“แอน” พูดคุยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ในวันที่ปิดกล้องละครเรื่องล่าสุด “หนึ่งในร้อย”
ในคำทักทายเราถามถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อการทำงานละครบ้างหรือเปล่า
เทคโนโลยีทำให้ทำงานง่ายขึ้น
แอนบอกว่า มีประโยชน์มาก ทำให้ทำงานง่ายขึ้น และทำให้รู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้คนมากอย่างที่เป็นอยู่
1 คน ทำได้หลายตำแหน่ง เพราะมันมีทรีตเมนท์บางอย่างมาช่วย อย่างไฟเวลาถ่ายทำละคร แอนยังมีคำถามอยู่ว่า ทำไมเราต้องขนไฟเป็นรถสิบล้อ ไปเหนือไปใต้ ก็ต้องไปด้วย เทคนิคอะไรใหญ่โตขนาดนั้น แต่เดี๋ยวนี้มีกล้องแค่ตัวเดียว สามารถทำให้บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี โดยไม่ต้องยกทีมเป็นกองทัพขนาดนั้น นี่คือข้อดี
ในความรู้สึกของแอน เทคโนโลยีที่มันเดินเร็ว บวกกับการใช้งานเป็น การแก้ปัญหาเป็น ยิ่งถ้าเด็กรุ่นใหม่สามารถแก้ปัญหาที่เคยขี่ช้างจับตั๊กแตนในยุคเรา เด็กสมัยนี้คลิกนิดเดียว แก้ปัญหานั้นให้เราได้เลย ซึ่งแอนชอบมากเลย
เทคโนโลยีทันสมัยแต่ไม่ลึกซึ้งจับใจ
ในข้อดีย่อมมีข้อเสีย แอนบอกว่า ข้อเสียของมันคือ ความลึกซึ้งความจับใจ บางอย่างมันไม่เข้มข้นพอ เทคโนโลยีวิ่งเร็วเกินไปจนเราไม่ได้ซึมซับ เหมือนกินอาหารแล้วยังย่อยไม่ทัน มันเปลี่ยนสิ่งใหม่ไปแล้ว ร่างกายมันยัง Adjust (ปรับตัว) ไม่ทัน
ความรู้สึกทำให้คนรู้สึกแป๊บนึงแล้วตัดไปเลย ไม่ดื่มด่ำกับอะไร ไม่ลึกซึ้ง ไม่รักลงลึก ยังไม่ทันได้เรียนรู้ในสิ่งที่ลึกซึ้ง แบบที่รู้ว่ารักแท้ ที่ควรจะสัมผัสกับความรู้สึกกับตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะฉาบฉวยกันนะ แต่เขาหามันไม่เจอ
แอนไม่อยากใช้คำว่าฉาบฉวย เพราะพอพูดว่า ฉาบฉวย มันจะดูเป็นลบ แต่ว่ามันไม่ใช่ แค่เขามีเวลาอยู่กับมันแค่นั้นจริง ๆ เขาก็เลยรู้สึกกับมันแค่นั้น แล้วเขาก็พอใจ แล้วเขาก็เลือกไปชอบอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนอะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงวิ่งตามเทรนด์ ตามโลกกันได้อย่างรวดเร็วมาก แล้วเขาก็สลัดสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ทิ้งไปได้อย่างรวดเร็ว
“แต่ในยุคเรา เรารู้สึกว่าตอนเราดูละคร ถ้ามันจับใจ มันชุ่มฉ่ำอยู่กับเราเป็นเดือน เช่นเราดูละครเรื่องคู่กรรม ตอนนั้นเราฝันถึงโกโบริ อังศุมาลิน เราอยากมีเพื่อนแบบโกโบริ อยากมีแฟนแบบโกโบริ คือทุกอย่างมันชุ่มฉ่ำอยู่กับเรานาน แต่ตอนนี้มันวูบไหวและไปเร็ว ตรงนี้ถ้าให้คุณค่า แอนก็ยังชอบความรู้สึกในยุคแอนมากกว่า รู้สึกว่ามันลุ่มลึกกว่า ชอบชีวิตแบบนั้น”
หากมองในระยะยาว เธอก็ยังยืนยันว่า ไม่กลัวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่มองว่า หากใครปรับตัวไม่ทัน ก็จะมีคนอื่นที่เร็วกว่า มีแรงมากกว่า หยิบจับฉกฉวยสิ่งนั้นไป และจะเกิดขึ้นได้เพียงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะช้าลง เพราะความเหน็ดเหนื่อย
ละครบางเรื่อง ที่คิดว่าเป็นละครที่ไม่ตบไม่ตี แต่เป็นละครที่ให้ความรู้สึกบวกๆ ทางใจ แล้วพูดอะไร ตะมุตะมิเล็ก ๆ น้อย ๆ การแสดงมินิมอล ธรรมดา ไม่ต้องตบ ไม่ต้องฟาด ไม่ต้องทึ้งหัวกัน เขายังได้เรตติ้งอันดับหนึ่ง เป็นเพราะคนต้องการความเบาใจอะไรบางอย่าง เพราะเขาวิ่งจนเหนื่อยแล้ว เขาต้องการความมินิมอลอะไรบางอย่าง บางครั้งเขาต้องการแค่นี้ วงจรเดิมมันกลับมา
ทำตัวเองให้เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง
แม้ความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเข้ามาสู่ยุคที่ต้องเรียนรู้ AI และถึงขั้นพัฒนาการไปสู่การนำ AI มาเป็นผู้ประกาศข่าว มาเป็นนักแสดงในโฆษณาสั้น ๆ
แต่แอนกลับมองว่า เธอโชคดีที่เกิดมาในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงสูง และรวดเร็ว เช่นทุกวันนี้
อนันดาเคยพูดกับแอนเมื่อปีที่แล้ว (2566) ตอนนั้นแอนก็ถามเขาว่า จริงหรือ พอเขาเล่า แอนถามว่ามันไปถึงตรงนั้นเลยเหรอ เขาบอกว่า ยูคอยดู แล้วมันก็เป็นจริงอย่างที่เขาพูดเลย
“แอนโชคดีที่เกิดมาในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ โรคภัยไข้เจ็บ เราเป็นมนุษย์ที่ Survival (ดำรงชีวิต) เก่ง เพราะฉะนั้นเรามองว่ามิติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกลัว โลกกำลังเขย่า แล้วมันทำให้เรารู้ตัวว่า ถ้าอยากอยู่ต่อไปให้ได้ ก็จงปรับตัว
ถ้าถึงที่สุด AI จะมาทดแทนเรา มันเป็นไปได้มั้ยว่า วันหนึ่งมี AI ในรูปของ character เรา แล้วเอา license ความเป็น character เราไปขายก็ได้ แต่นั่นหมายความว่า ถ้าเราจะเป็นอย่างนั้นได้ คุณต้องมีแบรนด์ที่แข็งแรงมาก
แอนบอกว่า เราต้องแข็งแรงทางแบรนด์ เรียกว่าต้องมีคนยอมรับในความสามารถในการแสดงของเรา จึงจะมีคนยอมซื้อเราไปเป็น character ของ AI สมมุติว่า character เป็นแอน แสดงว่าแอนต้องเจ๋งมาก หน้าที่ของเราทำยังไงให้ตัวเอง ยังลับคมได้อยู่เสมอ เดี๋ยวมันก็ปรับตัวได้เอง ถ้าจะเป็นอย่างนั้น เราต้องปรับตัวแบบนั้น
ถ้าเรารู้จักเทคโนโลยีและปรับตัวตามมัน มันอาจจะมีช่องแสงเล็ก ๆ ให้เราปรับตัวเข้าไปอยู่ได้ แอนว่าแอนไม่น่าตายไปกับมัน
แต่ถ้าเราพูดถึงคนรุ่นใหม่ ความเป็นเด็ก Gen ใหม่ของเขา มันอาจจะทำให้เขาเหมือนปลาที่อยู่ในทะเลใหม่ เขาอาจจะมีครีบ มีปีก มีอะไรที่ทำให้เขา Survival เก่งกว่าเรา เขาอาจจะไปได้ในแบบของเขา
แอนเชื่อว่า ต่อให้ AI เต็มบ้านเต็มเมือง แต่ถึงเวลานั้น มนุษย์จะถูกจำกัดพื้นที่ให้คนที่ไม่แข็งแรงตายไป เหมือนเราอยู่ป่าแอฟริกา อเมซอน ใครไม่แข็งแรงก็ตายไป เราต้องยอมรับสัจธรรมความจริงในข้อนี้
เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เข้าวงการ
หากนับย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้น ความเปลี่ยนแปลงของแอน ทองประสม ที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิง เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เธอก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา
"จุดเปลี่ยนจากคนปกติมาเป็นนักแสดง เพราะอยากมีสิ่งที่ดีกว่า ทำให้เราอยากหางานทำ ถามตัวเองว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่เราชอบ ได้ลองทำอะไรอยู่ซักพักหนึ่ง พบว่า เราไม่ใช่คนที่จะทำอะไรก็ได้ เรามีฝันของเรา ก็เลยพาตัวเองเข้ามาเป็นนักแสดง
พอเป็นนักแสดงพักหนึ่ง ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เข้าใจโลกของความเป็นนักแสดง จากนั้นก็ส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความรู้เพียงพอที่จะดำเนินชีวิตต่อ ตามมาตรฐานสังคม”
พอเรียนจบ ชื่อเสียงก็ยังเฟื่องฟูอยู่ เกิดความรู้สึกว่า ในเมื่อเรียนบริหาร เรียนการจัดการมา แล้ว ก็เป็นเจ้าของบริษัทได้ จึงอยากทำรายการโทรทัศน์ ส่วนการทำละครยังไม่ได้คิด เพราะยังไม่มีวิชามากพอ จึงเริ่มจากการทำรายการโทรทัศน์เล็ก ๆ เป็นรายการภาษาอังกฤษ 1 นาที ทุกวัน ทางช่อง 3 ชื่อ รายการอิงลิชออนทัวร์ ทำไปได้ซักพักก็ปรับไปเป็นรายการเด็ก ครึ่งชั่วโมง แล้วมาเป็นรายการเสาร์-อาทิตย์
ไม่กล้าการันตีว่าเป็น “ผู้จัดละคร” ที่ประสบความสำเร็จ
เธอขยับจากนักแสดงมาเป็นผู้จัดละครโทรทัศน์ ด้วยอายุเพียง 30 เศษ ขณะที่มีผู้จัดละครคนหนึ่งบอกกับเธอว่า ไม่ต้องรีบ เพราะอยากให้เธอใช้ความเป็นนักแสดงได้อย่างเต็มที่ก่อน ด้วยฝีมือที่มากความสามารถ และกำลังเป็นดาวรุ่งในวงการละครโทรทัศน์ในเวลานั้น
คำเตือนไม่อาจทัดทาน ละครทีวีเรื่องแรกที่เธอเป็นผู้จัดก็ออกอากาศ ละคร “ปัญญาชนก้นครัว” ทางช่อง 3 ในปี 2555 ได้รับความนิยมไม่น้อย เป็นละครที่แอนเคยแสดงเป็นนางเอก คู่กับ “อู๋” ธนากร โปษยานนท์ เมื่อปี 2542 และถูกทำเป็นละครอีก 3 ครั้งหลังจากนั้น
ตอนนั้นก็ประสบความสำเร็จมากนะคะ ละครเรื่องแรก ก็มาแบบบึ้ม ๆ ๆ เรื่องที่สอง (สามีตีตรา-2557) ก็เรตติ้งขึ้น ขึ้น ขึ้น ไปอีก เรื่องที่สาม (แอบรักออนไลน์-2558) ก็ต่อเนื่องไปอีก เลยทำให้งานผู้จัดละครของแอนต่อเนื่อง จุดพลิกผันในแต่ละจุดคือ หนึ่งคือ Survive สองคือร้อนวิชา เลยอยากจะเป็นผู้จัดละคร
ละครเรื่อง แอบรักออนไลน์-2558 เป็นผู้จัดละครเรื่องที่ 3
เมื่อเธอเล่ามาถึงตรงนี้ เราจึงสะท้อนกลับไปว่า เท่าที่ดูจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่ามันเป็นเส้นทางที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเธอ เพราะแทบจะไม่มีอุปสรรคเลย แต่เธอบอกว่า มันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น เพียงแต่เธอไม่ได้เล่าให้ใครฟัง เพราะอาจไปกระทบกับใครหลายคน และหลายครั้งก็ไม่มีคนเห็นในอีกด้าน ที่เธอต้องพบอุปสรรคมากมาย กว่าจะผ่านแต่ละจุดมาได้
แต่ก็ใช่ว่าอุปสรรคจะไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้ามกลับเป็นแรงขับ แรงดัน ให้เธอฝ่าไปได้ และเป็นบทเรียนเพื่อแก้ปัญหาในคราวต่อไป
หลายคนอาจมองว่า แอนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ อย่างการเป็นนักแสดง แต่การเป็นผู้จัดละคร นี่ยังไม่มีใครพูดว่าแอนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แอนยังไม่ได้โชว์ผลงานที่ทำให้ทุกคนประทับตรายอมรับได้ขนาดนั้น แค่อยู่ในช่วงที่กำลังถูกจับตา และมองอยู่ว่าไปได้ถึง Level ไหน แอนคิดว่าเป็นอย่างนั้น
แต่อย่างผู้จัดละครหลายคน ได้รับการประทับตรายอมรับแล้วว่า เป็นคนที่เกิดมาเพื่อตรงนี้จริง ๆ เพราะอายุงานของเขา เพราะชิ้นงานของเขา สะสมบารมี สะสมประสบการณ์มาเยอะกว่าแอน
เธอบอกว่า การเป็นผู้จัดละครเหมือนกับการเล่นหมากรุก หมากฮอส ที่เมื่อจบแล้วก็ต้องล้มกระดานเพื่อเริ่มต้นใหม่ ความสำเร็จในแต่ละเรื่อง ไม่ใช่การต่อยอดสำหรับเรื่องต่อ ๆ ไป ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่ทุกครั้ง
ไม่กล้าการันตีตัวเอง แต่แค่รู้สึกว่าตัวเองทำได้ พอผ่านมาช่วงหนึ่งก็คิดว่า มีบางช่วงที่รู้สึกว่า หรือเราจะไม่ใช่ตรงนี้ ไม่เหมาะสำหรับตรงนี้ แอนแค่อยากลองของ นับถึงตอนนี้ก็ลองมาสิบปีแล้ว และก็รู้สึกว่าไม่ใช่ที่ของแอน
เมื่อแย้งไปว่า ผ่านมาสิบปีแล้ว ในฐานะผู้จัดละคร และหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จ คงถอยกลับไปไม่ได้แล้ว
“ถอยได้นะ แต่แอนมักจะมีจังหวะชีวิต ที่พอจะดาวน์ ๆ ๆ ไม่อยากทำ มันก็จะมีอะไรดัน ๆ ๆ ให้กลับมาว่าเธอจงทำต่อ เราหันไปเรายังรู้สึกว่ามีคนทำงานอยู่กับเรา ยังอยากทำ ยังมี Passion กับงานตรงนี้อยู่ แล้วเราเป็นคนที่มีกำลังในการขับเคลื่อนให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นได้ หมายความว่า เรารู้สึกว่าทีมเขาฝันอยู่ แอนเป็นผู้จัด ก็ไปปะติดปะต่อให้ แล้วก็ดันให้มันเกิดขึ้นได้ เอาไปขายแล้วมันก็ผ่าน จึงเป็นจังหวะให้หยุดไม่ได้ซักที”
ต้องลับคมเสมอเพื่อเดินไปข้างหน้า
ถึงแม้จะไม่ยอมการันตีความสำเร็จของตัวเอง ในฐานะ “ผู้จัดละคร” แต่วันนี้เธอจะถอยหลังกลับก็คงไม่ได้เสียแล้ว ไม่ใช่แค่เพราะ Passion ของตัวเอง แต่ด้วยอีกหลายชีวิต ที่ร่วมเดินกันมา และต้องนำพาให้พวกเขาเดินต่อไปได้ ฉะนั้นการเพิ่มเติมความรู้ ความสามารถให้กับตัวเอง รวมทั้งการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง จึงสำคัญ
แอนเป็นผู้จัดละคร ไม่ใช่ผู้กำกับการแสดง เพราะฉะนั้น Skill ที่แอนควรจะมี คือเลือกคนให้เหมาะกับงาน เช่น เรื่องสไตล์นี้ควรจะมีใครกำกับ เรื่องแบบนี้ใครควรเล่น อันนี้เป็นหน้าที่ที่แอนต้องตัดสิน ที่ค่อนข้างแหลมคมในการเลือกคนมาให้ตรงกับเส้นเรื่องของเรา พอทำตรงนั้นเรื่อย ๆ มันก็เอามาจัดวางแล้วก็เกิดขึ้น
การแสดงเป็นชีวิตของแอน ขอให้คะแนนตัวเอง ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใหม่ๆ เราก็แก้ไขไปได้ แต่ความเป็นผู้จัดละคร มันยังไม่เกิด มันยังโตไม่พอ ที่จะสร้างระบบนิเวศในร่างกาย ที่เราสามารถจะแก้ปัญหาข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับไป Input ใส่ข้อมูลเพิ่มเติมให้กับตัวเอง
บางทีต้องรู้ว่า ละครรสชาตินี้ที่เราเคยดู คนดูเขาไม่ดูแล้ว มันมีบางเรื่องที่โชว์เสียงออกมา แอนเชื่อว่าสูตรสำเร็จแบบนี้ แต่ไม่ใช่ของตาย เราแค่รู้สึกว่า รสชาติแบบนี้คนต้องชอบแน่
สมมุติว่า เราทำแกงเขียวหวาน ทั้งที่รู้ว่าในตลาดมีคนขายแกงเขียวหวานเต็มไปหมด และเราก็ทำขาย เราก็คิดว่ายังไงคนไทยก็กินแกงเขียวหวาน แต่ปรากฏว่า ตอนนี้คนไทยไม่กินแกงเขียวหวานแล้ว ต่อให้เคยเป็นสากลมาก่อน แอนก็อ้าว วืดไปเหมือนกัน
ทำให้รู้ว่า เด็กไทยกินแกงเขียวหวานจริง แต่ไม่ใช่เป็นแบบนี้แล้ว คุณต้องผสมใหม่ เช่น ใช้กะทิสดไม่ได้ เขาไม่ชอบ เขาไม่ชอบใส่มะเขือเปาะ เขาไม่รู้จักมะเขือเปาะ มันขม แต่รุ่นนี้เขากินมะเขือยาวแทน หรือใส่แครอทเข้าไป เขากินได้
ในการเป็นผู้จัดละครจึงทำให้แอนต้อง Speed ตัวเอง หาความรู้เติมเต็มตัวเอง เพื่อที่จะเดินตามโลกให้ทัน แล้วเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปด้วย ไม่ใช่แค่เปลี่ยน Taste หรือรสชาติ ในการกิน ในการบริโภค Equipment (อุปกรณ์) เทคนิคต่าง ๆ ในการผลิตมันก็เปลี่ยนเร็ว แล้วเราเป็นคนยุค 1990 ถ้าเราไม่ Speed เราก็เดินเป็นเต่ากัดยาง ช้าไม่ได้ มาถึงตรงนี้คนยุค 1990 ต้องปรับตัวเอง เพื่อให้ทันเด็กเหมือนกัน
มันเป็นรอยเชื่อมที่โคตรจะยาก สำหรับคนวัยอย่างแอน แต่แอนสู้สุดฤทธิ์เลย เท่าที่จะไหว แม้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้ชำนาญ แต่ต้องหาคนมาทำทุกสิ่งนี้แทนให้ได้
Trend อีกปัจจัยที่ “ละครทีวี” ต้องตามให้ทัน
อีกปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือการเริ่มลงมือทำงานละครไปแล้ว แต่ Trend กำลังเปลี่ยนไป นั่นเท่ากับว่า หากละครออกอากาศ อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากคนดู หรือมีคนดูน้อย เพราะไม่ร่วมสมัยอีกแล้ว บางครั้งเธอต้องยอมหยุดลงตรงนั้น และพับโครงการไป ก่อนจะเริ่มใหม่เมื่อทุกอย่างพร้อม
เป็นอีกตัวแปรหนึ่ง ที่ทำให้ละครแต่ละเรื่องที่เธอเลือกทำ มักจะมาจากบทประพันธ์เป็นหลัก เนื่องจากผู้เขียนบทละคร จะเห็นภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต้น มองเห็นความเป็นไปของเรื่อง และผู้จัดละครจะคาดเดาได้ว่า เรื่องที่เลือกมานั้นตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่
การเลือกเรื่องที่มาจากบทประพันธ์ เพราะพลอตเรื่องที่แอนคิด อาจจะไม่มีโครงสร้างที่แข็งแรงพอ แต่นวนิยายเขามีโครงสร้างที่ดี เขาวางตัวละครไว้ ค่อนข้างมีเส้นเรื่อง มีความขัดแย้ง มีปมเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ทำให้ตัวละครพัวพันกัน แต่นวนิยายใหม่ๆ บางเล่ม ไม่ใช่ทุกเล่มนะคะ เสาเข็มตรงนี้ยังไม่แข็งแรง ก็เลยยังเชื่อมั่นในนวนิยายก่อน
ช่วงหลังแอนใช้นวนิยายที่เขียนโดยเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก หรือชื่อยังเล็กอยู่ เมื่อเสนอไปทุกช่อง แต่ละช่องจะถามว่า เล่าเรื่องยังไง เล่าให้เป็นภาพยังไง จะสนุกยังไง หรือเมื่อเดินเรื่องด้วย character ของตัวละครไม่ได้ แล้วจะเดินด้วยเงื่อนปมอะไร คือใช้ character นำ บางทีอาจจะไม่พอ
เราพยายามอธิบายว่า เราเห็นคุณค่าอะไรจากละครเรื่องนี้ โชคดีที่ผู้ใหญ่ลองเสี่ยงไปกับแอน เขาไม่ได้เชื่อแอนหรอก แต่เขาแค่กล้าหาญพอที่จะยอม ยอมลองของไปด้วยกัน แล้วท้ายที่สุดออกมาดี
เช่น เรื่องแอบรักออนไลน์ (2558) ตอนนั้นเรื่องออนไลน์ยังเพิ่งเริ่ม แอนก็ไปจับสิ่งนี้มา แต่เราไม่ได้เน้นเทคนิค เป็นเรื่องความรักในโลกของคนไม่ยอมเปิดเผยตัวตน เป็นของใหม่สำหรับคนในตอนนั้น เราเพิ่งรู้ด้วยซ้ำไปว่า แท้จริงแล้วเราคิดแทนคนดูหมดเลย คนดูพร้อมเปิดใจมาก ในการที่จะรับอะไรใหม่ๆ เราแค่ว่า ขยันแล้วก็ตั้งใจพอ กับชิ้นงานใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ
ถ้ามันมีรสชาติกินแล้วมันกลมกล่อม ต่อให้มีการผสมผสานใหม่เขาก็รับ ทำให้แอนเรียนรู้ว่า มันไม่เกี่ยวกับคนดูเลย คนดูเขาปรับตัว อยู่ที่เราล้วน ๆ
แนววาย-ยูริ ถ้าเข้าใจ “ความรัก” อะไรก็ทำได้
มาถึงยุคนี้ เมื่อมอง Trend ในละครโทรทัศน์ ทำให้เห็นว่า ละครความรักในรูปแบบใหม่ ทั้งหญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือซีรีส์วายและยูริ มีการผลิตมากมายในหลายช่อง เธอคิดอย่างไร กับกระแสนี้ และจะเดินร่วมขบวนไปด้วยหรือไม่
แอนบอกว่า เราเป็นพวกหญิงรักชายตามปกติ ในวัยหนึ่งเราไม่เข้าใจโลกของหญิงรักหญิง จึงคิดว่า ถ้าใครให้เราทำละครวาย เราคงทำไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจความรู้สึกตรงนั้นจริง ๆ เราไม่เข้าใจจริง ๆ ว่ารสชาติเป็นยังไง แล้วเราจะทำให้มันฟินได้ยังไง
เมื่อเราโตขึ้น ทำให้เรารู้ว่า ความรักคือความรัก มันเป็นก้อนเดียวกัน ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึกทางเคมีที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะมาจากคนรักสัตว์ พ่อรักแม่ สามีรักภรรยา พี่รักน้อง เพื่อนรักเพื่อน หญิงรักหญิง ชายรักชาย ใด ๆ เหล่านี้ เมื่อมีการจุติทางความรู้สึก มันจึงเรียกว่าความรัก มันคือชนิดเดียวกัน
เพราะฉะนั้นเราจะไปยึดมั่นถือมั่นกับการจับคู่ทำไม ฉะนั้นความรักมันหาได้จากทุกมิติ ความโตขึ้นของเราต่างหาก ความเข้าใจโลก ทำให้เรายอมรับในการจับคู่แบบใหม่ๆ
“ถ้าวันนี้ต้องทำยูริ ทำได้แล้ว เข้าใจแล้วว่าจะหาช่องทางในการเข้าใจเขาได้ยังไง แต่ถ้าถามว่า โดยรสนิยมเราอาจจะชอบผู้ชายเหมือนเดิม แต่ก็ไม่แน่ อีก 5 ปีข้างหน้า แอนอาจจะกลายเป็นผู้หญิงที่ยอมรับในผู้หญิงด้วยกันก็ได้
ความรักไม่ว่าจะเป็นละครหรือชีวิตจริง ทุกอย่างมันต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม และความรู้สึกดี ๆ เหล่านั้น ถ้ามันดีก็ทำไปเถอะ แค่นั้นเอง
ธุรกิจยังสำคัญที่สุด “ช่อง-สปอนเซอร์” กำหนดชะตากรรม
นอกจากเทคโนโลยี เทรนด์ กลุ่มเป้าหมาย และแนวละครแล้ว ธุรกิจยังนับเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่มีบทบาทกับผู้จัดละครอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายครั้งที่ละครโทรทัศน์ ถูกกำหนดจากสถานีโทรทัศน์ สปอนเซอร์ ตั้งแต่ คนเขียนบท เนื้อหา และแม้แต่นักแสดง
มีละครหลายเรื่องในแทบทุกช่อง ที่ตัวละครถูกกำหนดหรืออยู่ในใจของผู้จัดละคร ตั้งแต่เห็นเนื้อหาหรือบทละครแล้ว แต่กลับถูกสถานีหรือสปอนเซอร์ขอเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่ผู้จัดอย่างแอน ซึ่งเธอบอกว่าต้องยอมรับความจริงนั้น เพราะช่องคือเจ้าของเงิน
เราต้องมาสร้างโลกใหม่ กับโจทย์ใหม่ที่เป็นการตลาดปัจจุบันว่า ละครเรื่องนี้น่าจะเหมาะกับคนนี้ เอาคนนี้ไปทำให้ดังหน่อย พอได้คนนี้มา คิดใหม่ทำใหม่ ปรากฏว่า มันก็ดีไปอีกอย่าง
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา ทำให้แอนเชื่อว่านักแสดงทุกคนเล่นได้ คนทุกคนเล่นละครได้ แสดงได้ สมมุติว่าเป็นดาราที่มีชื่อเสียง หรือใครก็ตาม จะเป็นตัวละครตัวนี้ได้ ขึ้นอยู่ที่ผู้กำกับการแสดง ที่เป็นคนควบคุมเขา เขาพร้อมที่จะปรับตัวไปกับเราอยู่แล้ว พร้อมเป็นดินน้ำมันที่จะให้เราปั้นให้เป็นอะไรก็ได้
เพราะฉะนั้นความเชื่อ ความยึดมั่นถือมั่นตายตัว กับความฝันของเรา ว่าจะต้องเป็นคนนั้นคนนี้ โดยไม่มีเรื่องการตลาดมาครอบงำ เป็นไปไม่ได้ แอนยืดหยุ่นพอที่จะยอมผ่อนปรน”
“ละครทีวี” ต้องแข่งกับแพลตฟอร์มอื่น
แม้ปัจจุบันจะมีนวนิยายที่ดี ผู้จัดละครที่มากความสามารถ หรือมั่นใจในกลุ่มเป้าหมายของช่องก็ตาม แต่ในยุคดิจิทัล โทรทัศน์ไม่ได้เป็นช่องทางเดียว ที่คนจะเข้าถึงความบันเทิงได้ แต่มีแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นแหล่งนำเสนอความบันเทิง อย่างไร้การควบคุมทั้งปริมาณ และคุณภาพ
มีเนื้อหาหลายรูปแบบที่นำเสนอไม่ได้ทางโทรทัศน์ เพราะมีระเบียบ กฎหมาย รวมถึงบรรทัดฐานของสังคม กำกับไว้ เช่น ความรุนแรง เรื่องเพศ เสียดสีสังคม ฯลฯ ทำให้ “ละครสตรีมมิ่ง” หรือในแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถนำเสนอได้อย่างไร้ขีดจำกัด จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของละครทีวี
เธอมองว่าละครทีวีเป็นตลาดที่กว้างสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องมีการควบคุมจากหน่วยงานของรัฐ และมีข้อจำกัดมากมาย แต่ปัจจุบันก็มีความพยายามผ่อนคลาย เพื่อให้ละครทีวีเดินต่อไปได้ ด้วยการคิดนอกกรอบมากขึ้น หรือถึงที่สุดแล้ว ผู้ผลิตหรือคนทำละครทีวีอาจจะย้ายตัวเองไปยังแพลตฟอร์มอื่นแทน
แอนว่าท้ายที่สุด คนที่ไปทำงานในสตรีมมิ่ง ก็คือคนในวงการละครนี่แหละ เพียงแต่เขาถูกโยกไปอยู่ในแพลตฟอร์มที่คิดใหม่ทำใหม่ เขาเลย Standby ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเขาทำได้ แค่ว่าบอกมาว่า ให้หรือไม่ให้แค่ไหน แอนคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวขนาดนั้น เพราะคนพร้อมปรับตัวขอให้กติกาผ่อนคลายให้เราได้มั้ย เท่านั้นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับ วาย (Y) ย่อมาจากคำว่า Yaoi (ยา-โอย) ที่เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นซึ่งหมายถึง ชายรักชาย คนไทยนิยมใช้คำนี้จำกัดความหลายๆ สิ่ง (เช่น นิยาย, ฟิคชั่น, ภาพยนตร์, ซีรีส์, การ์ตูน) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายที่ชอบเพศเดียวกัน หรือเกย์
แต่ในความจริงแล้วคำว่า วาย ไม่ได้หมายถึงเพียงชายรักชายอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะในคำนี้ยังหมายรวมถึง Yuri (ยู-ริ) ที่เป็นกลุ่ม หญิงรักหญิง อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจเหมือนกันที่กลุ่มซึ่งแทบไม่ต่างกันมากกับ Yaoi กลุ่มนี้ ยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าวงการชายรักชาย
อ่านข่าว : "ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"