็งที่อาจละลายในระหว่างการขนส่ง
อ่านข่าว กยท.ยันใช้ 50 ล้านซื้อ "ปลาหมอคางดำ" ไม่ขัด พ.ร.บ.การยางฯ
สำหรับเกษตรกรที่เตรียมบ่อสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงมีข้อแนะนำ ดังนี้
- ลงปูนขาว หรือ กากชา เพื่อฆ่าศัตรูปลา ในการเตรียมบ่อก่อนลงลูกปลาที่เลี้ยงทุกครั้ง
- ใช้ถุงกรองเพื่อกรองน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่บ่อ ป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำ ปลาผู้ล่าอื่น ๆ รวมถึงศัตรูปลาเข้าสู่บ่อเลี้ยง
- หากพบปลาหมอคางดำในบ่อต้องรีบดำเนินการจับขึ้น โดยใช้แห อวน ลอบ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อควบคุมและกำจัดไม่ให้แพร่ระบาดจำนวนมาก
- หากพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำใกล้เคียงบ่อเลี้ยงให้รีบกำจัด และแจ้งกรมประมงเพื่อหาทางควบคุมและกำจัดออกจากแหล่งน้ำทันที
- หากบ่อเลี้ยงเคยพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาแล้ว ควรทำการตากบ่อ จนกว่าดินจะแห้งสนิทก่อนสูบน้ำเข้าบ่อ เพื่อเพาะเลี้ยงใหม่อีกครั้ง
อ่านข่าว
“ปลาหมอคางดำ” ใครพลาดอะไร ใครต้องรับผิดชอบ