“ปราณประมูล” เบื้องหลังคนสำคัญ “ละคร” ถูกบีบรอบตัว ต้องทำ “พรีเมียม” ให้คนคืนจอ

Logo Thai PBS
“ปราณประมูล” เบื้องหลังคนสำคัญ “ละคร” ถูกบีบรอบตัว ต้องทำ “พรีเมียม” ให้คนคืนจอ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“บทละคร” เป็นเบื้องหลังสำคัญของละครแต่ละเรื่อง ที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ คนเขียนบทเป็น “คนเบื้องหลัง” ที่แทบจะไม่มีคนรู้จักด้วยซ้ำไป แต่ใครจะรู้ว่า “บทละคร” หลายเรื่องกลับทรงอิทธิพลมาก ในธุรกิจละครโทรทัศน์ของไทย

ชื่อของ “ปราณประมูล” หรือ ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ อาจปรากฏอยู่ท้ายจอ ตอนที่ละครกำลังจะจบลง แต่นอกจอ ชื่อของ “ปราณประมูล” อยู่ในแถวหน้าของมือเขียนบทละครของเมืองไทย

หากนับเวลาจากบทละครเรื่องแรก ใน พ.ศ.2525 จนถึงวันนี้ พ.ศ.2567 มีบทละครที่ผ่านมือเธอมาแล้วมากถึง 70 เรื่อง มีนักแสดงนับคนไม่ถ้วน ที่แสดงตามบทที่เธอเขียน และความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเป็นลำดับ

เรานัดคุยกับเธอในตอนสายวันหนึ่ง ขณะที่บทละครเรื่องล่าสุด “พรหมพยศ” ของช่อง 7 เพิ่งจบไปได้ไม่นาน และเป็นการกลับมาเขียนบทละครให้ช่อง 7 อีกครั้ง หลังห่างหายไปนานกว่าสิบปี

เธอเล่าว่า ความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล ที่มีผลต่อคนเขียนบทละครโทรทัศน์ยังมีให้เห็นไม่มากนัก แต่กว่า 40 ปีของเธอ กับงานด้านนี้ การเปลี่ยนแปลงการทำงานให้แต่ละช่อง เกิดขึ้นมากกว่า โดยเฉพาะในรอบ 20 ปีมานี้

ละครเรื่องน้ำใสใจจริง พ.ศ.2537

ละครเรื่องน้ำใสใจจริง พ.ศ.2537

ละครเรื่องน้ำใสใจจริง พ.ศ.2537

AI ไม่น่ากลัว เพราะเป็นแค่ผู้รับใช้

เราชวนคุยคำถามแรกหลังมีกระแส AI จะเข้ามาทดแทนคนทำงานศิลปะ โดยเฉพาะคนทำงานเขียน ที่อนาคตอาจจะถูก AI เข้ามาแย่งผลงาน เธอบอกว่าไม่กลัว เพราะมันจะมาเป็นผู้รับใช้ต่างหาก

มีคนถามพี่ว่า กลัว AI จะเข้ามาทำลายอาชีพเขียนบทละครมั้ย พี่กลับมองว่า AI มันเป็นอุปกรณ์ที่เราจะใช้เป็นเครื่องมือต่างหาก เพราะ AI คิดอะไรที่นอกเหนือจากข้อมูลที่คนสร้าง ป้อนเข้าไปไม่ได้

หมายความว่า ข้อมูลที่ AI มีและประมวลผลออกมา มันต้องเคยดู เคยเห็น มีสิ่งนี้ในข้อมูลของมัน มันจึงจะสร้างออกมาได้ แต่มนุษย์เราสามารถคิดในสิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น AI คืออุปกรณ์ เป็นเครื่องมือของเรา”

วันก่อนไปอ่านเจอว่า AI ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเราทำงานบ้าน ช่วยล้างจาน ทำกับข้าว และถูบ้าน แล้วให้เราไปวาดรูป คิดบทกวี เขียนนวนิยาย ไม่ใช่ให้ AI ไปเขียนนวนิยาย บทกวี หรือวาดรูป แล้วให้เราไปล้างจาน ถูบ้าน ซึ่งอ่านแล้วก็คิดว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ หน้าที่ AI มันต้องเป็นแบบนี้ ต้องมารับภาระในส่วนที่เราไม่อยากทำ

ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ : คุณชายพุฒิภัทร พ.ศ.2556

ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ : คุณชายพุฒิภัทร พ.ศ.2556

ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ : คุณชายพุฒิภัทร พ.ศ.2556

ทีวีจะอยู่รอด ถ้าเนื้อหาดี-ทำให้พรีเมียม

เมื่อถามถึงความบันเทิงจากละครไทย ที่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ สตรีมมิ่ง และแม้แต่สื่อสังคมออนไลน์ เข้ามาแชร์คนดูไปจำนวนมาก จะกระทบหรือไม่ เธอมองว่า ละครไทยยังคงเป็นทางหลักของคนไทย สำหรับตัวเธอแทบจะไม่ได้สนใจดูทีวีมากนัก เว้นแต่มีละคร หรือชิ้นงาน ที่มีเนื้อหาดีหรือน่าสนใจ เหมือนที่คนไทยส่วนใหญ่ดูทีวีเพื่อความบันเทิง สนุกสนาน หรือหากในแพลตฟอร์มอื่น มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ก็เลือกที่จะไปดูแบบนั้น

ทีวีคือสื่อหลัก หรือแพลตฟอร์มหลักก็จริง เพราะดูฟรี เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำให้คนยังดูทีวีอยู่ เนื้อหาในทีวีต้องพรีเมียม คุณต้องทำให้พรีเมียม หมายความว่า ทั้งคุณภาพ เนื้อหา การแสดง หน้าตานักแสดง คุณจะมาทำอะไรโดยคิดว่าไม่มีคู่แข่ง ไม่ได้อีกแล้ว ในเมื่อคู่แข่งเราแข็งแรงมาก เพราะฉะนั้นถ้าเรามองว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นคู่แข่ง ก็ต้องทำให้คนมาดูทีวี

เช่น โปรดักชั่นใหญ่พอ หรือเรื่องนี้อยากดูทั้งบ้าน พ่อแม่ลูกหลานอยากดูพร้อมกัน เพราะเดี๋ยวนี้ต่อให้มีทีวี คนก็ดูเนื้อหาและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน คนโน้นไปดูข่าวที่ห้องตัวเอง คนนี้ไปดูไอ้นี่ในครัว แต่จะทำอย่างไรให้คนทั้งบ้าน มาเปิดทีวีแล้วนั่งดูด้วยกัน หรือแม้แต่มีทีวีในบ้าน แต่คนที่อยู่ในครัว ก็เปิดช่องเดียวกัน แสดงว่า คอนเทนต์นั้นมันจะต้องเจ๋งมาก”

สิ่งที่ทุกคนต้องอัพตัวเอง คือต้องเจ๋งจริง ถ้าคุณเจ๋งจริง Netflix ก็จะมาซื้อผลงานของคุณไป คุณก็สามารถฉายช่องทีวีก่อน และ Netflix ฉายตาม คือถ้าคุณดีจริงมันจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น ฉะนั้นคุณต้องทำให้ดีจริง

“สปอนเซอร์” ย้ายจากทีวีไป “ออนไลน์”

อีกสิ่งหนึ่งที่คนทำทีวีต้องเข้าใจ คือเรื่องสปอนเซอร์ ทุกวันนี้คนเขาไม่ซื้อสปอนเซอร์ทีวีอย่างเดียวแล้ว เพราะมีตัวแบ่ง เหมือนเมื่อก่อนที่เราอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สปอนเซอร์ก็ไปลงที่สิ่งพิมพ์เหล่านั้น ตอนหลังเมื่อเกิดสื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์ มากขึ้น คนก็จะไปดูออนไลน์ หนังสือก็ค่อยๆ เจ๊งไป เพราะสปอนเซอร์ไม่ลงแล้ว

เราไปพึ่งสปอนเซอร์ ฉะนั้นอะไรที่ต้องพึ่งสปอนเซอร์ มีอะไรที่คนไปมุงหรือไปสนใจ เขาก็ไปขายสินค้าของเขาตรงนั้น เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้คุณเป็นคนที่ถูกมุง หรือได้รับความสนใจ

อีกปัญหาหนึ่งของทีวีก็คือ เรื่องค่าสัมปทาน ที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กำหนดมาให้กับแต่ละช่อง ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ ไม่ทราบว่า เขาเริ่มต้นที่จะเก็บเงินแพงมหาศาล คิดคำนวณจากหลักอะไร หรือจากช่วงเวลาที่ดีที่สุดของช่องที่มีสปอนเซอร์ดีที่สุด ในสมัยที่เขาเริ่มคิดหรือเปล่า

ซึ่งปัจจุบันตัวเลขนั้นไม่มีอีกแล้ว และวันนี้ทีวีแต่ละช่องเขาจะจ่ายค่าสัมปทานยังไง ในเมื่อสปอนเซอร์ที่เคยมีมากมาย หายไปแล้ว และพอคนไปดูออนไลน์มาก ๆ สปอนเซอร์ก็เทไปตรงนั้นอีก

ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ : คุณชายพุฒิภัทร พ.ศ.2556

ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ : คุณชายพุฒิภัทร พ.ศ.2556

ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ : คุณชายพุฒิภัทร พ.ศ.2556

“เนื้อหาทีวี” ถูกจำกัด “สตรีมมิ่ง” คู่แข่งสุดหิน

ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เธอมองว่า ทีวีต้องผลิตเนื้อหาที่ดี เพื่อให้คนยังคงดูทีวีอยู่ และเพื่อให้สปอนเซอร์ไม่หนีไปไหน แต่เนื้อหากลับถูกจำกัดด้วยระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมาย และจริยธรรมทางสังคม ขณะที่สตรีมมิ่ง หรือเนื้อหาทางออนไลน์ นำเสนอได้เกือบทุกรูปแบบ

อันนี้อยากบอกว่า เป็นจุดแข็งของสตรีมมิ่ง ที่ออกทางทีวีไม่ได้ หรืออย่างละครเรื่องบางกอกคณิกา (ช่อง ONE) ก็ตาม เดิมเขาคิดว่าจะทำเพื่อสตรีมมิ่งเท่านั้น จึงมีเพียง 8 ตอน แต่พอเขาทำไปก็รู้สึกว่า ลงทุนแล้วเอามาฉายทีวีเสียด้วยเถอะ ในทีวีก็ต้องตัดบางอย่างออก ถ้าดูในช่องดิจิทัลของทางช่อง ONE จะมีฉบับจริงที่ไม่ดูดอะไรเลย แล้วก็ภาพปล่อยเต็ม

เพราะฉะนั้นจุดที่ทีวีทั่วไปเสียเปรียบ ช่อง Netflix ก็คือ อะไรที่วิจารณ์สังคมเยอะๆ หรืออาจจะทำให้ กสทช.ไม่ชอบ ต้องไม่ทำ พวกนี้จึงมีสิทธิทำได้ เช่น เรื่องเซ็กซ์ ปัจจุบันก็มีเรื่อง หมอ ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ เขาก็ทำเรื่องนี้ได้ เพราะเขาพูดเรื่องเซ็กซ์ได้ ในขณะที่ทีวีช่วงละครหลังข่าวพูดเรื่องแบบนี้ไม่ได้

สมัยนี้จะมีละคร 4 ทุ่ม จะทำอะไรได้ทุกอย่าง ละครวายผู้ชายปล้ำจูบกัน อะไรอย่างนี้ก็ได้ แต่ถ้าอยู่ช่วงหลังข่าว ช่วงครอบครัวจะออกไม่ได้ แต่ถ้าเป็นช่องสตรีมมิ่ง วิจารณ์สังคม เรื่องศาสนา เช่น เรื่องสาธุ อะไรแบบนี้ทำได้เต็มที่ เขาได้เปรียบกว่าเรา

กรอบสังคม-กฎหมาย ไม่มีอาชีพไหนแตะได้เลย

พี่ว่าจริง ๆ แล้ว คนทำละครทีวีก็พยายามแข่งขันกันอยู่ แต่ทีวีมันมีกรอบเยอะมาก เช่น ละครเรื่อง วันที่ฝนพร่างพราย ที่ออกทางช่อง 3 (2567) เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์ ก็ถูกตำหนิ พวกที่ทำสังคมสงเคราะห์มืออาชีพเขามองว่า นางเอกทำผิดจริยธรรมจรรยา ที่เข้าไปมีความสัมพันธ์กับเคส หรือมีความเป็นกันเองกับเคสเยอะๆ แต่เขาอาจจะไม่ได้ระวังตรงนั้นมากนัก ก็เลยทำให้ถูกโจมตี

มันก็กลายเป็นว่า ละครทีวีแตะอาชีพอะไรก็ไม่ได้เลย แตะทนาย แตะอัยการ แตะหมอ ไม่ได้เลยเหรอ แต่จริง ๆ แตะได้นะ แต่ก็ต้องระวังเยอะ ๆ ที่ปรึกษาต้องแน่นปึ้ก

ผู้จัดละครบ่นว่า ทำทีวีไทยไม่รุ่ง ทำได้ไม่ครบทุกเรื่องจริง ๆ ต้องระวังไปหมด เพราะคนที่ทำแต่ละอาชีพก็จะออกมาด่า สมาคมโน้นสมาคมนี้ สมาคมสัตว์ สมาคมแม่ไก่ (หัวเราะ) ก็ด่าเราได้หมดในทีวีธรรมดา แต่ถ้าเป็นช่องสตรีมมิ่งมันอิสระ ซึ่งคนทำช่องสตรีมมิ่งเขาก็ต้องหาข้อมูลที่รอบด้านเหมือนกัน เพราะยิ่งออกไปทั่วโลกขนาดนั้น ถ้าผิดพลาด โดนทัวร์ลงเลยนะ

ข้อจำกัด “เนื้อหา-เงินทุน” ปมแต่ละช่องลดละคร

ปราณประมูลเล่าว่า จำนวนของละครไทยถูกลดลง เพราะไม่มีสปอนเซอร์ เพราะขาดทุน ช่องก็ขาดทุน จึงต้องทำให้พรีเมียม คือทำให้ดีจริง ๆ จนคนต้องมาดู

ในยุคหนึ่ง พี่ยังบ่นเลยว่า เฮ้ยละครไทย มีทั้งละครเช้า ละครสาย ละครบ่าย ละครก่อนข่าว ละครหลังข่าว ละครดึก ทำไมมันมีละครเยอะอย่างนี้” ขณะที่ละครทีวีในต่างประเทศมีน้อยมาก วันละเพียง 1-2 เรื่องเท่านั้น

เมื่อถึงเวลาที่ไม่มีสปอนเซอร์ ละครก็ต้องถูกเท ช่องก็ต้องหาคอนเทนต์อะไรที่อยู่ได้ แม้แต่เนื้อหาที่ไม่ใช่ละคร เช่น ข่าวทุกวันนี้ก็มีปัญหาในเรื่องธุรกิจ เงินทุน ทำให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก

ถ้ามองเข้าไปก็จะเห็นว่า ช่องข่าวที่มีคุณภาพก็มีสปอนเซอร์น้อย แต่ช่องที่เขาเน้นเรื่องชีวิตคน เรื่องครอบครัว ข่าวอาชญากรรม มันก็ขายได้ และคนเข้ามาดูเยอะ สปอนเซอร์ก็จะไปตรงนั้น อันนี้มันเป็นปัญหาโดยรวม ที่สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ต้องเจออยู่

มาถึงคำพูดที่ว่า ทีวีสู้แพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ได้ อย่างของเรา แตะอะไรไม่ได้เลย แตะการเมืองไม่ได้ แตะตำรวจไม่ได้ แตะทหารไม่ได้ แตะหมอไม่ได้ แตะครูไม่ได้ แตะพระไม่ได้ แล้วมันเหลืออะไรให้ทำ ก็ต้องผัวเมียปล้ำกัน แย่งมรดกใช่มั้ย อันนี้ทำได้เต็มที่เลย ก็เหมือนข่าวเช่นกัน ข่าวที่แบบโจมตีอเมริกา หรือข่าวในแง่ลบต่ออเมริกา เราก็ถูกเซ็นเซอร์นะ

สปอนเซอร์เลือกซื้อโฆษณา เพราะคนเขียนบท

หลายคนอาจมองว่า “คนเขียนบทละคร” คงไม่ต้องเกี่ยวข้องอะไรกับธุรกิจละคร อาจไม่จริงเสมอไป เพราะหลายครั้ง หลายเรื่อง และหลายคน ที่ “คนเขียนบทละคร” ถูกกำหนดด้วยสปอนเซอร์

พี่เคยเป็นหนึ่งในแบบนั้นนะ คือหมายถึงว่า สปอนเซอร์เขาดูคนทำบทด้วยนะ สปอนเซอร์เคยบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องที่พี่เขียน เขาจะซื้อ แต่ถ้าในความ Mass มาก ๆ พี่ก็ไม่ขนาดนั้น คือถ้า Mass จริง ๆ ก็ต้อง พี่แดง ศัลยา หรือ ยิ่งยศ นี่เขา Mass มาก แต่หลังๆ ก็เริ่มมีเด็กใหม่ๆ ขึ้นมาแล้ว เราก็ดรอปไปตามเวลา แต่เมื่อก่อนในเอเจนซี่ ชื่อพี่ก็เป็นที่ขายได้อยู่ ประมาณหนึ่งเหมือนกัน

คำถามสุดท้ายกับเธอ เหมือนกลับไปที่คำถามแรกๆ ว่ากลัวอะไรกับความเปลี่ยนไปของเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามามากมายในวงการบันเทิง

พี่ว่าถ้าเรามี Passion ในสิ่งที่เราทำ เรามีเป้าหมาย มีความต้องการ อย่างที่พี่มาเขียนบทละครให้ Thai PBS คือตอนแรกพี่ก็เขียนละครในช่อง Mass แล้วพี่ก็ชอบดูละครไทยพีบีเอส พี่รู้สึกว่า เขาทำเป็นสารคดี และไม่ค่อยสนุก เพราะตัวคนทำที่ทำสนุกมันก็มีสังกัด ไม่ว่าจะเป็นดารา ผู้จัดหรือผู้กำกับการแสดง เขาก็จะได้คนที่ไม่มีสังกัด คนที่อินดี้อย่างนี้ ซึ่งคนที่อินดี้ แนวโน้มเขาก็ไม่ Mass อยู่แล้ว

เรามองว่า ทำยังไงอยากไปช่วยไทยพีบีเอส เขาทำละครให้มันสนุกขึ้น จนกระทั่งพี่วินัย ปฐมบูรณ์ ผู้กำกับฯ ละครปลายจวัก มาชวน เพราะสุดทางแล้ว หาคนเขียนไม่ได้ จึงเป็นก้าวแรกของเรา ที่ได้เข้าไปสู่ไทยพีบีเอส

ซึ่งการเขียนบทละครที่นี่ เราก็ยังต้องใช้บริบทกฎเกณฑ์ของไทยพีบีเอส เช่น เมียหลวงเมียน้อยก็ตบกันไม่ได้ ก็ทำกับข้าวแข่งกันแทน เราก็ต้องหาวิธี ถ้าเราต้องการจะสื่อสารอะไรให้กับสังคม เราก็ต้องหาวิธีที่มันไปได้ในโจทย์ และบริบทแวดล้อม ต่าง ๆ

พอมาเขียนปลายจวัก ก็ประสบความสำเร็จ มันก็ไปได้อีก ดีใจ ดีใจ และไม่คิดว่าเขาจะมาจ้างเราอีก แต่เขาก็มีงานให้เราต่อมาอีก แสดงว่าเราเข้ากับเขาได้ดี

ละครเรื่องปลายจวัก พ.ศ.2562

ละครเรื่องปลายจวัก พ.ศ.2562

ละครเรื่องปลายจวัก พ.ศ.2562

ก่อนจะมาเป็น “คนเขียนบทละคร” เบอร์ต้นของเมืองไทย

หากมองในบทบาทของคนเขียนบทละคร เธอเขียนมาแล้วแทบทุกแนว แต่ส่วนใหญ่มักถูกมองว่า เธอถนัดกับละครร่วมสมัยและวัยรุ่น ทำให้งานเขียนของเธอออกมาในแนวนั้นเสียเป็นส่วนมาก

สมัยที่เริ่มต้น พี่ถูกทำมาแล้วทุกอย่าง ถูกจัดไว้เป็นพวกวัยรุ่น เพราะฉะนั้นโจทย์ส่วนใหญ่จะเป็นละครร่วมสมัย ละครชีวิตคนในปัจจุบัน ละครนิสิตนักศึกษา ละครปัญหาสังคม จึงมักไม่ได้ทำละครจำพวกดรามา เช่น นางทาส อะไรแบบนี้เลย เมื่อเสนอว่าอยากจะทำบ้าง ผู้ใหญ่ก็เห็นว่า เราไม่ค่อยลึกซึ้งถึงความรัก ชีวิตครอบครัว เขาก็จะให้โจทย์ปัญหาสังคมแทน

พี่จะได้บทประพันธ์ของ โบตั๋น (สุภา สิริสิงห) หรือของอาจารย์วินิตา ดิถียนต์ แต่อย่างของ ทมยันตี จะได้ประเภทตลกขบขัน เช่น แต่งกับงาน อะไรที่เป็นลักษณะชีวิตมาก ๆ ก็จะไม่ค่อยได้เขียน จนกระทั่งอายุมากขึ้น ประมาณอายุ 30-40 ปี ก็จะได้เขียนพวกแบบแนวพีเรียด ชีวิตครอบครัว ความรัก สะเทือนอารมณ์บ้าง

เมื่อผ่านมาถึงประมาณปี 2540 ด้วยความเป็นคนทันสมัยตลอดเวลาของเธอ ทำให้ยังต้องเขียนงานในแนววัยรุ่นอยู่ เช่น บทภาพยนตร์เรื่อง 303 กลัว กล้า อาฆาต ซึ่งเธอบอกว่า ปี 2540 เป็นปีที่เศรษฐกิจแย่มาก แต่หนังเรื่องนี้กลับเป็นหนังวัยรุ่นที่ทำเงินได้อย่างเกินความคาดหมาย

นักเขียนบทมีแนวถนัดของตัวเอง

เมื่อถามถึงการเลือกตัวผู้เขียนบทละครในแต่ละเรื่อง ว่าใครเป็นคนกำหนด ปราณประมูลเล่าว่า สมัยอยู่ดาราวิดีโอ ทางช่อง 7 จะวางผู้จัดของเขาไว้ ว่าใครจะต้องทำละครแนวไหน เช่น กันตนาทำแบบนี้ ดาราวิดีโอทำแบบนี้

ส่วนในดาราวิดีโอ ถ้าเป็นแนวดราม่าลึกซึ้ง ร้องไห้ พี่แดง ศัลยา ก็จะได้เขียน ถ้าเป็นเรื่องทันสมัย วัยรุ่น ก็จะเป็นพี่ยุ่น ยิ่งยศ กับพี่ก็จะได้เขียน ซึ่งยุ่นจะได้เขียนอะไรที่เป็นพิลึก เซอร์ ๆ

พี่จะถูกตราหน้าว่า เป็นคนเขียนตลก เพราะฉะนั้นพี่จะได้เขียนเรื่องตลกตลอดเวลา อย่างมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีคนเสนอว่า ให้พี่ไปเขียนแนวซีเรียสบ้าง ผู้ใหญ่ก็บอกว่า เรายังไม่ถึงระดับนั้น เรายังเด็กอยู่

ถ้าออกแบบตัวละครดี นักแสดงก็เล่นง่าย

การเขียนบทละครแต่ละครั้ง เราต้องรู้จักตัวละคร ถ้าเราออกแบบตัวละคร ตัวนำให้สุด ถ้าตัวละครตัวเอกมันสุด มันจะนำเรื่องไปได้เยอะแยะมาก หมายถึง ปมเด่นปมด้อยตัวละครมันถึง แล้วสิ่งที่จะเกิดจากชีวิต มันก็จะเกิดจากคุณสมบัติของตัวมันเอง มันจึงจะเป็นเรื่องที่ดี

ถ้าเกิดแบบมีปัญหาหรือความขัดแย้งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตตัวละคร เกิดจากปัจจัยภายนอก จัดว่าเป็นพล็อตที่รองลงไป เวลาเรานึกอะไรไม่ออก ก็ขยายให้ไอ้โน้นเข้ามา ไอ้นี่เข้ามา ความลำเค็ญต่าง ๆ เข้ามา แต่ถ้ามันไม่เกิดจากนิสัย หรือว่าลักษณะตัวละครที่เราออกแบบไว้ มันก็จะไม่เป็นบทที่ดี แล้วมันก็จะไม่สนุก

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวละครแบบไหนมีบทบาทที่ถึงอย่างที่เราต้องการ หรือไม่ถึง ปราณประมูลบอกว่า จะรู้ตั้งแต่ที่ออกแบบ บางครั้งจะมีลูกศิษย์ที่เขียนบทละคร มาถามว่า ผมหมดเรื่องแล้ว ผมคิดเรื่องต่อไม่ได้แล้ว ก็เลยบอกว่า ไปเช็กดูก่อน ว่าออกแบบปมเด่นปมด้อยตัวละครเป็นยังไง ต้องเอาตรงนั้นให้สุด

เมื่อตรงนั้นสุดแล้ว คุณจะเติมอะไร จะขยายอะไรให้มันไปเกี่ยวกับสังคม หรืออะไรรอบด้าน แต่มันจะต้องเกิดจากตรงนั้น แล้วคุณจะไปได้อีก เพราะฉะนั้นมันต้องเกิดตั้งแต่การออกแบบ

หากถ้าออกแบบตัวละครให้ดี คนที่มาแสดงก็จะชอบ หมายถึงนักแสดงที่มาเล่นเป็นตัวละคร ที่ออกแบบไว้ดี เขาจะรู้ว่าเขามาทำอะไร และเขาจะสนุก ไม่เหนื่อยเลยในการทำการบ้านที่จะเป็นตัวละครตัวนั้น พอเขาอ่านบทปุ๊บเขาก็อินเข้าไปในตัวละคร แล้วเขาจะรู้ว่าเขาจะเล่นยังไง

ความต่างของ “บทละคร” จากนวนิยายกับพลอตเรื่องเอง

ส่วนความแตกต่างระหว่างบทละครจากนวนิยาย และบทละครที่พลอต (Plot-โครงเรื่อง) เรื่องขึ้นเอง เธอบอกว่ามีความยากง่ายแตกต่างกัน ถ้าเรื่องมาจากนวนิยาย จะต้องคาดเดาว่า เจ้าของบทประพันธ์ต้องการสื่อสารอะไรกับคนดูหรือสังคม คนเขียนบทละครจึงต้องอ่านเรื่องให้แตกฉาน

หากเป็นบทประพันธ์ที่สถานีหรือผู้จัดเลือกมาให้ ซึ่งบางครั้งอาจไม่สมบูรณ์มากนัก ผู้เขียนบทละคร จะต้องมาอ่านและวิเคราะห์เป็นอย่างมาก เพื่อจะรู้เหตุผลของผู้เขียนเรื่อง พฤติกรรมของตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งบางครั้งเรื่องที่ถูกส่งมาให้ มีเนื้อหาที่เหมาะกับการอ่านเป็นหนังสือมากกว่าผลิตเป็นละคร

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้เขียนบทละครพลอต (Plot-โครงเรื่อง) ขึ้นเอง อาจจะยากที่ต้องคิดเองทั้งหมด แต่ง่ายกว่า ที่จะรู้แนวทางว่าสถานีต้องการอะไร ผู้จัดอยากได้อะไร สังคมตอนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเธอบอกว่าชอบแบบนี้มากกว่า

มันจะยากที่ว่าทำยังไงให้มันลึกซึ้ง แล้วก็ดีจริง แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเรามีสารที่เราจะบอกสังคม มันจะได้เอง เราจะไปหาองค์ประกอบที่มันจะสื่อสารไปให้ถึงคนให้ได้จริง ๆ

จะทำยังไงกับบท “โกโบริ-อังศุมาลิน”

“บทละคร” ไม่ได้มีเกี่ยวพันกับสถานี ผู้จัดละคร นักแสดง หรือคนดู เท่านั้น แต่เนื้อหาทั้งหมด ยังถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางสังคมมากมาย โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผลิตขึ้นจากนวนิยาย ที่ผ่านวันเวลามานาน ขณะที่บริบท กฎเกณฑ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมาย กฎระเบียบชุมชน เข้ามามีบทบาทอย่างเข้มงวด

มีบทละครหลายเรื่องที่เขียนขึ้นจากนวนิยายในอดีต ถูกปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีความเข้มงวด เรื่องเพศ ความรุนแรงในครอบครัว จริยธรรมในอาชีพ ฯลฯ

ละครเรื่อง คู่กรรม พ.ศ.2556

ละครเรื่อง คู่กรรม พ.ศ.2556

ละครเรื่อง คู่กรรม พ.ศ.2556

ตอนนี้เราปฏิเสธเรื่องผู้ชายปล้ำผู้หญิงใช่มั้ย ฉากโกโบริข่มขืนอังศุมาลิน เราจะทำยังไง ถ้าเราต้องทำคู่กรรมอีก แล้วโกโบริไม่ข่มขืน เราจะทำยังไง แล้วมันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของนิยาย ที่ทำให้คนดูกรี๊ดด้วยนะ คนดูรักเรื่องนี้ตรงนี้ รักที่แบบนางเอกถูกท้าทายความเกลียดญี่ปุ่น ทั้งที่นางเอกก็รักผู้ชายคนนี้ แต่ก็ต้องเกลียด มันขัดแย้งอยู่แล้ว และในที่สุดถูกผู้ชายคนนี้มาปล้ำ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นองค์ประกอบในตัวนิยายมาแต่ดั้งเดิม แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ ผู้ชายข่มขืนผู้หญิงนี่แบบ มึงต้องเข้าคุก อย่างนี้เป็นต้น

บท “รักซ้อน” ที่ไม่ควรทำในสมัยนี้

ปราณประมูล ยกตัวอย่างให้เห็นบทละครที่นำเสนอเรื่องราว ที่มีความขัดแย้งกับจริยธรรมของสังคมในยุคนี้ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทำบทละครเรื่องหนึ่งให้กับช่อง 7 ในเรื่องนั้น พระเอกเป็นแฟนกับพี่สาวนางเอก แต่พี่สาวนางเอกนิสัยไม่ดี แล้วพระเอกก็รักกับนางเอก เฮ้ยเราจะทำยังไง ให้มันเป็นพระเอกกับนางเอก ผู้ชายก็นอกใจแฟน แล้วนางเอกก็แบบไปรักแฟนพี่ แล้วในนิยายมันมีฉากแบบที่เรียกว่า ฉากจิ้นฟิน

สำหรับเด็กสมัยนี้ มันก็จะมีหลายอันที่พระเอกนางเอกได้ใกล้ชิดกัน แล้วก็เผลอตัวกอดจูบกัน แล้วก็นางเอกก็เสียใจร้องไห้ แล้วก็แบบโกรธตัวเอง โกรธพระเอกอะไรแบบนี้

ซึ่งในความคิดสมัยใหม่ เกิดเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ควรจะเกิด แม้ว่าโลกในความจริงมันก็เกิดขึ้น แต่หมายความว่า ถ้านางเอกไปจูบกับพระเอก ที่เป็นแฟนกับพี่สาวตัวเอง แล้วตัวเองยังเคลิ้ม มันจะเป็นพระเอกไปได้ยังไง ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้ แต่นิยายแบบนี้ คนสมัยก่อนเขารับตรงนี้ได้ และตอนจบก็สมหวังด้วย เราก็ต้องคิดให้แยบยล เราก็จะเขียนบท ไม่ให้พระเอกกับนางเอกจูบกันเลย อย่างนี้ เป็นต้น

อีกประเภทคือ พระเอกเข้ามาใกล้ นางเอกก็จะห้าม หยุด นางเอกอาจจะยอมรับว่า ฉันรักเธอ แต่เราต้องไม่รักกัน คือผู้หญิงจะต้องเข็มแข็งขึ้นมาเลย ถ้าผู้หญิงเป็นลักษณะ เดี๋ยวอย่าง เดี๋ยวอย่าง ลื่นไหลไปตามอารมณ์ มันจะไม่ใช่นางเอก หรืออย่างสมัยก่อน จะมีนิยายประเภทแบบใครซักคนหูเบา พระเอกหรือนางเอกหูเบา พอใครบอกอะไร ก็เชื่อ ๆ ๆ คนดูสมัยนี้ไม่เอาแล้วนะ คนดูสมัยนี้ก็จะรู้สึกรำคาญ

ละครเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา พ.ศ.2531

ละครเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา พ.ศ.2531

ละครเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา พ.ศ.2531

บริบท-กฎกติกา-ระเบียบสังคมเปลี่ยนไป

นางเอกน่าสงสารจนเกินไป ไม่สู้เลย แล้วก็โง่ตลอด อะไรอย่างนี้ คนดูก็ไม่เอาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราได้โจทย์อย่างนี้มา ในใจจริง ๆ พี่ว่าเลิกเหอะ หมายถึงว่า เลิกซื้อบทประพันธ์ที่มีค่านิยมแบบเก่ามาก และเป็นภาระกับคนเขียนบท ในแง่ที่ว่าคนเขียนบทจะต้องปรับเยอะมาก ๆ

หรือไม่ก็ต้องมาออกตัวว่า เป็นพีเรียด (period) ต้องทำพีเรียดไปเลย อย่างสมมุติว่า ผู้ชายต้องมีเมีย 10 คนในบ้าน มันก็ต้องเป็นสมัยพีเรียดไปเลย เพราะว่าถ้าเป็นสมัยนี้ มันทำแบบนี้ไม่ได้ หรืออย่าง ละครเรื่องน้ำผึ้งขม พระเอกซื้อนางเอกมาเพื่อแก้แค้น แล้วก็เอานางเอกมาอยู่ในบ้าน ทั้งมีความสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งทารุณต่าง ๆ ถ้าเป็นสมัยนี้ผู้ชายคนนี้ต้องโดนข้อหาค้ามนุษย์ไปแล้วใช่มั้ย มันเกิดขึ้นไม่ได้ในปัจจุบัน

นิยายสมัยก่อนมันมีผู้ชายฉุดกระชากผู้หญิง แต่ในสมัยนี้เราควรผลิตซ้ำหรือเปล่า สังคมที่ผู้ชายตบผู้หญิง กระทืบผู้หญิง แทงผู้หญิง แล้วนิยายเรายังจะมีอีกอย่างนั้นหรือ

ปราณประมูลย้ำตรงนี้ หลังยกตัวอย่างละคร เป็นกรณีศึกษามาหลายเรื่อง ว่าไม่ได้มีเจตนากล่าวโทษหรือตำหนิ ผู้เขียนนวนิยายหรือบทละครในยุคก่อน เพียงแต่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่า เนื้อหาในละครแต่ละยุคสมัยอาจจะไม่แตกต่างกัน แต่ด้วยบริบท กฎกติกา จริยธรรมทางสังคม เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การปรับเนื้อหามีส่วนสำคัญ หรือหากไม่ต้องการปรับ ก็ควรอธิบายสังคมให้ชัดว่า ต้องการนำเสนอเรื่องราวในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด

ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้โทษคนยุคก่อนนะคะ แต่หมายถึงว่าสังคมเป็นยังไง คนก็เป็นอย่างนั้น คนอ่านก็เป็นอย่างนั้น คนอ่านเห็นนางเอกถูกขืนใจ คนอ่านฟินอีก ผู้หญิงด้วยนะ หรืออย่างที่คนบอกว่า มีนิยายข่มขืนมาก ผู้ชายเลยไปข่มขืนตาม เปล่าเลยนิยายพวกนี้ ละครพวกนี้ผู้ชายไม่ดู ตรงกันข้าม แต่คนที่ดูแล้วฟินนั่นคือผู้หญิง ผู้หญิงไปฝันแทนตัวละคร

พอมาถึงยุคปัจจุบัน ความรู้สึกแบบนี้สังคมรับไม่ได้ คนดูทั่วไปก็รับไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เขาโตขึ้นมาเขาเห็นแบบนี้ เขาจะต่อต้านเลยนะ เหมือนกับว่าคนแบบนี้ไม่ใช่พระเอกแล้วแหละ”

ละครเรื่อง บุษบาลุยไฟ พ.ศ.2565

ละครเรื่อง บุษบาลุยไฟ พ.ศ.2565

ละครเรื่อง บุษบาลุยไฟ พ.ศ.2565

เมื่อคนดูเปลี่ยน คนผลิตก็ต้องเปลี่ยนด้วย

วันนี้คนดูเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นคนผลิตก็ควรจะเปลี่ยน พี่ว่าจริง ๆ คนผลิตเขาก็เปลี่ยนตลอดเวลา เขาไม่ได้แช่แข็งอยู่ในกาลเวลา คนผลิตก็เป็นคนเหมือนเรา เหมือนคนอย่างพี่ ถ้าหากว่า พี่ปรับตัวยังไง เราก็ปรับตัวอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ทั้งผู้จัด ทั้งนักแสดง ทั้งช่อง เขาปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว

โดยเฉพาะช่อง และผู้จัดเขาเหมือนคนทำสินค้า เหมือนวางสินค้าในเชล (Shelf-ชั้นวางของ) ในห้างสรรพสินค้า ในร้านสะดวกซื้อ เขาต้องปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าเขาขายอะไรแล้วขายไม่ออก เขาก็จะรีบเก็บทันทีเลย เขาก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน

อ่านข่าว : “ละครไทย” ในมุม “แอน” รู้ให้ทัน-ปรับตัวให้ได้-ลับคมเสมอ-จะอยู่รอดใน “ยุคดิจิทัล

“ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”

ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง