"ทับลาน" พื้นที่ปักหมุดของเมกะโปรเจ็กต์ ท่ามกลางประเด็นร้อนการเพิกถอนพื้นที่ 2.6 แสนไร่ยังไม่ได้ข้อยุติเส้นแนวเขต ขณะที่กรมชลประทานยังเดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำ โดยพบอย่างน้อย 7 แห่ง ถูกบรรจุในการพัฒนาแหล่งน้ำในผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความคุ้มทุน
อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า โครงการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขณะนี้บางโครงการอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการผู้ชำนาญการหลายครั้ง
ภาพ : อรยุพา สังขะมาน
แต่มีข้อร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งได้รับทราบข้อมูลและแสดงความกังวลในการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในลักษณะกลุ่มป่าขึ้นมาก่อนดำเนินโครงการใดก็ตาม ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยู่ระหว่างหาผู้จัดทำ คาดว่ากำหนดภายใน 2 ปี
ผุดเขื่อน ความหวังเสือข้ามเขาใหญ่ริบหรี่
7 เขื่อนดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถ้าทำทั้งหมดจะเสียพื้นที่ป่า 16,000 ไร่ บางพื้นที่ใกล้คอร์ริดอร์ แหล่งเชื่อมต่อผืนป่าทับลาน-เขาใหญ่
ในพื้นที่ยังพบความเคลื่อนไหว โดยมีบริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูพื้นที่จุดดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความกังวลต่อความพยายามเดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด จ.ปราจีนบุรี อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 1,350 ไร่ เพราะเคยพบรอยตีนเสือโคร่งในพิกัดที่ถูกระบุเป็นที่ตั้งโครงการ อีกทั้งเป็นการสูญเสียงบประมาณสร้างอุโมงค์เชื่อมป่าทับลาน-เขาใหญ่ นับพันล้านบาทโดยเปล่าประโยชน์ และพื้นที่นี้มีความเสี่ยงถูกน้ำท่วม
เสือโคร่งหายไปจากเขาใหญ่หลายปีแล้ว นักอนุรักษ์มีความหวังว่าเสือจากทับลานกำลังจะข้ามอุโมงค์เชื่อมป่า แต่สุดท้ายหากมีโครงการเขื่อน ความหวังริบหรี่ ป่าไม่เชื่อมกันจริง เพราะมีโครงการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐเอง
ภาพ : รอยตีนเสือโคร่งใกล้พิกัดสร้างอ่างเก็บน้ำ
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังตั้งข้อสังเกตว่า หลายโครงการไม่สามารถปลูกป่าทดแทนได้จริง ยกตัวอย่างบางพื้นที่เป็นป่าเต็งรัง จะปลูกป่าชนิดนี้ได้จริงหรือไม่ อีกทั้งสัตว์ป่าต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย แหล่งหากิน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอพยพสัตว์ป่าไปอยู่ที่ใหม่ จึงเสนอให้ใช้วิธีบริหารจัดการน้ำทางเลือกอื่นแทน รวมทั้งตรวจสอบอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงว่ายังใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ มีน้ำสูญเสียระหว่างท่อหรือไม่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นอ่างลม ไม่มีน้ำกักเก็บ เพราะพื้นที่ป่าไทยลดลงทุกปี โดยเฉพาะปี 2566 ป่าลดลงอีก 317,819 ไร่ มากที่สุดในรอบ 10 ปี
ไทยควรทบทวนการบริหารจัดการน้ำ ทุกวันนี้ทั่วโลกเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่คาดเดาวิกฤตต่าง ๆ ยาก ทั้งโลกร้อน โลกรวน การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
อรยุพา กล่าวว่า EIA หลายโครงการไม่ตรงกับข้อมูลในพื้นที่ ส่งผลให้นักอนุรักษ์และชาวบ้านไม่มั่นใจในกระบวนการนี้ว่าจะแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้จริง รวมทั้งไม่ระบุบางชนิดพันธุ์สัตว์ป่าในรายงาน ทั้งที่ปรากฏภาพในกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า
อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อเป็น 1 ใน 7 อ่าง ที่มีแผนจะสร้างรอบแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีความจุ 85.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อน 705 เมตร ความสูงเขื่อน 80 เมตร จะใช้พื้นที่ทั้งหมด 1,853 ไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 1,116 ไร่ คิดเป็น 0.03% ของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ภาพ : เก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพวิจัยไทบ้าน
พิรุธสวมชื่อคนตาย 20 ปีหนุนอ่าง
แต่กลับพบข้อมูลบางส่วนใน EIA ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งเครือข่ายอนุรักษ์เขาใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่าในการรับฟังความเห็นของโครงการนี้ มีการนำรายชื่อของผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 20 ปี มาบันทึกไว้และระบุว่าเห็นด้วย อีกทั้งการสำรวจข้อมูล 6 จุด พบว่าอยู่ในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำเพียง 2 จุด ส่วนอีก 4 จุดสำรวจนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่รับประโยชน์
ภาพ : หอยหอม
เปิดงานวิจัยไทบ้าน พบ "ตะกอง-หอยหอม"
ชฎาภรณ์ ศรีใส หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์เขาใหญ่ พร้อมทั้งเชิญ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ร่วมทำ "วิจัยไทบ้านคลองมะเดื่อ" ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2566 โดยคณะลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ พบข้อมูลหลายประเด็นไม่ตรงกันกับ EIA ทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่, การสำรวจสัตว์น้ำ พบบางชนิดไม่ถูกระบุในรายงานฯ โดยเฉพาะปลาที่ชี้วัดคุณภาพน้ำ "ปลาแค้" และ "ปลาเลียหิน"
ภาพ : ปลาแค้
การลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายในระบบนิเวศ พบชนิดที่มีความโดดเด่น หรือ “Iconic species” ทั้ง "หอยหอม" "ปูน้ำตกเขาใหญ่" และ "ตะกอง" ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดย EIA ระบุว่า พบความชุกชุมน้อย ตีความได้ว่าการสำรวจทั้งหมดพบเพียงไม่กี่ตัว
ข้อมูลนี้สวนทางกับการลงพื้นที่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ยืนยันว่า การสำรวจเพียง 1 คืน ตลอดระยะคลอง 1-3 พบ "ตะกอง" หลายช่วงอายุ 5-6 ตัว ถือเป็นจำนวนมากพอสมควร ซึ่งสัตว์ชนิดนี้สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ หากก่อสร้างโครงการดังกล่าว ป่าริมน้ำก็จะหายไป เช่นเดียวกับตะกองที่ใช้ประโยชน์ต้นไคร้น้ำ พักพิงนอนในเวลากลางคืน และวางไข่บนดินทราย
ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำ ชนิดพันธุ์เด่นเหล่านี้จะหายไปจากพื้นที่ รายได้ชุมชนจากการท่องเที่ยวก็จะหายไปด้วย
ภาพ : ตะกอง
เหลือการสำรวจเพียง 1 รอบในช่วงหน้าฝน งานวิจัยไทบ้านคลองมะเดื่อฉบับสมบูรณ์ จะถูกเผยแพร่ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และจัดเวทีคืนข้อมูลองค์ความรู้ให้กับชุมชน ซึ่งหัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยืนยันว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้มแข็ง และไม่เห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำ
ภาพ : ชฎาภรณ์ ศรีใส
งานวิจัยไทบ้าน เป็นข้อมูลอีกด้านที่แตกต่างกับ EIA ของเจ้าของโครงการ หรือบริษัทที่ปรึกษา จะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อประกอบการพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าว
เราหวังว่าข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เพราะอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่ออยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งถูกประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ อีกทั้งเป็นป่าริมน้ำที่มีอยู่น้อยมาก ถ้าพื้นที่ตรงนี้หายไป ป่าริมน้ำก็จะหายไปด้วย
ภาพ : ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ
การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่า อาจไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน "ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ระบุว่า ทุกวันนี้เมื่อฝนตกลงมาในคลองวังมืด พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่กลับพบว่าไม่มีน้ำกักเก็บ จึงเสนอว่าควรขึ้นไปดูสภาพพื้นที่จริงบนต้นน้ำ ไม่ใช่เน้นทำโครงการในเขตปราจีนบุรี
ต้นน้ำลำธารที่ไหลมาตามคลองวังมืด อยู่บน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ต้องดูเรื่องการใช้น้ำ คุณภาพน้ำ และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสังคมด้านบน ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะคลองวังมืด เพราะน้ำข้างบนยังไม่ไหลจะเอาน้ำที่ไหนมากัก
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เสนอให้สร้างอ่างพวงในพื้นที่มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติพ.ศ.2562 ตามขอบป่าตั้งแต่ ต.ไทยสามัคคี และพื้นที่คลองยางหมู่ ต.นาดี ใช้การทดน้ำไปไว้ในพื้นที่ลำห้วย รวมถึงการยกระดับสันอ่างเก็บน้ำทับลาน หรือขุดลึกลงไป อาจต้องยอมเสียพื้นที่ป่าเพิ่มไม่เกิน 100 ตารางเมตร แทนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด
ภาพ : อุโมงค์เชื่อมผืนป่าทับลาน-เขาใหญ่
อยากให้ศึกษาทางเลือก 2 เลยได้ไหม เพราะจุดที่จะสร้างอ่างฯ นั้น ป่าฟื้นอุดมสมบูรณ์และเจอรอยเสือโคร่งแล้ว
ประวัติศาสตร์ แสดงความกังวลต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด อาจทำให้ความหวังเชื่อมผืนป่าสมบูรณ์สะดุดกลางคัน เพราะล่าสุดพบรอยเสือโคร่งและซากหมูป่า บ่งชี้ว่าเสือลากเหยื่อมากินที่จุดนี้ ใกล้กันเพียง 1 กิโลเมตร เป็นทางเชื่อมผืนป่า (Wildlife corridor) แบบอันเดอร์พาส รอเพียงวันที่เสือโคร่งจากทับลานจะเดินข้ามไปยังเขาใหญ่
อ่านข่าว : สำรวจ "รอยเสือโคร่ง" ป่ามรดกโลกทับลาน ก่อนผุดอ่างคลองวังมืด
ยังวุ่น "ตัดป่าทับลาน" รอมติบอร์ดอุทยาน โจทย์หินคัดกรองคน