หนึ่งในมุมมองจากการสนทนากับ “พี่ชู” หรือ “บุญธร กิติพัฒฑากรณ์” ผู้กำกับละครในวัย 50 ปี
ไตรมาส 1 /2567 ประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ประมาณ 65.9 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 59.0 ล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 62.9 ล้านคน ซึ่งเป็นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทั้งนี้แนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ต ระหว่างปี 2566 (ไตรมาส 1) – 2567 (ไตรมาส 1) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 87.6 ในปี 2566 (ไตรมาส 1) เป็นร้อยละ 89.5 ในปี 2567 (ไตรมาส 1)
ทั้งนี้กลุ่มอายุ 15 -24 ปี ใช้อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 99.1) ใช้โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 99.2) ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ
แนวโน้มประชาชนใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มากขึ้น สะท้อนถึงยุคที่เปิดกว้างเข้าถึงคอนเทนต์ เข้าถึงแพลตฟอร์มหลากหลาย ได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ง่าย และรวดเร็ว เพียงผ่านทางโทรศัพท์ในมือ
นำมาสู่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากหน้าจอทีวี สู่หน้าจอโทรศัพท์ คนผลิตคอนเทนต์ ละคร จำต้องปรับตัวตาม และผลิตสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบโจทย์
“พี่ชู” คือหนึ่งในบุคคลวงการละครที่ต้องยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยใจรัก มุ่งมั่นในอาชีพ เริ่มต้นเส้นทางละครจากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครเวที ก่อนขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับและผู้จัดละครฝีมือดี
วันนี้เรามาฟังมุมมองและแง่คิดของ “พี่ชู” ถึงการเปลี่ยนแปลงของละครไทยในยุคดิจิทัล
อ่านข่าว : "ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"

บุญธร กิติพัฒฑากรณ์ ผู้กำกับละคร
บุญธร กิติพัฒฑากรณ์ ผู้กำกับละคร
1 ทศวรรษ กับละครไทยที่เปลี่ยนไป
วงการละครทีวีเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง เริ่มต้นที่ด้านเนื้อหา จากเดิมเป็นละครคู่รัก ตบตี ครอบครัว เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการพูดถึงปัญหาสังคม รวมถึงพูดถึงคอนเทนต์ใหม่ๆ มากขึ้น
ในเรื่องการถ่ายทำ จากเดิมต้องใช้ 3 กล้อง ใช้รถโอบี Switcher โดยสี หรือ Quality ของภาพ จะถูกกำหนดโดยคนคนหนึ่งบนโอบี ผ่านฝ่ายตัวต่อ และสถานีก่อนส่งออกอากาศ ความเป็นมาตรฐานหรือการรักษาคุณภาพ Mood & Tone ก็จะหายไปบางส่วน การถ่ายทำบางจังหวะที่ตัวละครเล่นถึงบทบทหนึ่ง ตัวละครอีกคนต้องหยุด เพื่อรอให้กล้องสลับมารับหน้าตัวละคร ความเป็นธรรมชาติ และความสมจริงก็จะหายไป ต่อมาเมื่อกล้องเริ่มมีอิสระมากขึ้น ไม่มีสาย ใช้ Wireless ซึ่งส่งผลต่อเรื่องของภาพ การถ่ายทำจะเรียลมากขึ้น เพราะมีกล้องเรกคอร์ดตลอดเวลา ความเรียลที่หมายถึงความเป็นธรรมชาติ
เรื่องของสี ปัจจุบันมีการทำสี 2 แบบ คือ การทำสีในกอง และทำสีในห้องทำสี ซึ่งรายละเอียดก็จะทำได้เยอะขึ้น เลือกสีได้มากขึ้น Mood & Tone ก็ได้อารมณ์มากขึ้น
อดีตจะสังเกตได้ว่าละครไทยหลายๆ เรื่อง เมื่อฉากตัวละครตกใจ ดีใจ เสียใจ Soundtrack ก็จะคล้ายๆ กัน แต่ปัจจุบันจะมีการผสมผสานใหม่ จะทำให้เสียงเริ่มหลากหลายมากขึ้น
ถึงตอนนี้เมื่อ “ซีรีย์” เริ่มเข้ามา มีการพัฒนาสีของภาพ เสียง องค์ประกอบอื่นๆ แม้แต่วิธีการกำกับการแสดง วิธีการแสดง เทคโนโลยีมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่องทางออนไลน์ทำให้คนเห็นอะไรได้กว้างขึ้นตามยุคตามสมัย

“ละครไทย” เข้าใจ “คนไทย”
“ละครไทย เข้าใจคนไทยที่สุด รสชาติถูกปากคนไทย ไม่ว่าจะอดีต หรือ ปัจจุบัน ยังเป็นเนื้อหา เป็นเรื่องราวในบ้านเมือง เรื่องใกล้ตัว ที่สัมผัสได้ถูกปรุงแต่งด้วยวิธีการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี ซาวน์ รูปแบบ รวมถึงการเล่าเรื่อง”
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนคนไทยมักปรับตัวกับทุกสถานการณ์ได้ดี คนไทยยังชอบละครแนวคุณธรรม ละครตลก มองโลกในแง่ดี เรื่องผี ความเชื่อ
เมื่อมาถึงยุคนี้แม้แต่แพลตฟอร์มสตรีมมิง เช่น Netflix เองก็จะเลือกเนื้อหา ให้ตรงความต้องการของคนไทย และคนเอเชีย อย่างเรื่องหลานม่า ฉายที่อินโดนีเซียได้ 400 ล้านบาท ประเทศไทย 300 ล้านบาท รวมแถบเอเชียแล้วกว่า 1 พันล้านบาท จนสื่อต่างชาติพูดถึง
- รอยรักรอยบาป ละครพีเรียด ช่อง 7 ขึ้นแท่นอันดับ 1 ของรายการทีวีอันดับสูงสุดในไทยบน Netflix (ข้อมูล ณ 30 พ.ค.2567)
- หลังคาใบบัว ละครแนวดรามา เรื่องราวของหญิงชายซึ่งมีความต่างทางฐานะ ออนแอร์ช่องอมรินทร์ TOP 5 ซีรีส์ยอดนิยมใน VIU 14 สัปดาห์
- เช่นเดียวกับ ผู้ใหญ่ลี ศรีบานเย็น ทางช่องเวิร์คพอยท์ ได้รับรางวัลละคร LGBTQ+ ยอดนิยมแห่งปี 2566 งานประกาศรางวัลกินรีทองมหาชนครั้งที่ 9 รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทละครเย็น และ พี่ชู ก็ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ในงานประกาศรางวัลนาฏราชครั้งที่ 15 ทั้งนี้ “ละคร ผู้ใหญ่ลี ศรีบานเย็น” และติดอันดับ TOP 5 ใน Netflix 11 สัปดาห์
อ่านข่าว : ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม

ความแตกต่าง “ละคร-ซีรีย์”
ละครเป็นการนำเสนอเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันตลอดทั้งเรื่อง และมักจะมีจุดเริ่มต้นและสรุปเรื่องราวที่ชัดเจน ระยะเวลาการนำเสนอที่เกิน 1 ชั่วโมงต่อตอน ซึ่งละครทีวีคนดูสามารถทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถกลับมาดูอย่างเข้าใจเนื้อเรื่องได้ และละครในแต่ละช่องจะมีรสชาติที่แตกต่างกันไป ผู้ผลิตละครเองต้องทำการบ้านเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละช่อง
ช่อง 7 เน้นละครชาวบ้าน ดูง่าย ไม่ซับซ้อน คนส่วนใหญ่ทำอะไรไปด้วยดูไปด้วย จึงทำให้ละครเข้าถึงคนต่างจังหวัด จะมีประมาณ 30 ตอน และจะออกอากาศตอนละ 2 ชั่วโมง
ช่องวัน แต่เดิมเป็นละครเมือง แต่ ณ ปัจจุบันเริ่มลงถึงชาวบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะละครเย็น ดูง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันจะโดดเด่นเรื่องที่มีความซับซ้อน จะมีประมาณ 24 ตอน ซึ่งจะออกอากาศตอนละ 1 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ ช่อง 3 จะมีประมาณ 24 ตอน ออกอากาศตอนละ 1 ชั่วโมง และเป็นละครจะใกล้เคียงกับซีรีย์เกาหลีที่สุด เนื้อหาถูกปรุงแต่งเติม
เมื่อครั้งละครต่างประเทศทั้งเกาหลี จีน เข้ามามากขึ้น คำว่า “ซีรีย์” จึงเกิดขึ้น ซึ่งซีรีส์มีรูปแบบที่แบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ อาจมีเนื้อหาที่แยกกัน แต่มีความเชื่อมโยงสู่เรื่องราวหลัก ซีรีส์มักมีระยะเวลาการนำเสนอที่สั้นกว่า 1 ชั่วโมงต่อตอน ซึ่งซีรีย์บางเรื่องจะมี 6 ตอน , 8 ตอน และ 12 ตอน
ซีรีย์เนื้อหากระชับ การดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว ประจวบกับวิถีคนที่เปลี่ยนไป เจนเนอเรชันคนดูละครทีวีเริ่มน้อยลง เจนเนอเรชันใหม่ที่เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน ทำให้ละครที่ยาวๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ต่อพฤติกรรม ดังนั้นไม่ว่าละครหรือซีรีย์ จำนวนตอนจะใกล้เคียงกัน เนื้อหากระชับขึ้น
ละคร กับ ซีรีย์ คือศิลปะแขนงหนึ่งโดยเนื้อหาแล้วไม่ได้ต่างกัน

คนทำละครต้องปรับตัว
พี่ชู เล่าว่าละครเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานมานี้ เกิดการช็อกน้ำ เมื่อละครมีการผลิตน้อยลง สาเหตุหนึ่งเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ทำให้สถานีขายสปอนเซอร์ได้ลดลง ท่ามกลางวัฏจักรเร็ตติ้งที่เป็นตัวชี้วัด และการรุกคืบของแพลตฟอร์มสตรีมมิง
แม้ส่วนตัวมองว่าเรตติ้งไม่ได้มีผลวัดถึงผลงานดีหรือไม่ดี แต่ในยุคปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เพราะละครที่มีคนดูเยอะ หรือถูกพูดถึงในช่องทางต่างๆ จนทำให้เกิดความเชื่อได้ว่านั่นคือเรตติ้ง ที่สะท้อนว่าละครนั้นสำเร็จหรือไม่
การเข้ามาของซีรีย์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หลายคนอาจมองว่า การผลิตละครน้อยลง แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากเมื่อในอดีตจากสิ่งพิมพ์ วิทยุ กลายเป็นมาเป็นทีวี และทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงจากจอทีวี สู่จอหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต
สำหรับ บุญนำโปรดักชั่น เป็น Content Provider เป็นผู้รับจ้างผลิต เป็นนักเล่าเรื่อง พี่ชูบอกว่าตราบใดที่ยังมีเรื่องที่น่าสนใจที่จะเล่า ก็ต้องมีคอนเทนต์ เมื่อมีคอนเทนต์ ต้องหาโอกาสใหม่ให้เจอ แล้วลงมือทำ
แพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix , VIU Original หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ถือเป็นโอกาสที่ทุกคนจะต้องปรับตัว ปรับการทำงาน การผลิตละครในปีหนึ่งๆ ประมาณ 4 เรื่อง เมื่อปรับมาเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะเหลือเพียงแค่ 1-2 เรื่อง บนฐานงบประมาณที่แตกต่างกัน
ต้องแข่งขันหรือเปล่าไม่รู้ แต่ต้องการ Quality มากขึ้น เราอาจจะไม่ต้องเก่งที่สุด แต่ต้องมีอะไรที่ทำให้คนดูอยากมาดู
ณ ห้วงเวลาหนึ่งที่หนัง หรือ ภาพยนตร์ ลดลง คนทำหนังหันมาทำละครเพิ่มขึ้น ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงานละคร
เช่นเดียวกันในช่วงเวลาที่ละครกำลังจะหดหาย กลายเป็นซีรีย์ กลุ่มคนที่เป็นนักเล่าเรื่อง ต้องปรับตัว พี่ชู ยังมองว่าที่สำคัญผู้ผลิตต้องพัฒนาตัวเอง พัฒนาสกิลตลอดเวลา เพื่องานที่มีคุณภาพ

ละครไทยพล็อตเรื่องซ้ำๆ
พี่ชูมองว่าการตรวจสอบของละครไทยบางครั้งถูกจำกัดวิธีการนำเสนอ เช่น ฉากบีบคอ แม้จะไม่เห็นมือในลักษณะที่ก่อความรุนแรง หรือ ลักษณะปืนจ่อศีรษะ แต่สีหน้าของตัวละครแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ถูกทำร้าย แต่ฉากนั้นกลับถูกเซ็นเซอร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำให้คนดูรู้สึกร่วมกับความรุนแรงนั้น ซึ่งสำหรับฐานะคนผลิตละครนั่นหมายความว่าไม่สามารถทำให้คนดูอินได้
การนำเสนอละครไทยจะมีแบบ รักใคร่ แก้แค้น จนกลายเป็นคำพูดติดปากว่าละครไทยทำได้แค่นี้? ทำไมไม่ทำแบบหนังเกาหลี? ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับที่วิธีการตรวจสอบ ต้องขานรับกัน คนที่มีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาจะต้องเข้าใจ เท่าทันโลก และต้องเป็นทีม
ทั้ง กบว. หรือ กสทช. รวมทั้งคนดูละครเองที่ ทุกฝ่ายต้องขานรับกัน ให้ซีรีย์ หรือละครไทย พัฒนาไปข้างหน้า
สำหรับเนื้อหาละครไทยนั้น พี่ชูมองว่า ที่ผ่านมาวิจารณ์สังคมได้ตลอด แต่ต้องใช้ความระวังสูงมาก พร้อมทั้งเชื่อว่าคนเขียนบท ยังมีข้อคิดดีๆ ที่จะเล่า แต่ไม่สามารถนำเสนอออกมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ในหลายๆ อย่าง

ความคาดหวัง “ละครไทย” เป็นซอฟต์พาวเวอร์
“ซอฟต์พาวเวอร์” คืออะไรนั้น พี่ชูอาจตอบไม่ได้ชัดเจน เพราะมองว่าละครไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์มานานแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้
ประเทศไทยมีทุนวัฒนธรรมมากมายไม่ว่าจะเป็นอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติ คอนเทนต์ ที่ละครหลายๆ เรื่องที่สร้างสรรค์สอดแทรกทุนวัฒนธรรมเข้าไปในละคร

ความลำบากที่คนทำละครต้องเผชิญ
พี่ชู เล่าว่า ครึ่งปีนี้โดนชะลอ ยกเลิกละครไปถึง 3 เรื่อง ส่วนหนึ่งคงมาจากสภาวะเศรษฐกิจ เพราะแต่ละช่องทำละครน้อยลง แม้แต่ตัวสถานีเองก็ขายสปอนเซอร์ได้ลดลง
ละครหายที่ไปเรื่องหนึ่ง แต่กลับสะเทือนไปถึงทีมงานนับร้อยคน ทีมงานจำนวนมหาศาล บางส่วนก็ต้องไปประกอบอาชีพอื่น เหลือแต่คนที่ “อดทน” และ “ทนได้” รักในอาชีพนี้จริงๆ จะเห็นว่ามีอาชีพอื่นๆ เกิดขึ้นมากมายในสังคม ทั้งตัวนักแสดงเองที่หันไปทำธุรกิจควบคู่กับงานแสดง
ทุกอย่างถูกคัดกรองโดยความรอด ไม่รอด
เปรียบเสมือนสึนามิ การผิดรูปผิดรอยมากๆ ธรรมชาติก็ซัดสาด เพื่อจัดระเบียบใหม่ มีคนเจ็บคนล้ม แต่ล้มยังไงก็ต้องลุกเพื่ออยู่ต่อให้ได้ ยึดอาชีพอื่นๆ หรือจะยืนอยู่จุดเดิมในท่าใหม่
ทุกคนต้องอดทนรอทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางของมันเอง

ประเทศไทยได้เดินทางมาถึงรอยต่อที่คนอยากค้นหาความเป็นตัวเอง ความชัดเจน ด้วยโลกกว้างขึ้น รับรู้ข่าวสารได้เร็วขึ้น ถึงเวลาที่คนผลิต จะทำละคร ซีรีย์ ภาพยนตร์ ให้ประสบความสำเร็จ เนื้อหาสำคัญที่สุด และเนื้อหาต้องแมส แมสในยุคนี้ที่ไม่ใช่โปะ เปลือย แต่หมายถึงทำให้คนดูอินและรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหา ซึ่งเป็นแฟชั่นที่ยุคนี้ที่คนละครต้องคำนึงถึงมากที่สุด
ยุคปัจจุบันจะไม่ใช่แค่ช่อง 3 5 7 9 แต่ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงพื้นที่เล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างมีคอนเซ็ปต์ของตัวเอง เป็นทางเลือกของคนดูที่เลือกเสพได้เยอะขึ้นตามความต้องการ และอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในเรื่องความชัดเจนในตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่รัก ที่ชอบ และท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นตัวจริง ตัวจริงในการยึดมั่นในอาชีพ ตัวจริงในการปรับตัว และพัฒนาสกิลจนเป็นที่ยอมรับ และไม่ใช่แค่ละคร ทุกเรื่องบนโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวจริง
คำว่าตัวจริงจะดูเหนื่อย แต่คือการมีความสุขและชอบที่จะทำอะไรสักอย่าง และทำได้โดยที่ไม่ท้อไม่เหนื่อย นั่นคือตัวจริง...ที่แท้จริง
อ่านข่าว :
ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม
“ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”
“ปราณประมูล” เบื้องหลังคนสำคัญ “ละคร” ถูกบีบรอบตัว ต้องทำ “พรีเมียม” ให้คนคืนจอ